ตำราครู “ปริอรรถาธิบายแห่งพระ เครื่อง เล่มพระสมเด็จฯ” (สำนักพิมพ์คลังวิทยาบูรพา พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2520) “ตรียัมปวาย” เริ่มต้นหัวข้อ พิมพ์ทรงฐานแซมไว้ว่า

เป็นพิมพ์ที่มีความงดงามที่สุดอีกแบบหนึ่ง ในลักษณะความโปร่งบาง และลีลาพุทธลักษณะอันขึงขัง

ถ้าพิจารณาแนวเส้นวงนอกจากปลายพระเกตุลงมาจดหัวฐานชั้นล่างทั้งสอง จะได้รูปทรงกรวยที่เรียวชะลูดมาก เปรียบได้กับแบบลักษณะพระเจดีย์ทรงข้าวบิณฑ์สุโขทัย เป็นพุทธศิลป์อิทธิพลช่างสุโขทัยอีกลักษณะหนึ่ง

ซึ่งผสมด้วยลีลาการพระพาหาอันแข็งขัน ของพระพุทธรูปอู่ทอง

แต่ลักษณะของปางนั้น จับเค้าจากพระพุทธรูปสกุลช่างเชียงแสนปางสมาธิขัดเพชร

และเนื่องจากเป็นพิมพ์ทรงที่มีพระอาสนะอันกอปรด้วย เส้นขีดแซม 2 เส้น คือนิสีทนะ และบัวลูกแก้ว เด่นชัดกว่าของพิมพ์ทรงอื่นมาก ฉะนั้น จึงมีนามเรียกว่า พิมพ์ทรงฐานแซม

วันนี้ เปิดประเด็นพิมพ์ทรงฐานแซม เรียกศรัทธาด้วยภาษาครูแล้ว ขอนำเข้าสู่เนื้อหา ครูท่านแบ่งพิมพ์ฐานแซมไว้ 8 พิมพ์ทรง วัดระฆัง ครูท่านใช้หลักเดียวกับพิมพ์ใหญ่ 6 พิมพ์ทรง มีพิมพ์เขื่อง พิมพ์โปร่ง พิมพ์ชะลูด พิมพ์ป้อม พิมพ์สันทัด พิมพ์ย่อม

บางขุนพรหม เพิ่มอีก 2 พิมพ์ทรง อกร่องหูยานฐานบาง อกร่องหูยานฐานเส้น

ดูภาพพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ทรงฐานแซมองค์ในคอลัมน์...ถ้ามีองค์จริงในมือ จะรู้ว่า โดยสัณฐานและวงพระพักตร์ ไม่ใช่พิมพ์เขื่อง พิมพ์โปร่ง พิมพ์ชะลูด พิมพ์ป้อม จึงเหลือให้พิจารณาระหว่างพิมพ์สันทัด และพิมพ์ย่อม

สองพิมพ์นี้ขนาดไล่เลี่ยกัน พิมพ์สันทัดเขื่องกว่าพิมพ์ย่อมเล็กน้อย องค์ในคอลัมน์ขนาดโดยความคุ้นตา น่าจะเป็นพิมพ์สันทัด มากกว่า

ว่ากันโดยเส้นสายลายพิมพ์ องค์นี้ติดชัดปานกลาง พระพักตร์เสี้ยม พระเกตุสองข้างทิ้งตรงชนไหล่ พระอุระไม่ปรากฏร่องสังฆาฏิ พระเพลาปรากฏแนวคอดสากตำข้าวตรงกลางชัด

...

ฐานชั้นกลางคมขวาน ฐานสิงห์สง่างาม เส้นแซมบนหนัก เส้นแซมล่างติดจางแต่ยังเห็นเค้า เส้นซุ้มรักษารูปทรงบานบน เข้าสูตรพิมพ์ฐานแซม ขอบสี่ด้านตัดตรงตามแนวเส้น

ว่ากันโดยองค์รวม เป็นลีลาพิมพ์ฐานแซมครบสูตร ไม่มีเส้นสายใดขัดสายตา

มาถึงเนื้อหา ละเอียดนุ่มเนียน เข้าสูตรเนื้อเกสรดอกไม้ ตรียัมปวาย พรรณนาเนื้อเกสรดอกไม้ว่า...วัสดุมวลสารส่วนใหญ่มีความละเอียดอย่างที่สุด ดุจอนุภาคของผงเภสัชอันละเอียดยิบ ผ่านการบดกรองมาแล้ว

จากการทดสอบทางจักษุสัมผัส จะปรากฏว่า มวลสารละเอียดเป็นจุลธุลี และคลุกเคล้าสมานกันและกระจายไปโดยตลอดเนื้อหา ไม่แยกกันเป็นหย่อมๆ วรรณะหม่นคล้ำต่างกัน ซึ่งตัดกับวรรณะส่วนรวม

นอกจากเยื่อครีมของเนื้อว่านและกล้วยวรรณะหม่นๆ ซึ่งแทรกคละระคนอยู่ในมวลสาร และเมล็ดปูนขาว กลมๆเท่าหัว เข็มหมุดย่อม วรรณะขาวใสกว่าวรรณะส่วนรวมของเนื้อ ประปรายอย่างบางตา

พื้นผนังเห็นรอยพรุน และหลุมร่อง รอยยุบ รอยแยก ฝ้ารัก และเนื้อรักสีดำแกมน้ำตาล เป็นหลักฐานให้รู้ว่า เคยลงรักน้ำเกลี้ยงมาแล้ว

ด้านหลัง สันขอบสี่ด้านปริร่อยเล็กน้อย ดูเผินๆหลังเรียบ ดูแบบลงลึก รูพรุนปลายเข็ม หลุมร่อง รอยยุบรอยแยกประปราย ความซึ้งผิวเนื้อด้านหลังสูงกว่าความซึ้งด้านหน้า

พระสมเด็จวัดระฆัง...ที่ดูพิมพ์ก็ถูกต้อง ดูเนื้อก็กลมกลืนทั้งหน้าหลัง อย่างนี้สำหรับเซียน ถือเป็นพระดูง่าย

สำหรับน้องใหม่ ส่องแว่นจนเข้าใจความซึ้งในผิว และธรรมชาติของเนื้อหา ก็จบลง ที่พระสมเด็จวัดระฆังแท้ตรงกัน และควรถือเป็นวัดระฆังเนื้อครูได้อีกองค์.


พลายชุมพล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม