วันนี้มาเปิด สนามพระวิภาวดี ก็ได้ยินคนคุยกันแต่ว่า ปีนี้น้ำจะท่วมกรุงเทพฯไหม เพราะเห็นเชียงรายท่วมอ่วมอรทัยไปแล้ว ก็หวาดเสียวกัน ตอนนี้จึงฟังประกาศกันทุกระยะ เพราะมีเตือนภัยให้ ๔๕ จังหวัดทุกภาคเฝ้าระวัง ตอนนี้น้ำยังมาไม่ถึงกรุงเทพฯ ไม่งั้น สีกาอ่าง ก็อาจจะต้องนั่งเรือเข้าไทยรัฐเหมือนปี ๒๕๕๔ ถ้าระบบป้องกันน้ำที่ว่าทำไว้แล้ว หลังกรุงเทพฯจมน้ำปี ๕๔ ยังกัน- แก้ไม่ได้

วันนี้เราจึงเปิดสนามตามปกติ และขอเรียนให้ แฟนคลับ ทราบล่วงหน้าว่า หน้าพระของท่านผู้ชม ซึ่งปกติมีพื้นที่ ๑๘๐ ตารางนิ้ว แต่ตั้งแต่อาทิตย์หน้า ๒๒ ก.ย. จะปรับเป็นครึ่งหน้า ๑๒๐ นิ้ว เพราะจะมีเพื่อนบ้านมาอยู่ในหน้าเดียวกัน ตามการปรับดัมมี่ใหม่ ซึ่งนานๆทีก็ปรับเปลี่ยนบ้าง แต่เนื้อหาใน สนามพระวิภาวดี ก็ไม่ได้ลดหดไปมากมาย--จากที่มีความเคลื่อนไหวพระเครื่องวัตถุมงคลมาเล่าสู่กัน ๗-๘ องค์ ก็อาจจะเหลือ ๖ องค์ และ โม้น้อยลงหน่อย โอเค้

วันนี้เริ่มด้วย พระสมเด็จ พิมพ์เกศบัวตูม วัดระฆังโฆสิตาราม เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑ ใน ๕ พระสมเด็จวัดระฆังฯ พิมพ์มาตรฐาน ที่ในอดีตนิยมเล่น ๕ พิมพ์ คือ ๑.พระพิมพ์ใหญ่ ๒.พระพิมพ์เจดีย์ ๓.พิมพ์เกศบัวตูม ๔.พิมพ์ฐานแซม และ ๕.พิมพ์ปรกโพธิ์ เป็นพิมพ์ที่พบน้อย เห็นในวงการเพียงหลักหน่วย และถูกซื้อเก็บ จนไม่เห็นพระพิมพ์เกศบัวตูมกันอีกเลยในยุคหลังปีกึ่งพุทธ กาล ถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีพระองค์หน้าใหม่ รวมถึงองค์นี้ ของ เสี่ยฐิการ ศุภวิรัช บัญชา นักนิยมพระหลักยอดนิยม ซึ่งเล่นพระมาตรฐาน มีภูมิ มีเทสต์ จึงได้ดูพระดีพรีเมียมกันเรื่อยๆ

วันนี้ก็เป็น “พระพิมพ์เกศบัวตูม” สมบูรณ์สวยแชมป์ ฟอร์มทรงมาตรฐาน พิมพ์พระที่ติดเต็มคมชัด ผิวเนื้อสมบูรณ์ เพราะมีรักเคลือบ รักษามาแต่เดิม และก็เป็นองค์ที่เข้าวงการมานานโข แล้วถูกเก็บเงียบไปนาน

...

ตอนแรก ก็ตื่นเต้นนึกว่าเป็น “พระหน้าใหม่” แต่นักนิยมพระ “รุ่นครู” ที่ดูอยู่นาน ยืนยันว่าเป็นพระที่เข้าวงการระยะหลังสุด และมีภาพในตำราพระเครื่องยุคแรกๆ บ้าง

พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ วัดใหม่อมตรส ของ สกณ ฉันทวนิชย์.
พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ วัดใหม่อมตรส ของ สกณ ฉันทวนิชย์.

ต่อด้วย พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ วัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม กรุงเทพฯ พระพิมพ์ที่มีพบมากสุดในสกุล “พระสมเด็จบางขุนพรหม” ทั้งที่เป็น “พระกรุเก่า” (กรุขโมย) กับ “พระกรุใหม่” ที่วัดนำขึ้นจากกรุปี พ.ศ.๒๕๐๐ โดยมีการประทับตราองค์พระเจดีย์ (หมึกม่วง) เป็นหลักฐาน องค์นี้ เจ้าของ เสี่ยสกณ ฉันทวนิชย์ บอกว่า มีบิ่นมุมบนขวานิดนึง และถูกซ่อมต่อติดมาแต่เดิมด้วยเนื้อเก่าเต็มๆ ก็เสียดาย เพราะสภาพโดยรวมเป็นพระแท้ดูง่าย สภาพงามเลิศ สวยซึ้ง พิมพ์พระติดเต็ม สภาพคราบกรุที่บางเบาอย่าง “พระกรุเก่า” ที่นับวันจะหาพบชมยาก ราคาก็สูงขึ้น อย่างองค์นี้ ว่ากันตามสภาพอยู่ที่หลักหลายล้านแน่นอน

พระวัดพลับ พิมพ์ยืนวันทาเสมา สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม ของพรรค คูวิบูลย์ศิลป์.
พระวัดพลับ พิมพ์ยืนวันทาเสมา สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม ของพรรค คูวิบูลย์ศิลป์.

องค์ที่สามเป็น พระวัดพลับ พิมพ์ยืนวันทาเสมา สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ที่เล่นเป็นพระใน หมวดพิมพ์พิเศษ เพราะเป็นพิมพ์ “พระทรงยืน” เด่นเป็นเอกลักษณ์ นิยมเรียกตามพุทธศิลป์องค์พระ ที่เป็นองค์พระยืนพนมมือ ถือดอกบัว ที่จินตนาการได้ถึงการอุปสมบท ตอนพ่อนาคยืนถือดอกบัววันทาเสมา อยู่หน้าพระอุโบสถ ว่า “พิมพ์วันทาเสมา”--ที่มีค้นพบจำนวนน้อย โดย เฉพาะองค์สภาพงามสมบูรณ์เดิมๆ แบบองค์นี้ ของ เสี่ยพรรค คูวิบูลย์ศิลป์ มืออาชีพ ซึ่งมาวันนี้ก็ขอชื่นชมว่าเป็นสายคุณธรรม--เพราะสายอธรรมก็มีเยอะเหมือนทุกวงการ แต่อยู่ได้ไม่นาน คนก็จะแยกแยะได้เองว่าควรคบใคร

...

พระขุนแผน พิมพ์ทรงพลเล็ก วัดบ้านกร่าง ของสมชาย สัญญรัตน์.
พระขุนแผน พิมพ์ทรงพลเล็ก วัดบ้านกร่าง ของสมชาย สัญญรัตน์.

ต่อด้วย พระขุนแผน พิมพ์ทรงพลเล็ก วัดบ้านกร่าง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี พระพิมพ์เนื้อดินเผา ที่ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ให้สร้างขึ้นตามที่ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดป่าแก้ว องค์พระอาจารย์ ทูลแนะนำ ตอนยกทัพไปทำศึกกับพระมหาอุปราชา ของพม่าระหว่างพักทัพที่วัดบ้านกร่าง ก่อนทำศึก จึงจัดสร้างพระที่วัดนี้ มอบบำรุงขวัญทหาร หลังชนะศึกก็มาพักทัพที่วัดบ้านกร่างอีก จึงสร้างองค์พระเจดีย์แล้วให้ทหารนำพระบรรจุไว้ ตามความเชื่อโบราณที่ว่า “พระต้องอยู่วัด” ถึงเมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๔๗ ชาวบ้าน ลักลอบหาสมบัติตามกรุจึงมาพบ พระพิมพ์เนื้อดินเผา ซึ่งสมัยนั้น ยังไม่มีค่า จึงนำมากองทิ้งไว้รอบฐานองค์พระเจดีย์ กลางลานวัด พระมีจำนวนมาก แยกพิมพ์ได้ ๓๐-๔๐ พิมพ์ ต่อมาความเชื่อเรื่องเอาพระเข้าบ้านไม่ดีเปลี่ยนไป ชาวบ้านจึงนำพระไปใช้ติดตัว พอพบมีอานุภาพด้านแคล้วคลาด คงกระพัน เมตตามหานิยม จึงมีชาวบ้านไปนำพระออกจากวัดจนหมด นิยมเรียกเป็น “พระขุนแผน” องค์นี้ของ เสี่ยสมชาย สัญญรัตน์ เป็น พิมพ์ทรงพลเล็ก ที่ได้รับความนิยมสูง แถวหน้า ราคา ตามสภาพที่งามสมบูรณ์เดิมๆ มีรอยสัมผัสใช้ เปิดเห็นเนื้อในแบบนี้ อยู่ที่หลักหมื่นปลายๆ ถึงหลักแสนต้นๆ

...

พระรูปเหมือน พิมพ์นิยม (เบ้าทุบ) หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ของล็อต สารคาม.
พระรูปเหมือน พิมพ์นิยม (เบ้าทุบ) หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน ของล็อต สารคาม.

อีกองค์เป็น พระรูปเหมือนพิมพ์นิยม (เบ้าทุบ) หลวงพ่อเงิน พุทธโชติ วัดบางคลาน อ.โพทะเล จ.พิจิตร รูปเหมือน พระเกจิฯยอดนิยมอันดับ สร้างด้วยวิธีขึ้นหุ่น เข้าช่อ เทหล่อ “เบ้าทุบ” แบบโบราณ ด้วยเนื้อโลหะผสม องค์นี้ของ เสี่ยล็อต สารคาม (กิตติสัณห์ ศรีประเสริฐ) เป็นพระแท้ดูง่าย สมบูรณ์ สวยแชมป์ เดิมๆ ใต้ฐานมีรอยลายมือจารอักขระกำกับเป็นพิเศษด้วยแบบนี้ ราคาฟังว่าถึงหลักสิบล้าน แม่เจ้าโว้ย

พระพิมพ์ขุดสระใหญ่ หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว ของบาส แช่มช้อย.
พระพิมพ์ขุดสระใหญ่ หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว ของบาส แช่มช้อย.

...

อีกสำนักเป็น พระพิมพ์ ขุดสระใหญ่ หลวงปู่เผือก ปญฺญาธโร วัดกิ่งแก้ว อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณยอดนิยม ที่นิยมเล่นเป็นชุดที่ ๒ รองจาก “พระสมเด็จ” สร้างไว้โดยพระครูกรุณาวิหารี (หลวงปู่เผือก) อมตะพระเกจิฯ ผู้มีชื่อเสียงด้านวิชาพุทธาคม เป็นที่เคารพศรัทธาอยู่แถวหน้าของชาวเมืองสมุทรปราการ เพื่อมอบผู้บริจาคทรัพย์ร่วมสร้างสระน้ำของวัด ลักษณะเป็นพระเนื้อผงพุทธคุณผสมปูนขาว ด้านหน้าเป็นพิมพ์องค์พระนั่งปางสมาธิเพชร อยู่เหนือฐานบัว รอบข้างเป็นเส้นรัศมีมี ๒ ขนาด พิมพ์ใหญ่ มอบผู้ชาย พิมพ์เล็ก มอบผู้หญิง-เด็ก องค์นี้ของ เสี่ยบาส แช่มช้อย เป็นพระพิมพ์ใหญ่ สภาพสมบูรณ์สวยเดิมๆ แบบนี้ ปัจจุบันราคาจากหลักหมื่นปลาย ที่คงที่อยู่นานขึ้นหลักแสนแล้วจ้า--ถ้าใครอยากได้ แต่ไม่รีบเก็บ อีกหน่อยก็คงต้องจ่ายหลายแสนแน่

พระหางหมาก (หางพลู) พ.ศ.๒๕๓๓ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง ของครูโอ ไฮโดรโฟนิกส์.
พระหางหมาก (หางพลู) พ.ศ.๒๕๓๓ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง ของครูโอ ไฮโดรโฟนิกส์.

ต่อด้วย พระหางหมาก (หางพลู) พ.ศ.๒๕๓๓ หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี สร้างออกใน พิธีไหว้ครู เป่ายันต์เกราะเพชร เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๓ โดยอาราธนา สมเด็จพระสังฆราชฯ เป็นองค์ประธานในพิธี เป็น พระเนื้อผงผสมน้ำหมาก (สีแดงส้ม) รูปทรงสี่เหลี่ยมชิ้นฟัก อย่าง “พระสมเด็จ” ด้านหน้า เป็นองค์พระนั่งปางสมาธิเหนือฐานผ้าทิพย์ ข้างองค์ซ้ายขวามีอักขระอุณาโลม ฐานล่างมีอักษร “วัดท่าซุง” ด้านหลังกลางองค์เป็นรูปจำลององค์ท่าน ในรูปพัดยศ กดลึกเข้าเนื้อ ด้านล่างมีอักษรบอกหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ องค์นี้ของ ครูโอ ไฮโดรโฟนิกส์ เป็นพระพิมพ์นิยมสุด สภาพสวยสมบูรณ์เดิมๆ ที่ปัจจุบันมีราคาที่หลักหมื่น

หนุมาน โชคพันล้าน เนื้อทองคำ หมายเลข ๘ หลวงปู่ เจ้าคุณมหาศิลา วัดพระธาตุหมื่นหิน ของเพชร อิทธิ.
หนุมาน โชคพันล้าน เนื้อทองคำ หมายเลข ๘ หลวงปู่ เจ้าคุณมหาศิลา วัดพระธาตุหมื่นหิน ของเพชร อิทธิ.

สุดท้ายเป็น หนุมาน รุ่นโชคพันล้าน เนื้อทองคำ หมายเลข ๘ หลวงปู่มหาศิลา สิริจันโท วัดพระธาตุหมื่นหิน จ.กาฬสินธุ์ อีก ๑ วัตถุมงคลยอดนิยม สำนักหลวงปู่มหาศิลา ที่สร้างออกเป็นเครื่องรางของขลัง ในรูปลักษณ์ของหนุมานแบบลอยองค์ ก้นอุดผงพุทธคุณ เป็นเนื้อโลหะหลายชนิด ให้ชื่อรุ่นเป็นมงคลด้านโชคลาภว่า “รุ่นโชคพันล้าน” องค์นี้ของ เสี่ยเพชร อิทธิ เป็น เนื้อทองคำ สร้างตามจำนวนสั่งจอง มีตอกโค้ด หมายเลขกำกับด้านหลังอย่างองค์นี้ เป็นหมายเลข ๘ ที่เชื่อกันว่าสื่อถึง “รวยไม่รู้จบ”

มาถึงเรื่องปิดท้าย ของ เสี่ยชีวิน กับ เจ๊สุดา สามีภรรยาเจ้าของร้านอาหารย่านพุทธมณฑล ซึ่งเป็นเนื้อคู่โดยแท้ เพราะขี้เหนียวเหมือนกันแต่อยากรวยทางลัด สามีที่ชอบพระเครื่อง ศรัทธาในองค์ “สมเด็จฯโต” มาก ก็มักหาเวลาไปกราบอธิษฐานขอโชคลาภอยู่เสมอ ตอนวันหยุดเข้าพรรษา ก็ชวนกันไปไหว้พระวัดระฆังฯ พอถึงวัด เจ๊ดา ก็เข้าไปกราบหลวงพ่อพระประธานด้วยมือเปล่า เสี่ยชีวิน ก็ตามไปนั่งพนมมืออยู่ข้างๆ เจ๊ดา กราบพระแป๊บเดียวก็ลุกออก สามีที่ลุกตามไปถามว่า อธิษฐานขออะไร แป๊บเดียว เจ๊ดา ตอบว่า ไม่ได้ขอมาก ขอถูกรางวัลที่ ๑ แค่ชุดเดียว แล้วก็รีบเดินไปเลือกซื้อลอตเตอรี่หน้าวัดได้มาปึกใหญ่ ส่วนสามีก็เดินไป วิหารรูปเหมือนสมเด็จฯ หลับตาทำสมาธิอธิษฐานอยู่นานจนเจ๊ดา มาสะกิดบ่นว่า จะขออะไรนักหนานานขนาดนี้ เสี่ยชีวิน ตอบว่า อั๊วทำสมาธิอธิษฐานขอ “พระสมเด็จ” แท้ แค่องค์เดียว จึงถูก เจ๊ดา เยาะเย้ยว่า ฝันลมๆแล้งๆ พระสมเด็จสร้างมาเกือบ ๒๐๐ ปี ตอนนี้องค์เป็นสิบเป็นร้อยล้าน จะหาได้จากไหน ขอถูกรางวัลที่ ๑ ง่ายกว่า เสี่ยชีวิน เถียงว่า ยังไงก็เถอะอั๊วขอพระสมเด็จก็ดีกว่า เพราะขอปากเปล่าไว้ถ้าได้ค่อยมาทำบุญทีหลัง แต่ขอหวยอย่างลื้อต้องเสียเงินลงทุนซื้อลอตเตอรี่ก่อนแต่จะถูกรางวัลหรือถูกเจ้ามือกินเปล่าก็ยังไม่รู้ เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.


สีกาอ่าง

คลิกอ่านคอลัมน์ “สนามพระ” เพิ่มเติม