เข้าสนามวันนี้รู้สึกว่าบรรยากาศสดใสกว่าเดิม ซึ่งเป็นเพราะทุกคนโล่งใจ สบายใจที่ การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จาก อานิด เป็น หลานอิ๊งค์ ไม่มีแรงกระเพื่อม สั่นสะเทือนอะไรเลย กับพอได้ฟัง วิสัยทัศน์ ของอดีตนายกฯทักษิณ แล้ว ผู้คนยิ่งรู้สึกมีความหวัง เพราะการจะแก้ปัญหาอะไรก็ตาม อย่างแรกก็คือ ต้องศึกษาจนรู้ก่อนว่าปัญหาเกิดจากอะไร จะได้แก้ถูกจุด ไม่งั้นก็แก้สะเปะสะปะไปเรื่อย

ส่วนจะแก้ไขบรรเทาได้ตามที่คิดที่พูดหรือไม่ ก็ต้อง ให้เวลา เพราะปัญหาหลายอย่างสะสมมานานนม และกระทบกันไปหมด ต่อให้เทวดาทั้งสวรรค์ก็แก้ปุบปับไม่ได้--แต่ขอแค่เรามีความหวังกันไว้ กำลังใจก็จะเกิด ซึ่งย่อมทำให้เรื่องดีๆตามมา

เข้าสนามพระของเรากันต่อ บรรทัดแรกก็ขอแสดงความเสียใจกับ อาจารย์รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ซึ่งสูญเสียบุตรชายคนโตไปอย่างไม่คาดคิด แต่ก็ถือว่ามีบุญไปสบาย เพราะหลับไปเฉยๆ

แม้ระยะหลัง อาจารย์รังสรรค์ จะห่างวงการพระไป แต่ชื่อ เสียงก็ยังเป็นที่รู้จักดี เพราะเป็นหนึ่งใน ตำนาน ที่สร้างชื่อเสียงให้วงการพระเครื่อง ขึ้นสู่มาตรฐานอย่างทุกวันนี้ โดยนำความรักชอบพระเครื่องมาเผยแพร่ความรู้ เรื่องราว ผ่าน นิตยสารพรีเชียส ซึ่งเป็นหนังสือพระเครื่องรายเดือน เล่มแรกของวงการวัตถุมงคล ที่พิมพ์อย่างมาตรฐาน กระดาษดี ภาพพระเครื่องจึงคมชัดเหมือนดูจาก องค์เป็นๆ ซึ่งไม่เคยมีใครคิดทำมาก่อน หรืออยากทำก็ยาก เพราะนอกจากค่าพิมพ์แพง ปัญหาสำคัญคือ สมัยนั้นการจะหาพระชั้นยอดๆจากใครมาถ่ายรูปได้เป็นเรื่องยากมาก แค่ขอดูเจ้าของยังหวง

แต่ พรีเชียส ทำได้ ด้วยคอนเนกชันของ อาจารย์รังสรรค์ ที่สามารถขอพระเครื่ององค์ดังๆจากคอลเลกเตอร์ระดับชาติทั้งวงการมาถ่ายภาพลงในหนังสือเล่มนี้ได้หมด จึงสร้างความกรี๊ดกร๊าดฮือฮาที่สุดเมื่อ พรีเชียส ฉบับแรกเปิดตัวเมื่อ ๒๐ ปีก่อน โดยมีข้าพเจ้าที่แบ่งภาคจากไทยรัฐไปเป็น บรรณาธิการ ในช่วงแรกๆ ตามด้วย เสี่ยราม วัชรประดิษฐ์ รับไม้ต่อไปอีกหลายปีดีดัก เพราะข้าพเจ้าต้องมาทำหน้าที่ สีกาอ่าง ใน สนามพระวิภาวดี แห่งนี้ ซึ่งเปิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ เต็มตัว--ทุกคนจึงเสียดายมากที่ภายหลัง พรีเชียส เลิกพิมพ์ไป

...

พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆังโฆสิตาราม ของนิว เมืองชล.
พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆังโฆสิตาราม ของนิว เมืองชล.

มาดูพระเครื่ององค์แรก ที่มารับ ครม.อิ๊งค์ ๑ คือ พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯ บางกอกน้อย กรุงเทพฯ สภาพสวยแจ่ม สมบูรณ์ เดิมๆ ฟอร์มเพอร์เฟกต์ พิมพ์พระมาตรฐาน เส้นศิลป์ชัดเจนตรงสเปก เนื้อมวลสารก้อนขาว (ผงพุทธคุณ) เกล็ดแดง (ผงเนื้อพระสกุลทุ่งเศรษฐี) ก้านดำ (ผงกระดานชนวนหรือก้านธูป) ครบสูตรแบบ “เนื้อครู” บอกชัดเป็นวัดระฆังฯออริจินอล

แม้ผิวเนื้อด้านหน้ามีริ้วรอยสัมผัสใช้ ด้านหลังมีคราบไคลจากการเลี่ยมกรอบแบบยุคเก่า แต่ก็ไม่บดบังคุณค่าทรงค่าขององค์พระ ที่มีจุดพิจารณาให้ศึกษาอย่างครบเครื่อง สำคัญสุดเป็นพระองค์ “หน้าใหม่” ที่ เสี่ยนิว เมืองชล ค้นพบ และนำมาภาพเผยแพร่ในสนามพระวิภาวดีของท่านผู้ชมเป็นครั้งแรก--อะไรจะเหมาะเหม็งอย่างนี้วุ้ย นายกฯก็ใหม่ พระก็หน้าใหม่ เจ้าของก็ชื่อ นิว ถ้าเขียนเป็น new ก็แปลว่า ใหม่

พระรอด พิมพ์เล็ก วัดมหาวัน ของวีระชัย ไชยเจริญ.
พระรอด พิมพ์เล็ก วัดมหาวัน ของวีระชัย ไชยเจริญ.

องค์ที่สอง คือ พระรอด พิมพ์เล็ก วัดมหาวัน อ.เมือง จ.ลำพูน ของ เสี่ยวีระชัย ไชยเจริญ หนึ่งในเจ้าถิ่นสายตรงตัวจริงเบอร์ต้นๆที่มักมีพระหลักยอดนิยมกับพระหลักสกุลลำพูนองค์งามๆมาให้ชมต่อเนื่อง

พระรอด พิมพ์เล็ก องค์นี้ ก็สภาพสมบูรณ์งามแชมป์ ทั้งฟอร์มทรง พิมพ์พระทุกเส้นศิลป์ติดคมชัด ผิวเนื้อทุกอณูคงสภาพเดิมๆไร้ริ้วรอยสัมผัส จนต้องอัศจรรย์ ที่พระอายุนับพันปี จะคงสภาพความงามสมบูรณ์ได้แบบเต็มร้อยขนาดนี้ ซึ่งยิ่งทำให้ศรัทธาเชื่อได้ว่าอานุภาพด้านแคล้วคลาดภัยมีอยู่จริง เพราะจะหา พระรอด ที่รอดมา อย่างผ่องแผ้วนพคุณแบบนี้มีที่ไหน กี่องค์กัน

พระพิมพ์ยืน ปางประทานพร กรุเจดีย์เล็ก วัดใหม่อมตรส ของก้อง พระสมเด็จ.
พระพิมพ์ยืน ปางประทานพร กรุเจดีย์เล็ก วัดใหม่อมตรส ของก้อง พระสมเด็จ.

...

องค์ที่สาม เป็น พระสมเด็จพิมพ์ยืนประทานพร กรุเจดีย์เล็ก วัดใหม่อมตรส บางขุนพรหม พระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณ สกุลเดียวกับ พระสมเด็จบางขุนพรหม ที่ค้นพบจาก พระเจดีย์องค์เล็ก บรรจุอัฐิ เสมียนตรา (ด้วง) ต้นตระกูล “ธนโกเศศ” ประธานดำเนินการขออนุญาตอาราธนา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) จัดสร้าง “พระสมเด็จบางขุนพรหม” บรรจุองค์พระเจดีย์ใหญ่ โดยสร้างพระเจดีย์องค์เล็กไว้โดยรอบ

ถึงปี พ.ศ.๒๕๐๖ เจ้าอาวาสและกรรมการวัดได้จัดการปรับภูมิทัศน์ในวัด มีการรื้อถอนพระเจดีย์องค์เล็ก ทำให้ได้พบ พระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณ ผสมปูนขาว อย่าง “พระสมเด็จ” จำนวนหนึ่ง

แยกได้เป็น ๖ พิมพ์ คือ ๑.พิมพ์เจดีย์แหวกม่าน ๒.พิมพ์สามเหลี่ยมหน้าหมอน ๓.พิมพ์ยืนปางประทานพร ๔.พิมพ์สมาธิ (ข้างดอกไม้) ๕.พิมพ์ไสยาสน์ ๖.พิมพ์ฐานคู่--องค์นี้ของ เสี่ยก้อง พระสมเด็จ เป็น พระพิมพ์ยืนปางประทานพร ที่มีจำนวนน้อย ปัจจุบันหายากมาก โดย เฉพาะองค์สภาพสมบูรณ์สวยแชมป์เดิมๆแบบนี้

พระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม ของแม็ก ช้างเผือก.
พระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม ของแม็ก ช้างเผือก.

...

อีกสำนักเป็น พระวัดพลับ พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ สมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) วัดราชสิทธาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ ต้นตำรับพระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณ ที่เชื่อได้ว่าเป็นพระที่สร้างไว้โดยสมเด็จพระญาณสังวร (สุก ไก่เถื่อน) องค์พระอาจารย์ทางวิปัสสนากรรมฐานของ “สมเด็จฯโต” ผู้สร้าง “พระสมเด็จ”

ค้นพบพระวัดพลับได้จากองค์พระเจดีย์ที่สร้างไว้ครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ขยายอาณาเขต “วัดพลับ” โดยรวมเป็นวัดราชสิทธาราม พร้อมพระราชทานฐานาสมณศักดิ์ให้ พระอาจารย์สุก ญาณสังวโร ขึ้นเป็นพระราชาคณะ ที่พระญาณสังวร ครองตำแหน่งเจ้าอาวาส ซึ่งเชื่อกันว่ามีการสร้างพระพิมพ์บรรจุ เป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนาไว้

และมาค้นพบราวปี พ.ศ.๒๔๗๐ ได้พระพิมพ์เนื้อผงพุทธคุณผสมปูนขาวทรงกลมดั่ง “เมล็ดบัว” จำนวนมากไหลออกจากองค์พระเจดีย์ใหญ่โดยบังเอิญ เพราะชาวบ้านเอาไม้กระทุ้งจะไล่กระรอกเผือกที่วิ่งหนีเข้าไปในองค์พระเจดีย์ ทำให้มีองค์พระพิมพ์ขนาดเล็กไหลออกมา

แยกพิมพ์เป็น ๑.พิมพ์ยืนวันทาเสมา ๒.พิมพ์สมาธิใหญ่ เล็ก ๓.พิมพ์สมาธิเข่ากว้าง ๔.พิมพ์พุงป่องใหญ่ เล็ก ๕.พิมพ์ตุ๊กตาใหญ่ เล็ก ๖.พิมพ์พระปิดตา ทั้งหมดเป็นพระที่บรรจุอยู่ในที่ส่วนบนขององค์พระเจดีย์ จึงมีคราบไขฝ้ารากรุจับผิวเพียงบางเบา บางองค์ผิวเนื้อขึ้นเป็นเม็ดตุ่มแบบเม็ดผดที่นิยมเรียกเป็น “เนื้องอก”

ปัจจุบันเป็น ๑ ในสกุลพระเนื้อผงที่ได้รับความนิยมสูง แต่ราคาอยู่ที่หลักหมื่น-หลักแสน ทั้งที่ได้ชื่อเป็น ๑ ในพระพิมพ์สกุลสมเด็จ เพราะยังคาใจเรื่อง ผู้สร้าง ที่ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่า สมเด็จ (สุก ไก่เถื่อน) สร้าง อีกฝ่ายค้านว่า หลวงตาจัน พระลูกวัดชาวเขมรสร้าง

แต่เวลานี้ปัญหาผู้สร้างจะเป็น “สมเด็จ” หรือ “หลวงตา” ถูกมองข้ามไม่ใช่ปัญหาใหญ่ แต่ขอเพียงเป็นพระแท้ดูง่าย องค์งามๆ สภาพเดิมๆ ก็มีคนรอ ราคาก็สูงขึ้นมาก--อย่างองค์นี้ของ เสี่ยแม็ก ช้างเผือก ที่สวยสมบูรณ์ เดิมๆ คราบกรุคลุมผิวเกือบเต็มร้อยแบบนี้ ราคาว่ากันที่หลักแสนกลางถึงปลายเป็นมาตรฐาน

...

พระปิดตา พิมพ์ใหญ่ เนื้อตะกั่ว หลังยันต์ตะกร้อ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย ของบัมส์ สุพรรณ.
พระปิดตา พิมพ์ใหญ่ เนื้อตะกั่ว หลังยันต์ตะกร้อ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย ของบัมส์ สุพรรณ.

องค์ที่ ๕ คือ พระปิดตา พิมพ์ใหญ่ หลังยันต์ตะกร้อ เนื้อตะกั่ว หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ๑ ในพระพิมพ์นิยมมาตรฐาน ราคาหลักแสน

องค์นี้ของ เสี่ยบัมส์ สุพรรณ เป็นพระสภาพผ่านการใช้ ที่ยังคงสภาพเป็นพระแท้ดูง่าย รูปทรงพิมพ์พระคราบไคลไขตะกั่ว บอกอายุถึงยุคเป็นธรรมชาติ--สวยระดับโชว์ได้ ใช้ดี ราคาจึงไม่หนัก

พระชัยวัฒน์ เศียรทุย ท่านเจ้ามา วัดสามปลื้ม ของคุณบาส แช่มช้อย.
พระชัยวัฒน์ เศียรทุย ท่านเจ้ามา วัดสามปลื้ม ของคุณบาส แช่มช้อย.

องค์ต่อไปเป็น พระชัยวัฒน์ พิมพ์เศียรทุย พระพุฒาจารย์ “ท่านเจ้ามา” วัดจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ ผู้รับสืบทอดตำรับวิชาสร้างพระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ของสมเด็จกรมพระยาปวเรศฯมาสร้างเป็น พระชัยวัฒน์ พระได้รับความนิยมมาก เพราะผู้สร้างมีพุทธาคมเข้มขลัง มีวัตรปฏิบัติเป็นที่เคารพศรัทธา ที่เจ้านาย และคนไทยเชื้อสายจีนนับถือ

พระมีหลายแบบพิมพ์ แต่หาพบยากมาก อย่างองค์นี้ของ เสี่ยบาส แช่มช้อย เป็น พิมพ์เศียรทุย ที่ได้รับความนิยมสูงสุด เนื้อโลหะกระแสสีแดง แบบนี้ราคาถึงหลักแสนมานานแล้ว

เหรียญรุ่นแรก หลังพระปิดตา (บัวคว่ำ) พ.ศ.๒๔๘๔ หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ของ ดร.มีชัย เถาเจริญ.
เหรียญรุ่นแรก หลังพระปิดตา (บัวคว่ำ) พ.ศ.๒๔๘๔ หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ของ ดร.มีชัย เถาเจริญ.

ต่อไปเป็น เหรียญรุ่นแรก หลังพระปิดตา (บัวคว่ำ) พ.ศ.๒๔๘๔ เนื้อทองแดงรมน้ำตาล พระครูสุทธิสารคุณ “หลวงพ่อจาด” วัดบางกระเบา จ.ปราจีนบุรี พระเกจิฯ พุทธาคมเข้มขลัง ๑ ใน ๔ สุดยอดพระเกจิฯยุคสงครามอินโดจีน ที่มีนามเรียกคล้องจองว่า “จาด จง คง อี๋” หมายถึง ๑.หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา จ.ปราจีนบุรี ๒.หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา ๓.หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม ๔.หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี เพราะทหารไทยศิษย์ท่านทั้ง ๔ ไปสนามรบมีชีวิตรอดพ้นจากอาวุธสงครามกลับมาด้วยอาการครบ ๓๒ กันมาก เป็นที่เลื่องลือว่าเพราะมีอาจารย์ดี

หลวงพ่อจาด สร้างพระเครื่องของขลังไว้พอสมควรทั้งพระเครื่อง ตะกรุด ลูกอม ผ้ายันต์ ได้รับความนิยมสูง โดยเฉพาะ เหรียญรูปท่าน ที่สร้างออกในวาระสำคัญต่างๆ

ที่นิยมสุดเป็น เหรียญรุ่นแรก ที่เป็นเหรียญปั๊ม ทรงกลม เนื้อโลหะ ด้านหน้าเป็นรูปจำลองท่านนั่งสมาธิเต็มองค์บนตั่งขาคู้ มีอักษรบอกนามฐานาด้านล่าง ด้านหลังเป็นองค์พระปิดตา ล้อมรอบด้วยกลีบบัวคว่ำ แบบเหรียญนี้ ของ ดร.มีชัย เถาเจริญ ซึ่งเป็นเหรียญเนื้อทองแดงรมน้ำตาล ที่ได้รับความนิยมสุด สภาพสวยเนี้ยบ คม ขั้นแชมป์แบบนี้ ราคาต้องว่ากันสูงถึงหลักล้านแน่

พระพุทธรูปบูชา พุทธศิลป์สมัยเชียงแสนสิงห์ ๑ หน้าตัก ๗ นิ้ว ของ ปรีดา คูวิบูลย์ศิลป์.
พระพุทธรูปบูชา พุทธศิลป์สมัยเชียงแสนสิงห์ ๑ หน้าตัก ๗ นิ้ว ของ ปรีดา คูวิบูลย์ศิลป์.

องค์สุดท้ายเป็น พระพุทธรูปบูชาพุทธศิลป์สมัยเชียงแสน สิงห์ ๑ พุทธศตวรรษที่ ๑๖– ๒๐ หน้าตัก ๗ นิ้ว พระพุทธรูปบูชาล้ำค่า ถึงยุค ถึงศิลป์ แท้ดูง่าย สภาพสมบูรณ์เดิมๆของ เสี่ยปรีดา คูวิบูลย์ศิลป์ ปัจจุบันหากันมากแต่ยากจะได้

เป็นศิลป์ฝีมือช่างหลวง อายุการสร้างตามศิลป์สมัยยาวนานกว่า ๗๐๐ ปี แล้วยังได้ชื่อเป็นพระบูชาที่มีอานุภาพบันดาลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง มีความสุขความสำเร็จเจริญด้วยอายุวรรณะสุขะพละปฏิภาณ ธนสารสมบัติ

ขนาดองค์กำลังงามเหมาะกับประดิษฐานในบ้านเรือนอย่างนี้ มักเป็นพระมรดกตกทอดประจำวงศ์ตระกูลใหญ่ จึงยากจะมีออกมาให้เห็น

ลากันกับเรื่องปิดท้ายของ เจ๊ศรี เจ้าของร้านอาหารดังในราชบุรี สามีเป็นข้าราชการ แต่งงานกันมา ๑๐ ปี แรกๆก็รักกันดี ช่วยทำร้านอาหารจนดัง รายได้ดีทำให้ เจ๊ศรี หน้าตาแจ่มใส เพื่อนฝูงก็ชื่นชมว่าได้สามีดี มีความสุขมาก

แต่พอเข้าปีที่ ๑๓ สามี เปลี๊ยนไป๋ คบเพื่อนเที่ยวคลับเกือบทุกคืน เมียก็กลุ้มใจไประบายกับเพื่อนๆก็แนะนำให้เข้าวัดฟังธรรม พาผัวไปด้วย แกก็ทำตาม และรู้สึกดีที่สามีก็เต็มใจขับรถไปส่งทุกครั้ง และเว้นเที่ยวกลางคืนไปเยอะ

พอเจอเพื่อน เจ๊ศรี ก็ขอบคุณที่แนะนำให้พาสามีเข้าวัด บอกว่าเขาชอบ วันไหนฉันติดลูกค้าเขายังไปคนเดียวเลย เพื่อนก็ดีใจด้วย บอกว่าโชคดีแล้วนะเข้าวัด ฟังธรรม ได้อานิสงส์ดี

ผ่านไป ๓ เดือน เจ๊ศรี ก็หน้าเศร้าอีก เพื่อนทักว่ามีเรื่องทุกข์ใจอะไรอีก สามีกลับไปเที่ยวบาร์อีกหรือ เจ๊ศรี บอกป่าว แต่ไปอยู่วัดไม่ยอมกลับบ้าน เพื่อนก็ว่า อ้าว เข้าวัดก็ดีแล้วนี่นา ดีกว่าไปเที่ยวผับ แต่ เจ๊ศรี เสียงเข้ม บอกว่าแต่ผัวชั้นมันไม่ได้เข้าวัดไปฟังพระเทศน์ แต่มันไปเฝ้า “แม่ชี” เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง

คลิกอ่านคอลัมน์ “สนามพระ” เพิ่มเติม