ดูพระกริ่งใหญ่ องค์ในคอลัมน์วันนี้ราวเดือนที่แล้ว ผ่านมือคนรักพระเครื่องถึงสามมือ คนแรกคงไม่รู้จัก เปลี่ยนมือในราคาเบา คนที่สองคิดว่าแน่ใจ ตั้งราคาหลักล้าน

แต่เมื่อไม่ผ่านตาเซียนศูนย์พระเครื่องใหญ่ มูลค่าลดเหลือหลักแสนกับคนที่แน่ใจ คนที่สี่

ได้ภาพมาถึงมือแล้ว ก็ขอแนะนำให้ดู นี่คือพระกริ่งใหญ่ สมัยราชวงศ์ถัง ที่มีสภาพ งาม และดูง่าย ไม่มีจุดสะดุดใจตรงไหน ถือเป็นองค์ครูก็ได้

วันนี้โชคดีเจอหนังสือ ทำเนียบพระกริ่ง พระชัยวัฒน์ (พิมพ์ พ.ศ.2527) ของเซียนพระรุ่นตำนาน คุณมอนต์ จันทนากร ใกล้มือ นี่คือคนรักพระรุ่นใหญ่ มีความรู้เชี่ยวชาญ เข้าถึงเรื่องราว เข้าถึงรูปทรงองค์พระอย่างลึกซึ้ง มีหลักเกณฑ์ใช้เป็นแนวทางให้คนรักพระรุ่นต่อๆ มาได้ยึดไว้ใช้

มอนต์ จันทนากร อธิบาย พระกริ่งใหญ่ คือพระชัยพุทธองค์แรกของจีน ที่นักพรตผู้ทรงอำนาจบารมีในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน สร้างขึ้นอุทิศบูชาต่อพระไภสัชคุรุพุทธเจ้า

ความอลังการในพุทธลักษณะศิลปะแบบจีนยังไม่ปรากฏ มีพระกริ่งแบบใดในโลกสร้างได้งามเท่า

ความกลมกลืนได้ส่วนสัดสมบูรณ์ที่สุดของสกุลช่างผู้สร้าง บ่งถึงสกุลช่างในราชธานีหรือที่เรียกว่าช่างหลวง

ตามคติลัทธิมหายานกล่าวว่า พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้าองค์นี้มีพุทธเกษรชื่อวิสุทธิไพฑูรย์โลกธาตุอยู่ทางทิศตะวันออกของโลก ได้จุติลงมาเพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ ด้วยการสร้างสมอำนาจบารมีของพระมนุสสพุทธเจ้า

และการสร้างปฏิมากรรมในรูปลักษณะของพระกริ่งแบบแรกนี้ได้เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 14 ยุคกลางสมัยแผ่นดินถัง

พระกริ่งใหญ่เป็นต้นแบบของพระกริ่งที่ได้สร้างติดต่อกันมาอีกหลายยุคหลายสมัยในประเทศจีน ตามภูมิภาคที่พระพุทธศาสนามหายาน เช่น ในอาณาจักรทามิ หนองแส พนมบาเก็ง

และอาณาจักรอโยธยาก็ได้เคยมีพระชัยพุทธประเภทพระกริ่ง ศิลปะร่วมสมัยพระกริ่งใหญ่ปรากฏอยู่ มีผู้ค้นพบพระกริ่งใหญ่ในสถูปร้างสององค์ บริเวณเมืองเก่ากรุงศรีอยุธยา อีกองค์ในสถูปจังหวัดพิษณุโลก

...

เข้าใจว่ามีผู้นำพระกริ่งใหญ่เข้าในประเทศไทย ในสมัยกรุงศรีอยุธยา วงการพระเครื่องในครั้งแรก เรียกว่าพระกริ่งหนองแสใหญ่ ภายหลังพบพระกริ่งบาเก็ง และพระกริ่งหนองแส ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า จึงทำให้ผู้เรียกพระกริ่งจีนองค์แรก ที่มีขนาดใหญ่กว่า ว่าพระ “กริ่งใหญ่” และก็เรียกกันจนทุกวันนี้

การหล่อปฏิมากรรมสำริดของจีน ได้รับวิวัฒนาการมาจากเครื่องใช้สำริดของจีนสมัยซีฮั่น (พ.ศ.337-762) ยุคสำริดที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรจีน ต่อเนื่อง พ.ศ.1161-1449 ตรงกับสมัยราชวงศ์ถัง

พระกริ่งใหญ่หล่อขึ้นด้วยความประณีตด้วยทองสำริดแก่ทองคำ มีแร่ธาตุอื่นอีกบางชนิดผสม จึงทำให้เนื้อพระกริ่งใหญ่คงทนถาวรมาก ผิวจะเรียบตึงทั้งองค์ไม่ค่อยเกิดสนิม

หากมีสนิมที่เกิดจากความเก่า ปรากฏแค่สีแดงคล้ำบางๆ คล้ายผิวเปลือกมันเทศ เช่นเดียวกับพระกริ่งใหญ่ที่มอนต์ จันทนากร ตีพิมพ์ไว้เป็นต้นแบบในหนังสือ และพระกริ่งใหญ่องค์ในคอลัมน์วันนี้

จำนวนที่พบในประเทศไทยน้อยมาก เมื่อ พ.ศ.2525 กรุงรัตนโกสินทร์ครบสองร้อยปี พบในพระบรมมหาราชวัง 5 องค์ และเป็นที่รู้กัน ในบาตรน้ำมนต์ ของสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นพระกริ่งปวเรศที่พระองค์ทรงสร้าง แต่มีเจ้านายผู้ใหญ่ท่านหนึ่งยืนยันว่าเป็นพระกริ่งใหญ่

มอนต์ จันทนากร สรุปความรู้เรื่องพระกริ่งใหญ่ว่า เป็นต้นแบบของพระกริ่ง สมเด็จพระสังฆราชแพ วัดสุทัศน์

พุทธลักษณะพระกริ่งบางรุ่นของวัดสุทัศน์ (รุ่นพรหมมุนี รุ่นพระยาศุภกรฯ รุ่นเจ้าคุณทิพย์โกษา รุ่นเชียงตุง) จึงเหมือนกับพระกริ่งใหญ่ทุกประการ.

พลายชุมพล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม