ไทยแลนด์ ดินแดนแห่งความสุข เข้าสู่วันหยุดยาวอีกครั้ง สนามพระทุกแห่งมีแฟนคลับพระเครื่องไปพูดคุยส่องพระ และแลกเปลี่ยนซื้อขายกันอย่างคึกคัก

ส่วน สนามพระวิภาวดี ก็มีพระสวยๆดีๆให้ดูฟรีเหมือนเดิม เริ่มกันที่ พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ วัดใหม่อมตรส แขวงบางขุนพรหม กรุงเทพฯ ของ เสี่ยพรรค คูวิบูลย์ศิลป์

พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ วัดใหม่อมตรส ของ พรรค คูวิบูลย์ศิลป์.
พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ วัดใหม่อมตรส ของ พรรค คูวิบูลย์ศิลป์.

พระสภาพสวยสมบูรณ์ เดิมๆ ทั้งฟอร์มทรง พิมพ์พระ เนื้อมวลสาร สภาพคราบกรุ จุดตำหนิ ดูตรงไหนก็ใช่เป็นระดับ องค์ครู ให้ศึกษาเรียนรู้และบูชาครบ เพราะเลื่องลือว่ามีประสบการณ์ทั้งบู๊-บุ๋น พระจึงมีราคาสูงขึ้นตลอดๆ โดยเฉพาะพระงามพร้อมอย่างองค์นี้ ที่นับวันจะหาเวรี่ยากขึ้น

...

พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้น อกตลอด วัดไชโยวรวิหาร ของก้อง พระสมเด็จ.
พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้น อกตลอด วัดไชโยวรวิหาร ของก้อง พระสมเด็จ.

ตามมาด้วย พระสมเด็จเกศไชโย พิมพ์ ๖ ชั้น อกตลอด วัดไชโยวรวิหาร อ.ไชโย จ.อ่างทอง พิมพ์สุดท้อง ในสกุลพระสมเด็จเกศไชโย

ด้วยชื่อพิมพ์ อกตลอด ก็ทำให้มีความเชื่อว่ามีอานุภาพให้ผู้ใช้บูชามีชีวิตเป็นสุข ทำอะไรก็สำเร็จราบรื่นไร้อุปสรรค “ผ่านตลอด”

จึงเป็นพิมพ์ยอดนิยม แต่จำนวนพระมีน้อย โดยเฉพาะองค์งามเยี่ยมอย่างองค์นี้ของ เสี่ยก้อง พระสมเด็จ ซึ่งแม้จะมีรอยชำรุด เนื้อหลุดหายตรงมุมล่างด้านซ้ายมือไปนิดนึง แต่ไม่ถึงเส้นฐาน ซึ่งทุกชั้นอยู่ครบเดิมๆ--พระแบบนี้ราคาจะเบากว่าปกติ จึงโดนใจคนชอบพระหลัก

พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ วัดนางพญา ของโจ๊ก ลำพูน.
พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ วัดนางพญา ของโจ๊ก ลำพูน.

อีกองค์คือ พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ วัดนางพญา อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็น พิมพ์กลาง ในสกุลพระนางพญาของ เสี่ยโจ๊ก ลำพูน

สภาพพระสวยแชมป์ เดิมๆ เด่นสุดที่พระพักตร์แบบที่ชาวพระเรียก “หูตากะพริบ” หรือ “หูตาปลิ้น” ซึ่งพบน้อยมากตั้งแต่แตกกรุจากองค์พระเจดีย์ ที่พังทลายเมื่อราวปี พ.ศ.๒๔๔๔ ราคาจึงว่ากันถึงหลักล้าน

พระนางพญา พิมพ์เทวดา วัดนางพญา ของปรีดา คูวิบูลย์ศิลป์.
พระนางพญา พิมพ์เทวดา วัดนางพญา ของปรีดา คูวิบูลย์ศิลป์.

อีกองค์ก็สำนักเดียวกัน พระนางพญา พิมพ์เทวดา (เนื้อแดง) วัดนางพญา ซึ่งเป็น พระพิมพ์เล็ก ที่เชื่อถือว่ามีอานุภาพด้านโชคลาภ เข้มขลังสุดๆ และหาเจอยากมากๆ ซึ่ง เสี่ยปรีดา คูวิบูลย์ศิลป์ ได้มาหมาดๆ

พระสภาพสมบูรณ์ เป็นรอง พิมพ์กลาง เพราะมีรอยสัมผัสใช้ทั้งหน้า-หลัง แต่ก็มี จุดเด่น ที่ฟอร์มทรงดี พิมพ์พระเด่น สำคัญสุดตรง เนื้อสีแดง ที่มีพบน้อยมาก

...

พระพิมพ์ปางเปิดโลก กรุลานทุ่งเศรษฐี ของศุภชัย สายัณห์.
พระพิมพ์ปางเปิดโลก กรุลานทุ่งเศรษฐี ของศุภชัย สายัณห์.

องค์ที่ ๕ ไม่ได้ชมดูนานแล้วคือ พระพิมพ์ปางเปิดโลก (ยืนตอ) กรุลานทุ่งเศรษฐี อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใครตรง องค์พระจะยืนบนฐานสูง ที่เรียกว่า “ยืนตอ”

มีพบเกือบทุกกรุพระในอาณาเขตลานทุ่งเศรษฐี อาทิ วัดพระแก้ว วัดพิกุล วัดบรมธาตุ ฯลฯ แต่ไม่มาก แยกพิมพ์ตามขนาดเป็น พิมพ์เล็ก (เม็ดทองหลาง) กับ พิมพ์ใหญ่ แบบองค์นี้ของ เสี่ยศุภชัย สายัณห์

พระสภาพสมบูรณ์เดิมๆ สวยแชมป์ ในอดีตได้รับความนิยมสูงเทียบชั้น พระกำแพงซุ้มกอ นิยมเรียกเป็น พระกำแพงเปิดโลก หรือ พระกำแพงยืนตอ เกือบทั้งหมดที่พบเป็น พระเนื้อดินกรองละเอียด มีราดำขึ้นจับแน่นเข้าผิวเนื้อสไตล์พระทุ่งเศรษฐี

กับชนิด เนื้อว่าน จำนวนเล็กน้อยปัจจุบันพบเห็นยาก นานทีจะมีมาให้ชม ส่วนราคา ถ้าสภาพนี้อยู่ที่หลักแสนปลายๆได้สบาย

...

พระยอดขุนพลนาน้อย พิมพ์ใหญ่ กรุวัดนาหลวง ของ สจ.บอมบ์ เมืองน่าน.
พระยอดขุนพลนาน้อย พิมพ์ใหญ่ กรุวัดนาหลวง ของ สจ.บอมบ์ เมืองน่าน.

ต่อไป เป็นพระกรุ พระเก่า เนื้อชินยอดนิยมอันดับ ๑ ของเมืองน่าน พระยอดขุนพลนาน้อย พิมพ์ใหญ่ เนื้อชินตะกั่ว กรุวัดนาหลวง อ.นาน้อย จ.น่าน

องค์นี้ของ สจ.บอมบ์ เมืองน่าน บรรยายมาว่า สวยเพอร์เฟกต์ที่สุดได้แชมป์งานประกวดเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๔ แล้วก็ถูกนิมนต์ไป ๑๓ ปี เพิ่งกลับเมืองน่าน ย้ายกุฏิจาก พ.อ.คณธิศ พลอยส่งแสง มาเป็นของ สจ.บอมบ์ ซึ่งตื่นเต้นสุดๆ ที่ได้เป็นเจ้าของพระกรุ พระเก่าองค์งามสุดยอดของบ้านเกิด ที่มีพิมพ์นิยม ๔ พิมพ์คือ ๑.พิมพ์ใหญ่ ๒.พิมพ์กลาง ๓.พิมพ์เล็ก ๔.พิมพ์พิเศษ

ประวัติการพบพระมีว่า ได้จากกรุพระวัดนาหลวง อ.นาน้อย จ.น่าน แต่ไม่มีบอกว่าเมื่อไหร่ ส่วนการสร้างทราบแค่ว่าขุดได้จากกรุองค์พระเจดีย์ที่ชำรุดหักพังอยู่ในวัด พระบรรจุอยู่ในบาตรใหญ่ มีทั้งเนื้อชินเงิน เนื้อดินและเนื้อว่านผสมผง ราว ๑,๐๐๐ องค์ ส่วนใหญ่ชำรุดมีที่สมบูรณ์รวมราว ๓๐๐ องค์

...

ผิวเนื้อมี สนิมตีนกา จับแน่น พระพักตร์ชัดเจน พระเนตรโปน อกนูน พื้นหลังพระเกศมีประภามณฑลสองข้าง เป็นใบบัวรัศมี ด้านหลังเรียบ ศิลปะค่อนข้างหยาบแบบพุทธศิลป์เชียงแสนล้านนา ฝีมือช่างชาวบ้าน แต่เป็นยอดนิยมเบอร์ต้นของเมืองน่าน ราคาหลายแสน

บรรทัดนี้ขอแทรกตอบ คำถามสนามพระ ที่ค้างมานาน ว่าด้วย สนิมตีนกา

ปกติแล้ว ตีนกา เป็นอะไรที่คนรังเกียจถ้ามาปรากฏบนหน้า แต่ถ้าเป็น ตีนกา ในพระเครื่องถือว่าเป็นจุดตำหนิมีแล้วดีกว่าไม่มี

เพราะ พระเครื่องหรือพระบูชาที่สร้างจากเนื้อโลหะ ไม่ว่าเนื้อชินเงิน เนื้อตะกั่ว เนื้อสำริด จะมีการเปลี่ยนแปลงสภาพโลหะไปตามภาวะแวดล้อม และอายุการสร้าง เพราะ ออกซิเจนในอากาศ ทำปฏิกิริยากับโลหะ จนเกิด Oxide (สนิม) ในเนื้อพระ และเกาะกินผิวพระไปเรื่อยๆ สนิมที่เกิดมีสีค่อนข้างดำ เรียกว่า สนิมตีนกา (คาดว่าเปรียบเทียบกับรอยตีนของอีกา ที่ตัวก็ดำ ตีนก็ดำ) โลหะที่เกิดสนิมได้ง่ายสุดคือ เหล็ก ส่วน ตะกั่ว ต้องใช้เวลาหลายร้อยปี จุดนี้เองถึงบอกว่ามีสนิมแล้วดี เพราะ พิสูจน์ทราบอายุความเก่า ได้

พระที่สร้างจากเนื้อชินตะกั่วส่วนมากจะเป็นพระที่มีอายุการสร้างสูงๆ เช่น ลพบุรี เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง

ยังมี สนิม อีกหลายประเภท เช่น สนิมแดง ในพระเนื้อตะกั่ว สนิมแดงที่ค่อนข้างหนาสีแดงจัด เรียกว่า สนิมเลือดนก ถ้าสีสนิมออกม่วงแดงดำ เรียก สนิมเปลือกมังคุด

ส่วน พระเนื้อสำริด ก็มีสนิมเกาะเหมือนกัน เรียกว่า สนิมขุม มีหลายสี เช่น สนิมเขียว สนิมแดง สนิมน้ำเงิน--สรุปว่าสนิมพระดี แต่การเปรียบเทียบ เมียเก่า ว่าเก่าๆเป็นสนิม ใหม่ๆ หน้าตาจิ้มลิ้ม รับรองว่าไม่ดีอย่างแรง

พระพิมพ์พระประธานใหญ่ เนื้อตะกั่ว หลวงพ่อเนียม วัดน้อย ของบอมเบย์ สุพรรณ.
พระพิมพ์พระประธานใหญ่ เนื้อตะกั่ว หลวงพ่อเนียม วัดน้อย ของบอมเบย์ สุพรรณ.

อีกสำนักเป็น พระพิมพ์พระประธาน พิมพ์ใหญ่ เนื้อตะกั่ว หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี อมตะพระเกจิฯเมืองสุพรรณฯ ผู้มีชื่อเสียงเป็นพระแท้ผู้มีวิชาพุทธาคมแก่กล้า เป็นพระอาจารย์วิปัสสนากรรมฐานของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หลวงพ่อโหน่ง วัดอัมพวัน

ท่านสร้างพระพิมพ์เนื้อตะกั่วไว้หลายแบบมีพบในพื้นถิ่น เป็นพิมพ์มาตรฐานที่วงการ เล่นหาเป็นพิมพ์นิยม สกุล “พระหลวงพ่อเนียม” อาทิ พิมพ์งบน้ำอ้อย พิมพ์พระคง พิมพ์พระประธานเล็ก หรือพิมพ์พระชัยวัฒน์ (ตามที่หลวงปู่บุญ ขันธโชติ เรียกตอนได้เจอกันคราวเดินทางไปทำหน้าที่เจ้าคณะเมืองสุพรรณฯ)

และ พิมพ์พระประธานใหญ่ แบบองค์นี้ ที่สมบูรณ์สวยแชมป์ เดิมๆ คราบไขตะกั่วบอกอายุความเก่าธรรมชาติ ในอดีตไม่นิยมบูชาติดตัว เพราะองค์ใหญ่เทอะทะ แต่องค์นี้ของ เสี่ยบอมเบย์ สุพรรณ สายตรงเจ้าถิ่น ดูกะทัดรัด เพราะตัดฐานส่วนล่างออกไปแต่เดิม ซึ่งพบน้อยองค์ พอเลี่ยมกรอบทองพร้อมใช้แบบนี้ ราคาอยู่ที่หลักแสนต้นๆ

เหรียญเสมา เนื้ออัลปาก้า รุ่นแรก พ.ศ.๒๕๑๓ หลวงพ่อเจิม วัดกุฎีทอง ของครูโอ กุฎีทอง.
เหรียญเสมา เนื้ออัลปาก้า รุ่นแรก พ.ศ.๒๕๑๓ หลวงพ่อเจิม วัดกุฎีทอง ของครูโอ กุฎีทอง.

รายการต่อไปเป็น เหรียญเสมารุ่นแรก พ.ศ.๒๕๑๓ เนื้ออัลปาก้า พระครูวิจิตรวิหารการ “หลวงพ่อเจิม” วัดกุฎีทอง ต.รั้วใหญ่ อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี อีก ๑ พระเกจิฯเมืองสุพรรณฯ ที่มีชื่อเสียงด้านวิชาพุทธาคมในยุคหลังปีกึ่งพุทธกาล เป็นพระเกจิฯร่วมสมัย หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่ หลวงพ่อคำ วัดหน่อพุทธางกูร หลวงพ่อสม วัดดอนบุปผาราม เป็นต้น

หลวงพ่อเจิม เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๕ อุปสมบทที่วัดกุฎีทอง มีหลวงพ่อเจ๊ก วัดปราสาททอง เป็นอุปัชฌาย์ หลวงพ่ออาจ วัดวังยายหุ่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และจำพรรษาที่วัดกุฎีทองมาตลอด จนมรณภาพเมื่อปี ๒๕๒๗ อายุ ๙๒ ปี

ท่านสร้างพระเครื่องของขลังไว้ไม่มากล้วนได้รับความนิยม เพราะมีอานุ ภาพเป็นประสบ การณ์สูง โดยเฉพาะ เหรียญเสมารุ่นแรก แบบนี้ของ ครูโอ กุฎีทอง ที่สภาพสวยคม สมบูรณ์เดิมๆ--ราคาอยู่ที่หลักหมื่น แต่ก็หาไม่ง่าย เพราะคนใช้บูชาบอกกันว่ามีประสบการณ์สูงมาก คนพื้นที่ไม่ค่อยยอมเปลี่ยนมือ

ลากันกับเรื่องปิดท้าย ในร้านพระเครื่องชื่อดัง บนศูนย์ใหญ่ใกล้กรุง มีนักนิยมพระเครื่องไปพบปะพูดคุยกันเต็มร้าน แยกเป็นนักนิยมพระเก่า ที่เชื่อว่ายังไงเล่นพระเก่าก็ดีกว่าพระใหม่

เพราะผู้สร้างมักเป็นพระแท้ ผู้มีวิชาอาคมเข้มขลัง ตั้งใจสร้างพระให้มีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์จริง มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา ด้วยพุทธศิลป์ พุทธคุณเป็นสำคัญ อย่างพระเบญจภาคี เล่นได้สบายใจไม่มีตกยุค ไม่ใช่สร้างแบบพุทธพาณิชย์ ที่นิยมทำในสมัยนี้

ฝ่าย พระใหม่ ก็มีเหตุผลว่า พระเก่าลงทุนสูง มีเก๊-มีแท้ เล่นยาก อายุการสร้างก็นานมากไม่รู้อานุภาพเสื่อมหรือไม่ เล่นพระใหม่ลงทุนน้อย ไม่นานก็ขายได้ มีกำไรคุ้มลงทุน

และยกตัวอย่าง อย่างพระของ หลวงปู่มหาศิลา ที่กำลังฟีเวอร์ ออกมามากเท่าไรก็ขายได้หมด ถกไปเถียงมาจะครึ่งวันไม่มีใครยอมแพ้ แถมยังทำท่าจะดุเดือดขึ้น

เจ้าของร้านที่อยากปิดร้านกลับบ้านจึงตั้งตัวเป็นประธานตัดสิน ยกมือออกความเห็นว่า ผมว่าดีทั้งพระเก่า-พระใหม่ ถ้ามีเงินลงทุนเล่นพระใหม่ได้กำไรเร็ว ก็เอามาเป็นทุนซื้อพระเก่าที่ร้านผมดีที่สุด--ถึงได้ยุติศึกพระใหม่พระเก่าไหนเก๋ากว่า ได้อย่างสมานฉันท์ เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง

คลิกอ่านคอลัมน์ “สนามพระ” เพิ่มเติม