พระหลวงปู่ทวด พิมพ์พระรอดใหญ่ เนื้อว่าน รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๙๗ วัดช้างให้ ของฐิการ ศุภวิรัชบัญชา.

เข้าสู่ตลาดพระอาทิตย์แรกของเดือน ๘ แบบสบายๆ เพราะฝนตกทุกวัน ทำให้อุณหภูมิแทบทุกพื้นที่ลดลง โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ย่านตึกสูงตึกใหญ่ ที่ต่างแผ่ความร้อนจากแอร์มาทำให้อากาศบริเวณนั้นอบร้อนระอุกว่าที่โล่งๆ--ความเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศก็เปรียบเหมือนชีวิตคนมีทั้งร้อน หนาว ฝน วนเวียนไม่สิ้นสุด เป็นสัจธรรม

พระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯ ของชมภู แพะเจริญชัย.
พระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯ ของชมภู แพะเจริญชัย.

เริ่มทัวร์ตลาดพระกันที่ พระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซม สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังฯ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ สภาพงามสมบูรณ์

...

เข้าขั้นพระแชมป์ได้สบาย ถ้า...ไม่มีรอยชำรุดที่มุมขวาล่างองค์พระ ซึ่งเนื้อหลุดแฉลบโดนเส้นซุ้มหายไปนิด แต่พอใส่ตลับก็ปิดจุดตำหนิได้สนิท จึงโดนใจคนชอบของดี ราคาเบา แต่องค์นี้ คงได้แต่มอง เพราะเจ้าของคือ เสี่ยชมภู แพะเจริญชัย นักธุรกิจดังเมืองพระพุทธบาท สระบุรี

พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เจดีย์ วัดใหม่อมตรส ของ ดามพ์ สุพรรณ.
พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เจดีย์ วัดใหม่อมตรส ของ ดามพ์ สุพรรณ.

อีกองค์เป็น พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์เจดีย์ วัดใหม่อมตรส แขวงบางขุนพรหม เขตพระนคร กรุงเทพฯ

องค์นี้สมบูรณ์สวยแชมป์ สภาพเดิมๆ เคลียร์แอนด์คลีน เพราะไม่มีรอยสัมผัสเลย แบบว่าขึ้นจากกรุยังไงก็คงสภาพมาตามนั้น ไม่มีแต่งเติม

ฟอร์มทรง พิมพ์พระ สภาพคราบกรุ เนื้อมวลสารเป็นพระตามเกณฑ์มาตรฐาน ของ เสี่ยดามพ์ สุพรรณ ที่เน้นเล่นหาพระหลัก พระดี มีคุณภาพ

พระลือโขง กรุสันกู่เหล็ก ของศุภชัย สายัณห์.
พระลือโขง กรุสันกู่เหล็ก ของศุภชัย สายัณห์.

องค์ที่สามคือ พระลือโขง กรุสันกู่เหล็ก อ.เมือง จ.ลำพูน พระพิมพ์ที่มีความงดงามอลังการของพุทธศิลป์ที่สุดในสกุลพระเมืองลำพูน

ลักษณะเป็นพระพิมพ์ทรงกลีบบัวสูง ด้านหน้าเป็นองค์พระพุทธศิลป์หริภุญไชย นั่งปางมารวิชัย เหนือฐานบัวสองชั้น ในซุ้มเรือนแก้ว ลวดลายอลังการแบบ “พระยอดขุนพล” ด้านหลังปาดเรียบ

ค้นพบจากกรุพระในบริเวณวัดสันกู่เหล็ก ทางทิศตะวันตกของวัดประตูลี้ ปัจจุบันเป็น ร.ร.อรพินพิทยา

ในอดีตเป็นทุ่งนา เป็นที่บรรจุอัฐิของ พญาแขนเหล็ก ซึ่งมีการขุดค้นหาสมบัติสืบมายาวนาน ถึงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ มีการขุดค้นครั้ง ใหญ่ ที่ได้พบ พระลือโขง พร้อมพระสกุลลำพูนอื่นๆ รวมทั้งพระแผง อย่างพระรอดแผง พระลือแผง พระหูยานแผง ที่มีคราบดินกรุสีน้ำตาลจับแน่นมาก

องค์นี้ของ เสี่ยศุภชัย สายัณห์ เป็นพระลือโขงสภาพงามสมบูรณ์ ที่มีพบเพียง ๗๐ องค์ ส่วนใหญ่เป็นพระชำรุด เพราะเนื้อพระมีความเปราะบาง บริเวณคอแตกหักง่าย ปัจจุบันพระองค์สภาพสมบูรณ์แบบนี้หายากมาก ราคามาตรฐานอยู่ที่หลักล้าน

...

เล่าตำนานแถมถึง พญาแขนเหล็ก ทหารเอกของพระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ซึ่งมีวีรกรรมการรบป้องกันเมืองหริภุญไชยหลายครั้ง ครั้งหนึ่งทำสงครามกับทัพหลวง ขุนหลวงวิลังคะ เจ้าเมืองมิลักขะนคร ซึ่งยกทัพ ๘๐,๐๐๐ คนมาตีหริภุญไชย พญาแขนเหล็ก และเจ้าชายมหันตยศ เจ้าชาย อนันตยศ จึงทำการสู้รบจนได้รับชัยชนะ

และได้สร้าง วัดสถิตย์ธรรมวนาราม (วัดกู่เหล็ก) ซึ่งสมัยนั้นรุ่งเรืองมาก มีพระสายป่าไปศึกษาพระไตรปิฎก วิปัสสนากรรม ฐาน หลังจาก พญาแขนเหล็ก ถึงแก่ กรรมบริวารได้นำอัฐิท่านบรรจุกู่ เพื่อระลึกถึงความกล้าหาญ

แต่ในสมัยของ พญากมลราช พุทธศักราช ๑๕๙๐ หริภุญไชยเกิดโรคห่า คนล้มตายมาก ชาวเมืองจึงหนีโรคร้ายไปจากเมือง วัดสถิตย์ ธรรมวนาราม จึงกลายเป็นวัดร้าง

ต่อมามีการขุดค้นและพบวัด ได้พบเจดีย์บรรจุอัฐิของพญาแขนเหล็ก จึงพบ พระลือโขง หรือ จามเทวีซุ้มเรือนแก้ว ซึ่งมีพุทธคุณวิเศษด้านความมั่นคง สมบูรณ์พูนสุข โชคลาภ

พระปิดตายันต์ยุ่ง เนื้อสัมฤทธิ์ หลวงปู่เอี่ยม วัดหนังฯ ของ นะ ณ กาญจน์.
พระปิดตายันต์ยุ่ง เนื้อสัมฤทธิ์ หลวงปู่เอี่ยม วัดหนังฯ ของ นะ ณ กาญจน์.

...

ต่อด้วย พระปิดตามหายันต์ (ยันต์ยุ่ง) เนื้อสัมฤทธิ์ (เงิน) หลวงปู่เอี่ยม วัดหนังฯ บางขุน เทียน กรุงเทพฯ

เป็นพิมพ์พบน้อย หายาก ลักษณะเป็นพระปิดตา เนื้อโลหะผสม เทหล่อโบราณแบบลอยองค์ มีการจัดวางอักขระเลขยันต์รอบองค์ทั้งหน้าหลัง ด้วยฝีมือช่างชั้นยอดคล้าย พระปิดตาหลวงพ่อ ทับ วัดทอง แต่ต่างตรงการสอดมือลอดเข้าในตักลงปิดทวารด้านล่าง เพราะวัดหนังฯที่วางมือทอดทับผ่านตักลงมาปิดทวาร และองค์พระวัดหนังฯจะแบนราบกว่าองค์นี้ ของ เสี่ยนะ ณ กาญจน์ สภาพแชมป์ ราคาหลายๆล้าน

พระปิดตา พิมพ์ชะลูดใหญ่ เนื้อผงจุ่มรัก หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง ของทนันท์ ยอดศรีมงคล.
พระปิดตา พิมพ์ชะลูดใหญ่ เนื้อผงจุ่มรัก หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง ของทนันท์ ยอดศรีมงคล.

ต่อด้วย พระปิดตา พิมพ์ชะลูดใหญ่ เนื้อผงจุ่มรัก พระครูโสภณศาสนกิจ (หลวงปู่กลิ่น) วัดสะพานสูง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ศิษย์เอกผู้มีอายุอยู่ทัน หลวงปู่เอี่ยม--ชาวบ้านเรียกท่านว่า “หลวงปู่ใหญ่”

...

ท่านเกิด พ.ศ.๒๔๐๘ ในสกุลจันทร์เปลี่ยน พออายุ ๑๑ ขวบ ได้เริ่มเรียนอักษรไทย ที่วัดท้ายเมือง และบวชเณรเรียนในอายุ ๑๗ ปี เรียนอักษรขอม-บาลีในสำนัก อ.อิน วัดหงส์รัตนาราม ธนบุรี จนอายุ ๑๙ ปี มารดาถึงแก่กรรมจึงสึกกลับไปอยู่บ้านเดิม ต.บ้านแพรก อ.เมือง

ปี พ.ศ. ๒๔๒๖ ย้ายไปอยู่กับ หลวงปู่เอี่ยม ที่วัดสะพานสูง ใน ฐานะศิษย์ พออายุครบก็อุปสมบท ณ วัดสะพานสูง เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘ จำพรรษาอยู่วัดสะพานสูงมาตลอด

และศึกษาวิปัสสนาเวชศาสตร์พุทธาคม จาก หลวงปู่เอี่ยม เมื่อหลวงปู่เอี่ยมมรณภาพ พ.ศ.๒๔๓๘ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแทน และยึดมั่นในวัตรปฏิบัติ และปฏิสังขรณ์วัด สนับสนุนด้านปริยัติจนมีความเจริญก้าวหน้าในสมณศักดิ์ และมรณภาพ เมื่อ ๘ ม.ค.๒๔๙๐ สิริอายุ ๘๒ ปี ๖๑ พรรษา

ตลอดอายุท่านสร้าง พระปิดตา ตามตำรับวิชาหลวงปู่เอี่ยม ๒ วาระ วาระแรก อายุครบ ๕ รอบ ๖๐ ปี พ.ศ.๒๔๖๘ วาระที่ ๒ อายุครบ ๖ รอบ ปี พ.ศ.๒๔๘๐ เป็น พระปิดตา ที่ ทำพิมพ์ใหม่ แบบ พระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม พิมพ์ชะลูดใหญ่ ด้วย เนื้อผงพุทธคุณล้วน จุ่มรัก มีจำนวนสร้างน้อย เพราะท่านมีอาการแพ้เนื้อรัก

พระของท่านกล่าวกันว่าหายากกว่าพระปิดตาหลวงปู่เอี่ยม องค์นี้ ของ เสี่ยทนันท์ ยอดศรีมงคล เป็นพระมรดกตกทอดจากตระกูลใหญ่ใกล้วัดที่บรรพบุรุษยืนยันว่าได้รับจากมือ “หลวงปู่ใหญ่”

เป็นพระสภาพงามสมบูรณ์ เนื้อในเป็นผงขาวอมเหลือง ผิวนอกเป็นเนื้อจุ่มรักที่แห้งสนิท เป็นรอยหดเหี่ยวย่น บางจุดล่อนหลุด บอกอายุความเก่าถึงยุคอย่างเป็นธรรมชาติ--พระแท้ ดูง่าย หายาก แบบนี้ ราคาอยู่ที่หลักมากแสน

พระหลวงปู่ทวด พิมพ์พระรอดใหญ่ เนื้อว่าน รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๙๗ วัดช้างให้ ของฐิการ ศุภวิรัชบัญชา.
พระหลวงปู่ทวด พิมพ์พระรอดใหญ่ เนื้อว่าน รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๙๗ วัดช้างให้ ของฐิการ ศุภวิรัชบัญชา.

องค์ต่อไปคือ พระหลวงปู่ทวด พิมพ์พระรอดใหญ่ เนื้อว่าน รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๙๗ วัดช้างให้ อ.โคกโพธิ์ ปัตตานี ที่แยกตามขนาดได้เป็น พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก หรือพิมพ์พระรอด

เริ่มสร้างเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๔๙๗ โดย คุณอนันต์ คณานุรักษ์ รับเป็นผู้อุปถัมภ์การจัดสร้าง กับ พระอาจารย์ทิม ธมมฺธโร เพื่อมอบสมนาคุณผู้บริจาคทรัพย์สร้างพระอุโบสถวัดช้างให้ โดยมอบหน้าที่ให้ พระครูธรรมกิจโกศล (อาจารย์นอง ธมฺมภูโต) วัดทรายขาว จัดหาว่านยา และดินกากยายักษ์ (ดินดำ) มาเป็นส่วนผสมเนื้อพระตามสูตรผสมมวลสาร ๓๒ ชนิด

ทำแม่พิมพ์พระด้วย หินมีดโกน ถอดเป็นพิมพ์พระด้วยครั่ง พระ ๓ ขนาด มีพิมพ์รวม ๑๖ เบ้าพิมพ์ แยกตามลักษณะใบหน้าองค์หลวงปู่เป็น ๑๖ แบบ

เริ่มพิมพ์องค์พระ เมื่อวันที่ ๑๙ มี.ค.๒๔๙๗ ถึงวันที่ ๑๕ เม.ย.๒๔๙๗ ได้พระทุกพิมพ์ รวม ๖๔,๐๐๐ องค์ ไม่ครบจำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ เพราะถึงกำหนดวันพิธีปลุกเสกแล้ว

องค์นี้ของ เสี่ยฐิการ ศุภวิรัชบัญชา เป็น พิมพ์พระรอดใหญ่ ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุด เป็น พิมพ์ A ของพระพิมพ์เล็ก ที่ปัจจุบันองค์สภาพสมบูรณ์สวยแชมป์แบบนี้ หายากสุดๆ ราคาอยู่ที่หลักล้าน

เหรียญหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ รุ่นโบสถ์ลั่น พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อนาก วัดทอง นพคุณ ของพายุ บ้านวัชรสาร.
เหรียญหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ รุ่นโบสถ์ลั่น พ.ศ. ๒๕๑๒ เนื้อนาก วัดทอง นพคุณ ของพายุ บ้านวัชรสาร.

ต่อด้วย เหรียญหลวงพ่อแดง–หลวงพ่อเจริญ รุ่นโบสถ์ลั่น พ.ศ.๒๕๑๒ เนื้อนาก วัดทองนพคุณ อ.เมือง จ.เพชรบุรี สร้างออกวัดทองนพคุณ โดยพระครูปัญญาโชติวัฒน์ (หลวงพ่อเจริญ) น้องชาย พระครูญาณวิลาศ (หลวงพ่อแดง) เพื่อหารายได้บูรณะถาวรวัตถุ วัดทองนพคุณ

โดยนำให้ หลวงพ่อแดง ปลุกเสกเดี่ยว ๑ พรรษาก่อนจัดพิธีพุทธาภิเษกที่วัดทองนพคุณ และนิมนต์ หลวงพ่อแดง เป็นประธาน ซึ่งเป็น ๑ ใน ๒ ครั้งที่ หลวงพ่อแดง รับนิมนต์ร่วมพิธีนอกวัด

ขณะประกอบพิธีในพระอุโบสถเกิดอัศจรรย์เสียงลั่นดังทั่วพระอุโบสถ จึงเรียกเป็น เหรียญรุ่นโบสถ์ลั่น

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มทรงกลม รูปไข่ ด้านหน้าเป็นองค์จำลองคู่หลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ ล้อมด้วยอักขระพระคาถาและอักษรบอกนามหลวงพ่อแดง-หลวงพ่อเจริญ

ด้านหลังกลางเหรียญเป็นยันต์แปด ด้านบนเป็นยันต์ครูของหลวงพ่อแดง ล้อมรอบขอบเหรียญด้วยอักขระพระคาถา มีเนื้อ ทองคำ นาก เงิน ทองแดง--เหรียญนี้ของ เสี่ยพายุ บ้านวัชรสาร เป็น เนื้อนาก ที่มีพบน้อยสุด ในวงการพบแค่หลักสิบ น้อยกว่าเนื้อทองคำ โดยเฉพาะเหรียญสภาพงามสมบูรณ์เดิมๆแบบนี้ ที่เจ้าของบอกได้มาราคาเหยียบล้าน

เหรียญเสมาเนื้อเงินลงยา (แดง) รุ่นฉลองวิหาร พ.ศ.๒๕๖๖ พระอาจารย์ดิเรก วัดหนองทราย ของบอมเบย์ สุพรรณ.
เหรียญเสมาเนื้อเงินลงยา (แดง) รุ่นฉลองวิหาร พ.ศ.๒๕๖๖ พระอาจารย์ดิเรก วัดหนองทราย ของบอมเบย์ สุพรรณ.

อีกสำนักเป็น เหรียญเสมา เนื้อเงินลงยา (แดง) รุ่นฉลองวิหาร พ.ศ.๒๕๖๖ พระอาจารย์ดิเรก วัดหนองทราย จ.สุพรรณบุรีจัดสร้างตามจำนวนสั่งจอง ประกอบพิธีพุทธาภิเษกยิ่งใหญ่โดยพระเกจิฯแห่งยุคกว่า ๗๐ รูป นั่งปรกอธิษฐานจิต ๓ วาระ หลังเสร็จพิธีทางวัดประกาศหยุดสร้างวัตถุมงคล ๓ ปี

เป็นเหรียญกลมรูปไข่ เนื้อเงิน หูเชื่อมลงยาด้านหน้าเป็นรูปองค์จำลองท่านนั่งเต็มองค์ ด้านหลังเป็นอักขระยันต์ชั้นเยี่ยม ที่มีอานุภาพครอบ จักรวาล

จัดสร้าง ๓ สี คือ ลงยาแดง ๑,๓๗๐ เหรียญ ลงยาน้ำเงิน ๖๐๓ เหรียญ ลงยาสีเขียว ๖๙๙ เหรียญ องค์ในภาพของ เสี่ยบอมเบย์ สุพรรณ ศิษย์สายตรง เป็น เหรียญลงยาสีแดง นิยมสุด สภาพเนี้ยบเดิมๆแบบนี้หาพบยากมากๆ

เรื่องปิดท้ายวันนี้ เล่าถึง เสี่ยพิเชษฐ์ นักนิยมพระเครื่องตัวเอ้ แต่ห่างวงการไปเรียนต่ออเมริกา พอจบปริญญาโทก็อยู่ทำงานต่ออีก ๑๕ ปี รวมแล้วอยู่อเมริกาเกือบ ๒๐ ปี เพิ่งตัดสินใจกลับมาบ้านเกิดเมื่อวันเข้าพรรษา

พักอยู่บ้านคุยกับญาติพี่น้องได้ ๒ วัน ก็นึกถึงสนามพระ ชวนญาติรุ่นพี่ไปไหว้องค์พระประธานกับรูปเหมือนสมเด็จฯโต ที่วัดระฆังฯ และอธิษฐานนิ่งอยู่พักใหญ่ ก็ไปต่อที่สนามพระใหญ่กลางกรุง

ก็ไปเจอเซียนมืออาชีพรุ่นเก่าที่คุ้นเคยกันซึ่งเปิดร้านใหญ่ในศูนย์ก็จำกันได้ พูดคุยทักทายกัน เซียนก็เอากล่องบรรจุพระเครื่องออกมาให้ดูตามที่ขอ มีพระสมเด็จวัดระฆังฯ ๑ องค์ บางขุนพรหม ๒ องค์

เสี่ยพิเชษฐ์ เห็นก็ชอบ แต่พอรู้ราคาก็บอกว่า ขอตั้งหลักหาเงินสักพัก แล้วก็ลากลับ และบอกให้ญาติแวะวัดระฆังฯอีกครั้ง ญาติถามว่าแวะอีกทำไม ลืมอะไร เสี่ยพิเชษฐ์ ตอบว่า ไม่ได้ลืม แต่จะไปตั้งจิตอธิษฐานขอสมเด็จฯโตใหม่ จากที่ขอให้ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ ๑ สักใบ เป็นขอให้ถูกรางวัลที่ ๑ เป็นชุด ๕ ใบ

เพราะใบเดียวได้แค่ ๖ ล้านไม่พอเช่าพระสมเด็จวัดระฆังฯ องค์นี้ ต้องไปขอใหม่ให้ถูกชุดใหญ่ ๓๐ ล้าน ถึงจะพอเช่าพระที่เซียนเปิด ราคาไว้ ๒๐ ล้าน เจ้าค่ะ อามิตตพุทธ.

สีกาอ่าง

คลิกอ่านคอลัมน์ “สนามพระ” เพิ่มเติม