องค์ในคอลัมน์วันนี้ “พระกริ่งใหญ่” ศิลปะในองค์พระ รูปพรรณสัณฐาน ผู้รู้รุ่นตำนาน คุณลิ้ม กรุงไทย บอกว่า สมัยราชวงศ์ถัง ความเก่าถึง 1,200 ปี

ความรู้เรื่องพระกริ่งจีน จำกัดอยู่ในวงเล็กๆ ต่อมาเมื่อถึง พ.ศ.2518 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี พลิกเกมการเมืองไทย หันไปจับมือกับท่านประธาน เหมา เจ๋อตง ประตู “จีนแดง” ที่เคยปิดสนิท เริ่มเปิดให้คนไทยเข้า

คนรักพระกริ่งเจอพระกริ่งจีน คล้ายกริ่งใหญ่ เรียกให้ต่างกันว่า พระกริ่งจีนใหญ่ และพระกริ่งขนาดย่อม กะไหล่ทองขายในร้าน ของเก่ากรุงปักกิ่ง ซื้อติดมือกลับมา เรียกกริ่งจีนรุ่นนี้ว่ากริ่งราชวงศ์ชิง เล่นหากัน เป็น “กริ่งนอก”

ย้อนมาว่ากันถึง “กริ่งใหญ่” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเคยเล่าถึงพระกริ่งที่ได้จากเขมร มีสองแบบ ใหญ่แบบหนึ่ง (กริ่งใหญ่) ย่อมแบบหนึ่ง (กริ่งบาเก็ง) องค์ใหญ่ ทรงเรียกตามคนสมัยนั้น (กริ่งปทุมสุริวงศ์)

ถ้าให้เดา ก็ต้องเดาว่า ค่านิยมพระกริ่ง.. เริ่มต้นในราชสำนัก สมัย ร.4

ในหนังสือ “ประชุมหนังสือเก่า ภาคที่ 1” หม่อมเจ้าปิยภักดีนารถ พิมพ์อุทิศส่วนกุศลถวายสนองพระเดชพระคุณ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร พ.ศ.2459 (กรมศิลปากร จัดพิมพ์ใหม่ พ.ศ.2552)

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ พระประวัติกรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร ไว้ว่า

ในรัชกาลที่ 2 ก่อนสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จะทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ประทับอยู่ที่พระ ราชวังเดิม ทรงมีหม่อมเจ้าชายลูกเธอ 2 พระองค์ เจ้าจอมมารดาชื่อน้อย เป็นธิดาพระอินทรอภัย โอรสพระเจ้าตาก

หม่อมเจ้าชายองค์ใหญ่ กรมหมื่นมเหศวร ศิววิลาส ประสูติ พ.ศ.2365 องค์น้อย กรมหมื่นวิษณุนารถนิภาธร ประสูติ พ.ศ.2367 องค์น้อยประสูติได้เดือนเศษ พระจอมเกล้าฯก็ทรงผนวชได้ 15 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯก็สวรรคต ไม่ได้ทรงมอบเวนศิริราชสมบัติแก่พระราชวงศ์พระองค์ใด

...

พระราชวงษานุวงศ์แลข้าราชการปรึกษากัน ถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงปลงพระทัยที่จะครองผนวชทรงศึกษาธรรมวินัยในพระพุทธศาสนาต่อ

สมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ฯทรงเลี้ยงดูสองพระโอรสพระจอมเกล้าฯไว้ที่พระราชวังเดิม เมื่อเจริญพระชันษา มีเรื่องเล่าบางกระแส พระภิกษุพระจอมเกล้าฯโปรดให้ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศ

กรมหมื่นมเหศวรฯไม่สมัครพระทัย หนีลา สิกขาไปอยู่เขาย้อย ส่วนกรมหมื่นวิศณุนารถฯ ถึงเวลาผนวช ก็ทรงลาสิกขาหนีไปอยู่กับพระบาทสมเด็จ พระปิ่นเกล้า ด้วยเป็นพระหลานเธอที่ทรงโปรด

พ.ศ.2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เสด็จผ่านพิภพ พระเจ้าลูกยาเธอทั้งสอง จึงได้เป็นพระองค์เจ้าขึ้นตามสกุลศักดิ์ ต่อมา กรมหมื่นมเหศวรฯ ได้รับกรม เมื่อ พ.ศ.2396 กรมหมื่นวิศณุนารถฯ ได้รับกรม พ.ศ.2399

เมื่อตั้งกรมหมื่นวิศณุนารถฯนั้น พระจอมเกล้าฯทรงพระราชนิพนธ์ โคลงพระราชทานพร เป็นโคลง 9 บท

นอกจากพร ยังมีเครื่องประกอบพระอิสริยยศ มีเข็มขัด แหวนนาม แผ่นชี้ดวงชะตา ดาบญี่ปุ่นฝักเคลือบยา ง้าวทวนคู่ ปืนแผด เครื่องชาทองแผ้ว ถ้อยหยก จนถึงโคลงบทที่ 8 ของพระราชทานสำคัญคู่สุดท้าย

พระพุทธรูปสั่นกริ่งแท้ โบราณ..(และ) อีกพระงาคชสาร เสวตรแท้

นี่คือหลักฐานชี้ว่า พระพุทธรูปสั่นกริ่งแท้.. เป็นของพระมหากษัตริย์พระราชทานให้พระโอรส

พอเข้าใจได้ คำว่า “พระกริ่ง” เริ่มเรียกกันสมัยนั้น จนถึง พ.ศ.2525 ในงานฉลองกรุงรัตน โกสินทร์ 200 ปี มีข่าวออกมาว่า พบพระกริ่งใหญ่ในพระบรมมหาราชวัง 5 องค์

พระกริ่งใหญ่ จำนวนมีน้อย สมัยรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ได้ทรงสร้างพระกริ่งปวเรศถวายพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ได้ทรงผนวชในวัดบวร..

และนี่คือตำนานบทแรกของพระกริ่ง ที่สร้างในเมืองไทย ที่เรียกว่า กริ่งใน.

พลายชุมพล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม