ปัญหาหนึ่งของคนรักพระสมเด็จฯก็ คือ "ขนาด" เพราะหากเรียนรู้จากภาพถ่ายพระแท้..ที่ว่ากันว่าเป็นมาตรฐานวงการ กระบวนการอัดขยายภาพ เอามาพิมพ์ลงในหนังสือ..มีผลให้ไม่รู้ว่า ที่ว่าพิมพ์ใหญ่ พิมพ์ย่อม หรือพิมพ์เล็ก..ในองค์พระจริงนั้น ใหญ่ ย่อม เล็ก แค่ไหน?

วันนี้เรามีสมเด็จวัดระฆัง เส้นสายลายพิมพ์เข้าสูตรทรงเจดีย์ ขนาดของพระดูผิวเผิน เล็กย่อมมากกว่าสมเด็จพิมพ์ที่คุ้นตา ไปถึง 1 ใน 4 จะเทียบกับ 5 พิมพ์ทรงเจดีย์ ทฤษฎี “นิรนาม” สำนักท่าพระจันทร์ ก็ยังเทียบไม่ได้

เปิดปริอรรถาธิบายแห่งพระเครื่อง เล่มพระสมเด็จ (พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ.2520) ครูตรียัมปวาย ท่านจำแนกทรงเจดีย์ไว้สี่พิมพ์ พิมพ์เขื่อง พิมพ์ชะลูด พิมพ์สันทัด พิมพ์ย่อม

คำ “ย่อม” ของตรียัมปวาย..ย่อมแค่ไหน ครูอธิบาย ย่อมกว่าพิมพ์สันทัดนิดหน่อย

ยุ่งละซี! เพราะขนาด “สันทัด” ของครูคนที่ไม่เคยได้จับองค์จริง ก็ยังไม่รู้...พอครูบอกขนาดย่อม ย่อมกว่าสันทัด...ก็ต้องมโนกันไปไกล ขนาดพระแท้สองพิมพ์ที่ว่า เท่าไหร่กันแน่

ค่อยๆถอยหลังมาตั้งหลัก หาจุดมโนกันใหม่ ...พระสมเด็จวัดระฆัง 5 พิมพ์มาตรฐาน พิมพ์ใหญ่ ทรงเจดีย์ ฐานแซม เกศบัวตูม ขนาดที่ว่าใหญ่เต็มที่ วัดระยะห่างสองซุ้มล่าง ไม่เกิน 2.4 ซม. (ความสูงสัมพันธ์ 3.6 ซม.)

ขนาดย่อม..สุด สองเส้นซุ้มล่าง 2 ซม.ความสูงสัมพันธ์สองเท่า 3 ซม.

หาหลักยึดจากหนังสือพระเครื่อง เล่มตรียัมปวาย และเล่มประชุม กาญจนวัฒน์ ที่น่าเชื่อว่าท่านควบคุมขนาดพระแท้ในหนังสือได้ใกล้เคียงพระจริง...ขนาดของพิมพ์ย่อม...สองเส้นซุ้มล่าง อยู่ในเกณฑ์กว้างไม่เกิน 2 ซม.

เอาล่ะ! เราสมมติความเชื่อกันว่า สมเด็จพิมพ์ย่อมที่สุด...มี และขนาดก็แค่นี้

หมดข้อสงสัยขนาด มาถึงแม่พิมพ์ทรงเจดีย์พิมพ์ย่อม สองพิมพ์ที่คุ้นตา พิมพ์หนึ่งชะลูด และองค์พระมักบิดเบนไปขวา และอีกพิมพ์องค์พระไม่เอียง จนดูได้ว่าน่าจะเป็นอีกพิมพ์เรียกไม่เป็นทางการ ทรงเจดีย์พิมพ์เล็ก

...

ทรงเจดีย์องค์ในคอลัมน์ สัดส่วนเล็กกว่า ขนาดกว้างกว่า ละม้ายไปทางป้อม ทั้งยังติดพิมพ์ตื้น ดูผิวเผินถือว่า “ผิดตา” ตามด้วยคำว่า “ผิดพิมพ์” ถ้าเซียนหลุดคำนี้ ก็หมายความว่าเป็นพระปลอม

แต่จะว่าไปวงการก็ไม่ถือข้อนี้เคร่งครัดนัก ในชุดพระดัง ของเฮียหนึง ปรีดา อภิปุญญา มีทรงเจดีย์พิมพ์เล็กขนาดเท่าองค์นี้ เพียงแต่เซียนดูผิวพรรณที่ละเอียดแน่น ออกไปทางหนึกแกร่ง แล้วอ่านว่าเป็นบางขุนพรหม

จึงมาถึงข้อสรุปต่อมา ว่ากันด้วยแม่พิมพ์ ทรงเจดีย์พิมพ์เล็ก เท่านี้มี

จาระไนยืดยาวด้วยเรื่องเส้นสาย และขนาดของพิมพ์ พิจารณากันด้วยเหตุผลแล้วเชื่อได้ว่าพิมพ์ใช่

คราวนี้ก็มาถึงข้อพิจารณา เรื่องเนื้อหา ที่จะตัดสินว่า “เนื้อใช่” หรือไม่?

ข้อเด่นสุดขององค์นี้ก็อยู่ที่เนื้อหา...เนื้อส่วนที่ถูกมือจับต้อง เปิดผิวแป้งโรยพิมพ์ออก

นี่คือเนื้อที่ครูตรียัมปวาย ท่านเรียกเกสรดอกไม้ ชื่อพอมโนถึงความละเอียดนุ่มนวลของเนื้อได้ไม่ยาก

เส้นซุ้มด้านซ้าย หลุดล่อน โค้งซุ้มด้านขวา และพื้นผนังมีรอยยุบรอยแยก ยืนยันธรรมชาติสมเด็จวัดระฆัง

ด้านหลัง แสดงร่องรอยการเคยถูกเลี่ยมใช้ ...เปิดผิวปูนเห็นเนื้อในปรากฏเงาสว่างนุ่มซึ้งตา สลับเม็ดมวลสาร กากดำ เม็ดแดง ก้อนขาว ริมขอบหลังที่พ้นการสัมผัสพระเลี่ยมปิด...

เห็นเป็นฝ้าปูนขาว ที่เรียกกันว่า ผิวแป้งโรยพิมพ์ ตัดสีกับส่วนที่เนื้อสึกช้ำ

พระสมเด็จที่ปรากฏสภาพถูกใช้ช้ำอย่างนี้ ถ้าเปรียบเพชร ก็เป็นเพชรที่เจียระไนแล้ว ดูด้วยมิติของพระ...ก็จะเห็นน้ำเพชร (เงาสว่าง) แวววับจับตา

สรุปด้านเนื้อหาก็ลงตัวที่ “เนื้อใช่” และเมื่ออ่านประเด็นศิลปะแม่พิมพ์ทรงเจดีย์พิมพ์เล็ก ฝีมือเดียวกับที่เราเชื่อกันว่า ของหลวงวิจารณ์เจียรนัยก็จบกันง่ายๆ เราได้พระแท้ขึ้นคออย่างมั่นใจอีกองค์.

พลายชุมพล

คลิกอ่านคอลัมน์ “ปาฏิหาริย์จากหิ้งพระ” เพิ่มเติม