ชื่อของ ‘โอ๊ต บางแพ’ หนึ่งในเซียนพระที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงการพระเครื่อง และตลอดระยะกว่า 20 ปีที่คร่ำหวอดในวงการนี้ ก็เป็นเซียนพระอีกคนที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้และแพชชัน (Passion) ขณะเดียวกันก็ประสบความสำเร็จหลากหลายแง่มุม ซึ่งการได้รับความเคารพชื่นชมในฐานะอาจารย์ก็ทำให้พร้อมส่งต่อความรู้ไปยังผู้อื่นที่หลงใหลเรื่องเดียวกันนี้อยู่เสมอ โดยมีความมุ่งมั่นอีกส่วนหนึ่งคือ อยากเห็นคนในวงการเดียวกัน รวมถึงผู้ที่ก้าวเท้าเข้ามาใหม่ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผู้ฉวยโอกาส วันนี้ ‘โอ๊ต บางแพ’ หรือ ‘อาทิตย์ นวลมีศรี’ จึงไม่ได้เป็นเพียงเจ้าของตลาดนัดพระเครื่องภาคตะวันตก (ตลาดกอบกุล จังหวัดราชบุรี) เป็นประธานชมรมพระเครื่องเพื่อนพ้องน้องพี่ภาคตะวันตก และเป็นหัวหอกกลุ่ม ‘สันขวาน’ ที่ถ่ายทอดความรู้เรื่องพระเครื่องผ่านโซเชียลมีเดียเท่านั้น แต่ยังก้าวสู่การพัฒนาแอปพลิเคชันในชื่อ ‘SK Check’ ช่องทางตรวจสอบพระเครื่องกับกูรูตัวจริง ที่มีเทคโนโลยีเป็นตัวเชื่อมเพื่อสร้างมาตรฐานใหม่ให้วงการพระเครื่องอีกด้วย

จากนักสะสมธรรมดาสู่เซียนพระระดับประเทศ

คงไม่ผิดนักหากจะบอกว่าพระเครื่องสามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้ชายธรรมดาๆ คนหนึ่งไปตลอดกาล แต่นั่นก็ไม่ใช่เพียงเพราะโชค ทั้งหมดเกิดจากความหลงใหล ความเชื่อ และจังหวะของชีวิตด้วย

“เราอยู่ในสังคมที่ถูกปลูกฝังเรื่องความเชื่อ เรื่องวัตถุมงคลต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก ก็เลยเกิดเป็นความชอบ ความหลงใหลขึ้น จนกระทั่งเริ่มสะสม และสะสมมาเรื่อยๆ จนมีกลุ่มคนรู้จักที่พูดคุยในเรื่องที่ชอบเหมือนๆ กัน แต่ก็ยังไม่ได้เข้าวงการในลักษณะของการทำเป็นอาชีพ จนกระทั่งมีจุดเปลี่ยนในชีวิตเกิดขึ้น นั่นคือเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ช่วงประมาณปี 2542 จากการหลับใน จริงๆ ด้วยความที่ตอนนั้นทำอาชีพค้าขายอาหารทะเลที่ต้องขับรถกลางคืนก็เกิดอุบัติเหตุบ่อย แต่ครั้งที่หนักและรอดมาได้แบบปาฏิหาริย์ ก็เลยทำให้มีความเชื่อในพุทธคุณจากพระที่เรามีอยู่มากขึ้น หลังจากนั้นก็เริ่มถามตัวเองว่า ถ้าเราจะเปลี่ยนอาชีพ มีอาชีพไหนที่เราจะทำได้อีกบ้าง ก็พบว่าสิ่งที่เราชอบสิ่งนี้น่าจะเป็นอาชีพได้”

โอ๊ต บางแพ บอกว่า ตัวเองโชคดีที่สามารถนำเอาความชอบมาทำเป็นอาชีพได้ ทว่าความชอบที่ว่าก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน เพราะเขาค่อยๆ เก็บเกี่ยวความรู้ความเข้าใจ ขณะเดียวกันก็สะสมพระเครื่องเป็นส่วนตัวอยู่จำนวนหนึ่งในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จนวันหนึ่งเมื่อต้องการเปลี่ยนสิ่งที่ชอบให้เป็นอาชีพ และสามารถสร้างรายได้ สิ่งนี้จึงเกิดขึ้นได้ และค่อยๆ ต่อยอดมาจนถึงปัจจุบันที่ไม่ใช่แค่การซื้อขาย แต่ได้ศึกษาจนค่อยๆ เข้าใจ ‘ดูพระเป็น’ มากขึ้น และสามารถส่งต่อความองค์รู้ที่ตัวเองมีไปยังผู้อื่นได้ นับตั้งแต่สมัยที่เป็นคอลัมนิสต์ให้กับ ‘นิตยสารพระเครื่อง’ สื่อด้านพระเครื่องที่มียอดขายสูงสุดในยุคนั้น โดยรู้จักในฐานะเซียนพระที่ใช้นามปากกาว่า ‘โอ๊ต ลูกแก’ รวมถึงเป็นผู้เขียนและจัดทำหนังสือ ‘คัมภีร์พระเครื่องเมืองราช’ ในนาม ‘อาทิตย์ นวลมีศรี (โอ๊ต บางแพ)’ จนกระทั่งมีความเชี่ยวชาญในการ ‘ดูพระ’ จากการศึกษาจากวิธีการผลิต

“คนที่เข้ามาในวงการพระเครื่องแทบทุกคนล้วนแต่ก็อยากดูพระเป็น อยากรู้ว่าอันไหนพระแท้ อันไหนไม่แท้ กับอีกส่วนหนึ่งคือคนที่เห็นช่องทางว่ามันจะสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ บางคนก็หวังจะรวยเร็วจากสิ่งที่ตัวเองมี แต่ผมจะบอกเสมอว่า อยากดูพระเป็น ต้องอาศัยเวลา ค่อยๆ ศึกษาและอยู่กับมันอย่างต่อเนื่อง ผมว่าทุกๆ วงการคงไม่ต่างกัน ถ้าคนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องนั้นๆ อย่างดีพอ ก็จะไม่ตกเป็นเครื่องมือของคนที่เห็นช่องว่างของการแสวงหาผลประโยชน์จากความไม่รู้ของคนอื่น”

ในวงการแห่งศรัทธาที่มีหลายเหลี่ยมมุม

เมื่อคนนอกวงการพระเครื่องมองเข้าไปในวงการ คนส่วนใหญ่มักมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ด้วยความที่เต็มไปด้วยความไม่รู้อีกมากเกี่ยวกับพระเครื่องหลากหลาย ทว่าก็มีภาพหนึ่งเกิดขึ้นในหัวเสมอ นั่นคือความรู้สึกประหลาดใจเมื่อได้ทราบว่าพระเครื่องมีมูลค่ามหาศาล รวมถึงเป็นของสะสม เป็นสิ่งที่แสวงหาของผู้มีศักยภาพในการ ‘จ่าย’ เพื่อสิ่งนี้จำนวนมาก

“สำหรับคนนอกวงการก็อาจมองว่ามันเป็นเรื่องของการซื้อขายพระ หรือเป็นเรื่องของสะสมประเภทหนึ่ง แต่ก็มีคำถามว่า ทำไมคนถึงได้แสวงหาและอยากครอบครองพระองค์นั้นองค์นี้ นั่นก็เพราะสิ่งที่เขาหาและอยากได้มามากกว่าแค่ตัวพระ แต่คือ ‘พุทธคุณ’ หรือพุทธคุณจากพระองค์นั้นๆ นั่นแปลว่าคนที่ต้องการ เขาไม่ได้ซื้อหรือบูชาพระที่เป็นเพียงแค่ตัววัตถุ แต่เขาบูชาพุทธคุณ เขาถึงได้แสวงหา พุทธคุณมาจากอะไร พุทธคุณก็มาจากความเชื่อที่ว่า ผู้ใดที่ได้บูชา หรือครอบครองพระองค์นั้นๆ ผู้นั้นจะได้รับคุณประโยชน์ด้านใดด้านหนึ่งต่อชีวิต ก็เป็นเรื่องของความเชื่อที่สืบทอดกันมา แต่ก็เป็นความเชื่อจากการที่ได้เห็น หรือได้ทราบว่ามีผู้ที่ได้ถือครองพระองค์นั้นๆ ได้รับคุณนั้นๆ ปรากฏสืบทอดกันมาด้วย”

แต่ปฏิเสธไม่ได้อีกเช่นกันว่า ในอีกมุมหนึ่งพระเครื่องก็เปรียบเสมือนของสะสมมูลค่าสูง และเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนหนึ่งหลงใหล ขณะเดียวกันก็พร้อมแสวงหาพระเครื่ององค์ต่างๆ ที่มีความพิเศษในแง่มุมต่างๆ ตั้งแต่ความเก่าแก่ การหาได้ยากยิ่งในวงการของนักสะสม ไปจนถึงเสียงเล่าอ้างถึงคุณแห่งพุทธคุณที่บอกเล่าสืบกันมา และนั่นเป็นเหตุผลหนึ่งของมูลค่าที่พุ่งสูง และมีคนจำนวนหนึ่งก้าวเข้ามาในวงการนี้ด้วยแรงปรารถนาบางประการ

“ถ้าให้เปรียบเทียบ วงการพระเครื่องก็เหมือนวงการของนักสะสมวงการอื่นๆ ที่ต่างแสวงหาของที่พิเศษ ของที่หายาก ของที่คนอื่นหาไม่ได้แล้ว จริงๆ วงการพระเครื่องไม่ได้มีราคากลาง ถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือว่า พระที่หายาก พระที่ยิ่งเก่า ก็ยิ่งมีราคาสูง ไม่ต่างจากคนที่สะสมอื่นๆ เพียงแต่สำหรับพระเครื่องแล้ว ก็จะมีเรื่องความเชื่อของพุทธคุณเป็นส่วนผสมกับความเก่าแก่ของตัวพระจากปีที่เป็นต้นกำเนิด คนก็พยายามจะมองหาพระเก่า อยากดูพระเป็น แต่เวลาใครก้าวเข้ามาในวงการพระเครื่อง ผมจะบอกเสมอว่าอย่ารีบร้อน ศึกษาให้รู้ก่อนแล้วค่อยตัดสินใจจ่ายเงินแลกกับสิ่งที่เรารู้ ยกตัวอย่างเรื่องพื้นฐานที่สามารถนำไปประกอบเป็นความรู้ได้ก็ เช่น การศึกษาพระเครื่องจากวิธีการผลิต เนื่องจากการผลิตพระของแต่ละยุคจะแตกต่างกันไป เมื่อพอรู้วิธีการผลิตได้ ก็จะรู้วิธีการดูพระเบื้องต้นเป็น เป็นต้น”

เทคโนโลยีคือเครื่องมือ ที่จะทำให้คนไม่ตกเป็นเครื่องมือ

ความที่พระเครื่องอาจมีมูลค่ามหาศาล ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะมีคนหน้าใหม่ก้าวเข้ามาเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ในวงการนี้อยู่เสมอเช่นกัน โดยเฉพาะโอกาสจากการสร้างรายได้มากกว่า ทว่าวงการพระเครื่องก็ไม่ต่างจากวงการอื่นๆ ตรงที่คนไม่รู้ก็จะตกเป็นเครื่องมือ หรือเสียประโยชน์ที่ไม่ควรเสีย ให้กับผู้ที่มีความรู้มากกว่า และคงไม่ต่างจากทุกวงการที่มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ช่องว่างจากความไม่รู้ของคนก็อาจกว้างขึ้นจนกลายเป็นช่องทางในการแสวงโอกาสแบบผิดๆ เช่นกัน สำหรับวงการพระเครื่องนั้น โอ๊ต บางแพ เล่าว่า มีให้เห็นตั้งแต่เรื่อง ‘ราคาทิพย์’ ไปจนถึงช่องว่างจากการทำใบรับรอง หรือ Certification ที่ทำให้เกิด ‘ใบเซอร์เทียม’ แม้ที่ผ่านมากูรูและเซียนพระผู้คร่ำหวอดในวงการจะมองเห็นสิ่งนี้และรวมตัวกันเพื่อลดช่องทางจากการแสวงหาผลประโยชน์ที่ผิด ทั้งการจัดประกวดพระเครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพบปะของเซียนพระและกูรูตัวจริง แต่ก็ไม่เท่าทันการเดินหน้าของนักขายในโซเชียลมีเดีย

…ในวงการพระเครื่องจะมีคำว่า ‘เซียนพระ’ ก็คือผู้รู้ มีคำว่า ‘นักเลงพระ’ ซึ่งหมายถึงเซียนพระที่กล้าได้กล้าเสีย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ที่ทำให้เราพูดกันมากขึ้นว่า วงการพระเครื่องกำลังจะถึงทางตัน นั่นคือการมีนักขายที่ปลอมตัวเป็นผู้รู้หรือเซียนพระ หรือเป็นนักเลงพระ แต่เขาไม่ได้มีความรู้ มีแค่สื่อโซเชียลมีเดียที่สามารถทำตัวเป็นผู้รู้ได้ง่าย แล้วแสวงหาผลประโยชน์จากคนไม่รู้ ประกอบกับวงการพระเครื่องไม่ได้มีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเหมือนวงการอื่น ก็ยิ่งเป็นช่องว่างให้คนเข้ามาหาผลประโยชน์จากวงการพระเครื่องได้ง่าย และไม่มีความผิด สิ่งที่เปลี่ยนไปในวงการพระเครื่องในช่วงหลังๆ ที่ผ่านมาคือ โจรมากกว่าเซียน”

“เรารวมตัวกันมากว่า 8 ปี เพื่อที่จะทำให้คนไม่รู้ รู้เท่าทันคนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์มากขึ้น การเกิดขึ้นของ ‘กลุ่มสันขวาน’ เองก็หวังอยากให้องค์ความรู้ที่เรามี สร้างคุณค่าและประโยชน์ให้กับคนอื่นๆ ได้ เราจึงสร้างกลุ่มผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย ไลฟ์เพื่อพูดคุยให้ความรู้ แต่ก็ไม่ทันนักขายอยู่ดี บางคนได้รับพระเครื่องเป็นมรดกมา และบางองค์มีมูลค่าสูงมาก แต่เขาอาจจะไม่รู้ เมื่อไปถามเซียนพระจึงมีมากที่โดนหลอกซื้อในราคาถูกๆ สาเหตุที่เซียนหลอกเจ้าของพระได้ หรือเจ้าของพระถูกหลอก เพราะความไม่รู้และไม่มั่นใจว่าพระตัวเองแท้ การจะดูพระเป็นบางครั้งต้องใช้เวลาศึกษานานหลายปี หากเจ้าของพระมีความรู้และมั่นใจว่าพระของตนแท้ เซียนก็หลอกไม่ได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อยมากๆ เมื่อเทียบกับสถิติที่ชาวบ้านนำพระไปปล่อยเซียนแล้วถูกซื้อไปในราคาถูกๆ เพราะความไม่รู้ แทนที่พระเครื่องที่เป็นมรดกในบ้านตัวเองจะได้ช่วยปลดหนี้ปลดสินให้กับเจ้าของพระ กลับถูกหลอกไปและไม่มีกฎหมายรองรับหรือเรียกร้องอะไรได้”

จนกระทั่งมาพบว่า เราก็สามารถใช้เทคโนโลยีให้มีประโยชน์ได้ ประกอบกับแนวคิดที่อยากคืนสิ่งดีๆ กลับวงการ เราจึงเริ่มต้นพัฒนาเครื่องมือชิ้นสำคัญเพื่อการตรวจเช็คพระเครื่องในมือขึ้นในชื่อ ‘SK Check’ โดยใช้แอปพลิเคชัน LINE เป็นตัวเชื่อมระหว่างคนทั่วไปกับกูรู หรือเซียนพระแขนงต่างๆ เจ้าของพระจะได้รู้ หรือหายคาใจ ว่าพระเครื่องที่ตัวเองมีอยู่นั้นเป็นพระแท้หรือไม่แท้ แอปฯ เช็คพระนี้จึงเป็นเหมือนเครื่องมือช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ให้กับคนทั่วไปที่มีพระ คือทำให้คนที่มีพระรู้ว่าพระเราแท้หรือไม่ ตรงรุ่นที่มีราคาหรือไม่ เพื่อที่หากจะนำออกไปปล่อยเช่าจะได้ไม่โดนหลอก เมื่อเขารู้ผลจากแอปฯ นี้ว่าพระเขาแท้ ก็จะไม่มีใครหลอกซื้อพระเขาในราคาถูกได้

‘SK Check’ จึงนับเป็นการผสานเทคโนโลยีการสื่อสารและผู้รู้ตัวจริงเข้าด้วยกัน ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยปิดช่องว่างของการไม่รู้ให้มากขึ้น โดยเริ่มต้นใช้งานง่ายๆ เพียงแค่เพิ่มเพื่อนกับ ‘SK Check’ ในแอปพลิเคชัน LINE ก่อนที่ระบบจะทำการยืนยันตัวตนอัตโนมัติ ซึ่งผู้ใช้จะต้อง ‘เติมเพชร’ ในระบบ เพื่อแทนค่าธรรมเนียมในการใช้บริการในแต่ละครั้ง ทั้งนี้ ยังสามารถใช้บริการทั้งเพื่อการตรวจเช็คพระเครื่อง ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางเพื่อการซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ที่เชื่อถือได้อีกด้วย

“เมื่อนำพระเครื่องมาเช็คกับ ‘SK Check’ ในแอปฯ จะมีคำตอบให้ใน 3 คำตอบ นั่นคือ ‘พระแท้’ ที่จะได้รับเป็นบัตรรับรองแบบดิจิทัล และสามารถลงขายได้กลุ่มได้ ส่วนคำตอบที่ 2 คือ ‘พระไม่แท้’ ซึ่งหากไม่แท้ ก็ต้องมีเหตุผลกำกับเพื่อคุยกับเจ้าของพระให้หายสงสัย ว่าทำไมถึงไม่แท้ แต่กรณีนี้ก็อาจมีข้อสงสัยหรือมีประเด็นได้ โดยเฉพาะเมื่อพระที่คนอื่นดูว่าแท้ แต่เซียนของเราในแอปฯ ดูแล้วบอกว่า ไม่แท้ กรณีที่มีประเด็นลักษณะนี้ กลุ่มสันขวานโชว์จะหยิบเอาพระที่มีประเด็นนั้นมาร่วมถกกันในไลฟ์สด วิเคราะห์ร่วมกัน ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีที่เราจะได้ให้ความรู้ผู้คนไปด้วย โดยตั้งแต่เปิดบริการแอปฯ นี้มา 3 เดือน และได้ตรวจเช็คพระไปแล้วกว่า 1 แสนองค์ มีประเด็นข้อสงสัยและร้องเรียนประเด็นลักษณะนี้น้อยกว่า 50 องค์ ซึ่งในจำนวนทั้งหมดเหล่านั้นเราสามารถอธิบายจนกระจ่างชัด และเจ้าของพระก็แฮปปี้กันทุกประเด็น กล่าวได้ว่าแอปฯ มีมาตรฐาน และมีความแม่นยำค่อนข้างสูง

นอกจากสองคำตอบที่ว่า พระแท้กับพระไม่แท้ อีกคำตอบหนึ่งจากแอปฯ ‘SK Check’ คือ ‘ไม่ออกผล’ ซึ่งการไม่ออกผลก็อาจจะเกิดขึ้นจากทั้งความรู้ของเซียนพระของเราที่มีไม่ถึง หรือภาพที่ส่งมาเช็คผ่านแอปฯ ไม่ชัดเจน หรือสำหรับพระเครื่องบางรุ่นแล้วก็ต้องเช็คผ่านพระตัวจริงเท่านั้น จึงจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องจริงๆ ทั้งนี้ หากไม่ออกผลก็จะไม่เก็บค่าธรรมเนียม แต่จะให้ข้อมูลเบื้องต้นไว้ว่า จุดไหนที่ดูแล้วอาจจะเหมือนแท้ หรือจุดไหนที่ดูเหมือนไม่แท้ และหากต้องการทราบแน่ชัดจริงๆ จะแนะนำให้นำพระองค์จริงมาเช็คกับเซียนพระแขนงนั้นๆ โดยตรง”

วันนี้แอปพลิเคชัน ‘SK Check’ วางตัวทำหน้าที่เพื่อให้ผู้คน “หมดสงสัยกับพระที่คุณสงสัย” ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญไม่ใช่การสร้างรายได้ แต่เป็นแรงปรารถนาของ โอ๊ต บางแพ และกลุ่มสันขวาน ที่อยากให้ความชัดเจนกับพระเครื่องให้ได้มากที่สุด เพื่อลดช่องว่างของการฉกฉวยโอกาสลง

“ทีแรกผมตั้งใจจะเกษียณ ซื้อที่เตรียมไว้ว่าอยากทำสวน แต่ได้รับคำชักชวนเรื่องการทำแอปพลิเคชันเพื่อให้เป็นช่องทางในการตรวจสอบพระเครื่องขึ้น ก็รู้สึกว่าน่าสนใจ เพราะส่วนตัวมีแนวคิดที่อยากคืนสิ่งดีๆ กลับวงการที่มอบสิ่งต่างๆ ให้เรามากมายอย่างในวันนี้ ถ้าหากเราสามารถทำให้คนตกเป็นเครื่องมือของผู้ที่พบช่องฉวยโอกาสลดลงได้ นั่นก็เรียกว่าเป็นความสำเร็จ เพราะเป้าหมายแท้จริงของ ‘SK Check’ ที่วางไว้ไม่ได้อยู่ที่รายได้ แต่คือการที่เราจะสามารถได้ให้ความชัดเจนกับพระเครื่องในประเทศให้ได้มากที่สุด ซึ่งถ้าแอปฯ นี้เข้าถึงคนได้มากที่สุด และช่วยเหลือคนได้มากที่สุด ก็เรียกว่าตอบโจทย์การพัฒนาแล้ว ตัวเราจะมีความสุขมาก เมื่อได้เห็นว่าคนใช้ ‘SK Check’ แล้ว เขาได้รับประโยชน์จากแอปฯ นี้จริงๆ”

ข้อมูลเพิ่มเติมที่