เป็นหญิงแกร่งแห่งวงการเทคโนโลยีการสื่อสาร สุวิตา จรัญวงศ์ ที่มองเห็นโอกาสการเติบโตในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และการสื่อสาร
คุณปู–สุวิตา จรัญวงศ์ ผู้บริหารสาวแกร่งลูกครึ่งไทย-เยอรมัน แห่ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด ผู้นำด้านอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้งแพลตฟอร์มครบวงจร ชั้นนำของไทย เล่าว่า ตนเติบโตมาในครอบครัวนักธุรกิจผลิตน้ำมันพืชและมีคุณพ่อเป็นต้นแบบ ซึ่งคุณพ่อเป็นวิศวกรจึงออกแบบเครื่องจักรเอง คุณพ่อเป็นต้นแบบและเป็นแรงผลักดันให้เราอยากพิสูจน์ตัวเองว่าเราก็ทำได้ ประกอบกับคำแนะนำจากคุณพ่อที่อยากให้เลือกเรียนสายวิทยาศาสตร์ จึงตัดสินใจศึกษาเรื่องการเขียนโปรแกรมในระดับปริญญาตรี คณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งในยุคนั้นเป็นเรื่องใหม่มาก จากนั้นไปเรียนต่อปริญญาตรีด้าน Visual Design ที่มหา วิทยาลัยออริกอน สหรัฐฯ ทำให้ได้มุมมองด้านศิลปะเลยเกิดความคิดที่อยากนำศาสตร์ของวิทยาศาสตร์และศิลปะมาผสมผสานกัน จึงเรียนปริญญาโท Master of Fine Arts สาขา Computer Arts ที่ School of Visual Arts นิวยอร์ก เรียนเกี่ยวกับศาสตร์การใช้หน้าจอ ซึ่งในเมืองไทยในขณะนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก หลังจากเรียนจบก็ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานในบริษัทด้านเว็บดีไซน์ที่อเมริกา ในหน้าที่ UX specialist คอยประสานระหว่างโปรแกรมเมอร์กับดีไซเนอร์ หลังจากทำงานได้เพียงหนึ่งปีก็ตัดสินใจกลับเมืองไทยเพื่อมาช่วยกิจการที่บ้าน แต่ด้วยแพชชันอยากทำงานด้านการออกแบบและคอมพิวเตอร์ จึงกลับมาทำงานในตำแหน่ง Art Director ที่บริษัทรับออกแบบเว็บไซต์ทำได้หนึ่งปีก็ลาออกมาเปิดบริษัท Tellscore โดยร่วมกับเพื่อน ในปี 2001
“อยากพิสูจน์ตัวเอง อยากทำให้พ่อ-แม่ภูมิใจ จึงตัดสินใจมาเปิดบริษัทของตัวเอง เพราะถ้าไม่ลงมือตอนนั้นก็อาจจะสายเกินไป ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง เลยมองเห็นโอกาสและกล้าที่จะออกจาก comfort zone บอกตัวเองว่า เราต้องทำได้ ซึ่งตอนนั้นบริษัทรับออกแบบเว็บไซต์เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นจังหวะที่ดีมาก และสร้างโอกาส เพราะบริษัทต่างๆให้ความสำคัญกับเว็บไซต์ วันนั้นทำให้ได้เรียนรู้ว่าธุรกิจดิจิทัลเติบโตในยุคเศรษฐกิจตกต่ำชะลอตัว”
...
คุณปูเล่าต่อว่า Tellscore โดยปักธงด้านการเป็นที่ปรึกษาด้านอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งแพลต ฟอร์มครบวงจร เพราะตนมองว่า ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี เป็นเส้นทางที่มีความท้าทาย และมีโอกาสเติบโต โดยเป้าหมายต่อไปของคุณปูคือ สร้างมาตรฐานและคอมมูนิตี้ อินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์ของประเทศไทยให้เข้มแข็ง สร้าง Influencer Economy ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน สร้างเทรนด์ที่นำไปสู่ซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจประเทศไทยมากขึ้น
“ความท้าทายในการทำงานของปู คือ เราต้องเรียนรู้และปรับตัวตลอดเวลาคือ การบริหารคน เพราะบุคลากรเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนให้บริษัทไปสู่ความสำเร็จ สำหรับแนวคิดการบริหารงาน ยึดหลัก รู้จักถ่อมตัว ใช้อีโก้เป็นแรงขับเคลื่อน หมั่นหาข้อมูลและความรู้ตลอด และใช้สติในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างรอบคอบ”...หลักในการทำงานของหญิงแกร่งคนนี้
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่