รัฐบาลที่ดีต้องยึดถือผลประโยชน์ส่วนรวม
หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ยักษ์ใหญ่สารพัดสี จำหน่ายมากที่สุดของประเทศ ฉบับประจำวันเสาร์ที่ 26 ตุลาคม 2567 “ธนูเทพ” ประจำการรับใช้ท่านผู้อ่าน
...
มาถึงวันนี้ พรรคเพื่อไทย แกนนำรัฐบาล ยังต้องเผชิญ บ่วงนิติสงคราม อย่างต่อเนื่อง หลังจากเมื่อวันก่อน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้พิจารณาคำร้องกรณีมีบุคคลนิรนามยื่นร้องขอให้ยุบ พรรคเพื่อไทย และ 6 พรรคร่วมรัฐบาลเดิม ในยุครัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน โดยกล่าวหาว่า อยู่ภายใต้การครอบงำของทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่นัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนั้นเข้าร่วมหารือที่ บ้านจันทร์ส่องหล้า หลังจากเศรษฐาโดนศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี วางตัวให้ ชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรีแทน อดีตนายกฯเศรษฐา...โดย กกต. มีมติว่า คำร้องมีมูล พร้อมตั้ง คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ขึ้นมาพิจารณาภายใน 30 วัน...บรรจุสำนวนคำร้องเข้าสู่สารบบ เริ่มนับหนึ่งคดียุบพรรค รอเรียกผู้เกี่ยวข้องชี้แจง
...
และก็ตามมาติดๆอีกหนึ่งดอก เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญ มีการประชุมหยิบยกคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยสั่งให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ พรรคเพื่อไทย ยุติการกระทำอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ โดยอ้างว่าเคยยื่นคำร้องต่อ อัยการสูงสุด เมื่อวันที่ 24 ก.ย.2567 ขอให้อัยการสูงสุด ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้งสองเลิกการกระทำดังกล่าว แต่อัยการสูงสุด มิได้ดำเนินการภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้องจึงมายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยตรงนั้น...ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาของศาลว่าจะรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ จึงให้มีหนังสือแจ้ง อัยการสูงสุด เพื่อขอทราบว่าได้ดำเนินการตามคำร้องของผู้ร้องไปแล้วอย่างไร และ รวบรวมพยานหลักฐาน ได้เพียงใด โดยให้จัดส่งต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ...ตั้งแท่นเดินหน้ากระบวนการพิจารณา คดีล้มล้างการปกครอง งานนี้ อดีตนายกฯทักษิณ และ พรรคเพื่อไทย ทำได้แค่รอลุ้น ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่ ถ้ารับไว้พิจารณาก็ยากจะคาดเดาว่า สุดท้ายจะรอดหรือร่วง
...
...
เฮ้อ...ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.กทม. พรรคประชาชน ตั้งกระทู้สด สอบถาม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม เกี่ยวกับแนวคิด เก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ ภาษีรถติด โดยระบุว่าการเก็บภาษีรถติดมีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหารถติด เก็บภาษีรถยนต์ส่วนตัวที่เข้าพื้นที่จราจรคับคั่ง ทำในประเทศมีระบบคมนาคมดีขึ้น เช่น สิงคโปร์ อังกฤษ อิตาลี สวีเดน สหรัฐอเมริกา ในส่วน ประเทศไทย อยากทราบว่าการเก็บ ภาษีรถติด จะนำภาษีที่เก็บได้ไป เวนคืนรถไฟฟ้า หรือนำไป แก้ปัญหารถติด ให้ประชาชนมาใช้ ระบบขนส่ง มากขึ้น การแก้รถติดต้องแก้ที่ ระบบรถเมล์ การเดินรถเอกชน ไม่ครอบคลุมตามที่ทำสัมปทานไว้กับรัฐ จนประชาชนต้องขึ้นรถแท็กซี่แทน มั่นใจหรือไม่จะแก้ปัญหาสำเร็จ เพราะเหมือนต้องการจะหาเงินให้เอกชน บริษัทรถไฟฟ้า บริษัททางด่วน
ขณะที่ สุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม ได้ชี้แจงกระทู้ถามแทน รมว.คมนาคม ว่า ขณะนี้มี รถยนต์ 3.9 แสนคัน ต่อวัน วิ่งในพื้นที่คับคั่งของ กทม. การเกิดฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ กทม. มีสาเหตุหลักจากการสันดาปเครื่องยนต์ ถ้าจัดการแก้ปัญหารถติดได้ก็แก้ฝุ่นควันพิษได้ ทั้งนี้ การเก็บภาษีรถติด เป็นแนวคิดที่ให้ กระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพศึกษารูปแบบวิธีการ โดยหน่วยงานที่มีอำนาจจัดเก็บไม่ใช่กระทรวงคมนาคม อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าระบบ ขสมก. มีปัญหา อยู่ในขั้นตอนปฏิรูป แต่ไม่อยากให้มองว่าเรื่องนี้เป็นการหาเงินให้ใคร เพราะบ้านเมืองมีกฎหมายควบคุมดูแล
ทั้งนี้ ทางด้าน สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รอง นายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ได้ออกมาระบุเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดว่าจากการที่พยายามขยายให้มี รถไฟฟ้า 20 บาท ในเส้น อื่นๆเพิ่ม และกำลังเร่งดำเนินการ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม ที่จะเริ่มในเดือน ก.ย.2568 โดยต่อมามีการพูดถึงเรื่องของ การตั้งกองทุน ขึ้นมาเพื่อที่จะซื้อ รถไฟฟ้าทุกสาย โดยการที่จะซื้อรถไฟฟ้าทุกสายได้ การขนส่งทางรางก็ต้องมีแหล่งรายได้ด้วย เพื่อที่จะมีเงินไปซื้อรถไฟฟ้า และเมื่อดูการศึกษาในหลายประเทศเรื่อง แก้ปัญหารถติด ก็พบว่ามีการเก็บเงิน หรือเรียกว่า ภาษีรถติด โดย กระทรวงคมนาคม กำลังศึกษาว่าจะเก็บที่ไหน ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เชื่อว่าหากประชาชนใช้รถไฟฟ้าในราคาถูกมากๆ ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมทั้งหากคนลดใช้รถส่วนตัวไปใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นก็จะช่วยลดปัญหามลภาวะ อย่างไรก็ตาม เรื่องของ การเก็บภาษีรถติด จะให้มีการศึกษาก่อนว่า มีผลดี หรือ ไม่ดีอย่างไร จากนั้นก็จะชี้แจงให้ประชาชนรับทราบ โดยน่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี แต่เรื่องของ รถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ต้องทำให้เสร็จก่อน ยืนยันว่าปีหน้าดำเนินการได้แน่นอน
สรุปเรื่องการเก็บภาษีรถติดยังอยู่ในขั้นทำการศึกษา ต้องรอผลที่ชัดเจนอีกครั้ง ที่สำคัญการจะเก็บภาษีรถติด เพื่อให้คนได้ใช้รถไฟฟ้าในราคาถูก ต้องดำเนินการอยู่บนหลักการพื้นฐานเพื่อให้ ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ เข้าใจตรงกันนะ
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดรับสมัครบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น กรรมการ ป.ป.ช. แทนตำแหน่งที่ว่าง และแทนตำแหน่งที่จะครบวาระ รวม 3 คน โดยผู้ประสงค์จะสมัครสามารถยื่นแบบใบสมัครด้วยตนเองที่จุดรับสมัคร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน เขตดุสิต กทม. ในเวลาราชการ ไม่เว้นวันหยุดราชการ ถึง 4 พ.ย.นี้
สังคมทั่วไป
ปลิว ตรีวิศวเวทย์ และ สุชัย อิสรจินดา นัดเพื่อนๆ OSK 78 พบปะสังสรรค์ ที่ห้องกิ่งทอง โรงแรมเอเชีย ราชเทวี 26 ต.ค. 10.00 น.
"ธนูเทพ"
คลิกอ่านคอลัมน์ “บุคคลในข่าว” เพิ่มเติม