ทุเรียน ราชาแห่งผลไม้ไทย ด้วยรสชาติที่หวานหอม เนื้อนุ่ม ละมุนลิ้น ทำให้เป็นผลไม้ที่ทั้งคนไทยและต่างชาตินิยมทาน อีกทั้งยังเป็นสินค้าส่งออกไปจีนที่สร้างรายได้งามๆ ให้กับเกษตรกรไทย ทว่าเดือน มี.ค.-ส.ค. 2567 จีนแจ้งเตือนการตรวจพบแคดเมียมปนเปื้อนในทุเรียนที่ส่งจากไทย 16 ลอต ทำให้ไทยระงับการส่งออกและสุ่มเก็บตัวอย่างทุเรียนส่งออกไปจีนช่วงเดือนกันยายนรวม 2,129 ตัวอย่าง ไม่พบแคดเมียม 1,382 ตัวอย่าง พบแคดเมียม 747 ตัวอย่าง ซึ่งปริมาณที่พบไม่เกินมาตรฐาน GB 2762-2022 ของจีน ที่กำหนดให้พบแคดเมียมปนเปื้อนในผลไม้สด (เนื้อทุเรียน) ได้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
แคดเมียมที่พบปนเปื้อนในทุเรียนนั้นอาจมาจากขั้นการเพาะปลูก หากเกษตรกรเพาะปลูกในดิน หรือใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่มีแคดเมียมปนเปื้อน หรือใช้สารเคมีทางการเกษตร อาจทำให้ทุเรียนพบแคดเมียมปนเปื้อนได้ หรือ ขั้นการเตรียมจำหน่าย หากพ่อค้าแม่ค้าใช้วิธีการชุบสีทุเรียน เพื่อให้สวยงามและทำให้มีสีสม่ำเสมอก็อาจทำให้ทุเรียนพบแคดเมียมปนเปื้อนได้เช่นกัน เพราะแคดเมียม เป็นโลหะหนักที่ใช้เป็นส่วนประกอบของสารกำจัดเชื้อรา สารกำจัดแมลง กำจัดหนอน สารเคมีทางการเกษตร ปุ๋ย และใช้ในเม็ดสี สีทาบ้าน สีผสมอาหาร เมื่อร่างกายได้รับแคดเมียมจะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดหัว กล้ามเนื้อ ปวดท้อง ไตและตับอาจถูกทำลาย หรือหากได้รับเป็นเวลานานจะทำให้เกิดโรคอิไต-อิไต
สถาบันอาหาร เก็บตัวอย่างเนื้อทุเรียนสด 5 ตัวอย่าง จาก 5 ร้านค้า ที่วางขายในเขตกรุงเทพฯ และ จ.นนทบุรี เพื่อนำมาวิเคราะห์แคดเมียมปนเปื้อน ผลวิเคราะห์พบว่าทั้ง 5 ตัวอย่างไม่พบแคดเมียมปนเปื้อนเลย วันนี้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าทุเรียนที่วางขายในท้องตลาดไทยนั้นปลอดภัย แต่ก่อนซื้อขอแนะว่าควรเลือกซื้อทุเรียนตามฤดูกาล มีลักษณะเป็นไปตามธรรมชาติ สีไม่เขียวหรือมีสีที่สม่ำเสมอจนเกินไป เพื่อความปลอดภัยจากอันตรายของแคดเมียม.
...
ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย
คลิกอ่านคอลัมน์ “มันมากับอาหาร” เพิ่มเติม