หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ยอดจำหน่ายมากที่สุดของประเทศ ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2567
- การพัฒนาประเทศ ในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน สู่ยุคของเศรษฐกิจดิจิทัล นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร หารือความคืบหน้าโครงการการลงทุนของบริษัทในประเทศไทย และความร่วมมือเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Leave No Thai Behind กับ Ruth Porat ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน Alphabet และ Google ประกาศทุ่มเม็ดเงินลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์ หรือ 35,000 ล้านบาท ในไทย เพื่อสร้าง Data Center ในประเทศไทย คาดจะช่วยกระตุ้นการจ้างงานกว่า 14,000 ตำแหน่ง ในช่วงปี 2568-2572 มีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 140,000 ล้านบาทในปี 2572 เป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมความร่วมมือ ระหว่างรัฐบาล กับ กูเกิล ในระยะยาว ประโยชน์ที่จะได้รับจากนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล สามารถต่อยอดขยายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจยุคใหม่ ได้อีกมหาศาล มองเส้นทางการลงทุน ในภูมิภาคอาเซียน ของบริษัทยักษ์ใหญ่ อย่างกูเกิล ที่ระบุว่า เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน มีมูลค่าสูงถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ หรือ ราว 3.6 ล้านล้านบาท เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ถูกจับตา เป็นจุดหมายใหม่ในการลงทุน ของ Data Center ที่เป็น โครงการพื้นฐานของบริการดิจิทัล ที่สำคัญที่สุด ที่ผ่านมา Google ประกาศการลงทุนจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 7.3 หมื่นล้านบาท สร้าง Data Center ในมาเลเซีย ถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 13 ปีของกูเกิล ส่วน ประเทศไทย จะได้รับอานิสงส์ มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการแข่งขันของเราเอง
...
- ส่วน การเมืองยังไม่นิ่ง การแก้รัฐธรรมนูญ ที่กลายเป็นเกมการเมือง ชิงไหวชิงพริบ การชิงอำนาจทางการเมือง เริ่มจะเข้มข้น กรณี สว.สายสีน้ำเงิน พร้อมใจกันยกมือโหวต ไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติของ สส.บางมาตรา เสนอให้มีการแก้ไข ผลของประชามติ ต้องเป็นแบบเสียงข้างมากสองชั้น ปัญหานี้จะไปจบใน การตั้งกรรมาธิการร่วมระหว่าง สส. กับ สว. หรือไม่ เป็นอีกเรื่อง แต่ถ้า พ.ร.บ.ประชามติ ยังไม่ผ่านสภา การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ต้องยืดเวลาออกไปเรื่อยๆ ชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกฯ ยอมรับว่า ถ้ากฎหมายประชามติยังไม่สะเด็ดน้ำ จะทำให้ ไทม์ไลน์การเลือกตั้ง ต้องขยับออกไปอีก รวมไปถึงการทำประชามติ พร้อมกับ การเลือกตั้งสมาชิก อบจ. ในช่วงเดือน ก.พ.2568 ไม่สามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ประเด็นที่จะให้มีการแก้ไข การทำประชามติ ลดลงจาก 3 ครั้งเหลือแค่ 2 ครั้ง เจ้าของไอเดีย ชูศักดิ์ ศิรินิล ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ต่อคำถามถ้ามีปัญหาเรื่องของการทำประชามติ ไม่สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ก่อนการเลือกตั้งในอีก 3 ปี จริงหรือไม่ มีคำตอบสุดท้าย ขึ้นอยู่กับปัญหากฎหมายประชามติ การ เลือกตั้ง และการ ทำประชามติ แต่ละครั้ง ต้องใช้งบประมาณ ไม่น้อยกว่า 3 พันล้านบาท เลือกตั้งไปแล้วได้อะไร ป่วยการที่จะ ตื๊อให้ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาล มาจับเข่าคุย แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เมื่อยตุ้ม เป็นอันว่า งานนี้ เพื่อไทย รับเละ
- สถานการณ์น้ำท่วม ยังต้องเฝ้าระวัง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ยืนยันเสนอที่ประชุม ครม. เปลี่ยนแปลง การจ่ายเงินเยียวยา ผู้ประสบภัย จากเดิมครัวเรือนละ 5,000 บาท 7,000 บาทและ 9,000 บาท ตามความหนักเบา เป็นเยียวยาขั้นต่ำ ครัวเรือนละ 9,000 บาท เท่ากันหมด ส่วนจะพอกับการเยียวยาหรือไม่ เป็นอีกประเด็น จบข่าว
...
- สถานการณ์โลกที่ไม่ปกติ กองทัพอิสราเอล ประกาศให้เมืองต่างๆ ที่อยู่ตามแนวชายแดน ตอนเหนือของอิสราเอล ที่ติดกับ เลบานอน ถือเป็น เขตทหารแบบปิด ส่งสัญญาณการใช้กำลังทหารภาคพื้นดินบุกเข้าไปใน เลบานอน มีรายงานจาก เอเอฟพี ระบุ กองทัพอิสราเอล ได้โจมตีทางอากาศ ทางตอนใต้ของกรุงเบรุต ซึ่งสำนักข่าว ซีบีเอส รายงานว่า อิสราเอล ได้แจ้งให้ทาง สหรัฐฯ ในการเข้าปฏิบัติการทางทหาร ในเลบานอน ก่อนหน้าการลงมือปฏิบัติการไม่กี่ชั่วโมง ได้รับการยืนยันจาก โยอาฟ กัลแลนต์ รมว.กลาโหม อิสราเอล จะมีการทำสงครามกับกลุ่ม ฮิซบอลเลาะห์ ตามแนวชายแดนเลบานอน อ้างเพื่อให้ ชาวอิสราเอล ได้กลับสู่บ้านเรือนทางตอนเหนือได้อย่างปลอดภัย ถึงแม้การปลิดชีพ ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ จะสำเร็จไปแล้ว แต่การทำสงครามของอิสราเอลยังเดินหน้าต่อไป การโจมตีเลบานอน ในครั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานตรงกันมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว หลายร้อยศพ จับตา ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ คนใหม่ ฮาเซม ซาฟิดดิน ที่เป็นญาติกับ ฮัสซัน นัสรัลลาห์ อดีตผู้นำฮิซบอลเลาะห์ที่ถูกสังหารไปแล้ว เคยเป็นผู้นำที่อยู่ในบัญชีผู้ก่อการร้าย ตั้งแต่ปี 2017 แนวโน้มสงครามในตะวันออกกลาง เริ่มจะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความหวาดวิตกของประเทศต่างๆ จะนำไปสู่สงครามใหญ่ในตะวันออกกลางอีกกระทอก
...
- ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. พร้อมคณะผู้บริหาร ร่วมพิธีเปิดงาน Sustainability Expo มหกรรมความยั่งยืน ครั้งที่ 5 งานมีไปจนถึง 6 ต.ค. นี้ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่มุ่งดำเนินธุรกิจบนหลักการ ความยั่งยืนอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธีปิดและมอบประกาศนียบัตร ผู้สำเร็จหลักสูตรพลังงานเพื่อชุมชนรุ่นที่ 10 พร้อมบรรยายหัวข้อ ความสำคัญของช่างชุมชน ต่อการพัฒนานวัตกรรมในชุมชน โดยมี กนกพร รอดรุ่งเรือง ผช.กรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม ปตท. ร่วมแสดงความยินดี
...
"อินทรีเหล็ก"
คลิกอ่านคอลัมน์ "บุคคลในข่าว" เพิ่มเติม