หลังตั้งบริษัทเล็กๆ ชื่อ DTGO Corporation ขึ้นเอง เมื่อ 30 ปีก่อน แทนที่จะไปทำงาน ซีพี บริษัทใหญ่คับโลกกับบิดา เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ จึงทำให้ ทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ ถูกจับตาว่าจะประสบความสำเร็จไหม และจะเป็น “ลูกแหง่” ที่ต้องช่วยกระเตงหรือไม่ แต่จากวันนั้น มาวันนี้ DTGO บริษัทแม่ของ MQDC ค่ายพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ได้ผงาดเป็นบริษัทระดับแสนล้านด้วยความอดทนและตั้งใจ และ คุณบี–ทิพพาภรณ์ ยังขึ้นชื่อว่า เป็นบอสใจดี มีความเมตตาสูง จึงทำให้ DTGO เป็นบริษัทแรกๆที่ใช้หลักธรรมาภิบาลและตอบแทนสังคมมาตลอด
ในโอกาสครบ 30 ปี และเป็นปีที่โครงการเรือธงระดับโลก The Forestias จะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเข้าอยู่ DTGO จึงจัดกระบวนทัพขององค์กรใหม่ และครั้งใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนรับปีมังกรทอง โดยได้แต่งตั้งมือซ้ายขวาหน้าหลัง คือ วรันยา ภูนวกุล เป็น CEO ของ DTGO สุทธา เรืองชัยไพบูลย์ เป็น CEO MQDC และ วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ เป็นประธานกรรมการบริษัทของ MQDC โดยให้ คุณเหล่ง–วรันยา ลูกหม้อ DTGO ที่บุกเบิกกันมาตั้งแต่เริ่ม ซึ่งดูแลการจัดตั้งสำนักงานในประเทศจีน อินเดีย เพื่อขยายธุรกิจ รับผิดชอบงานบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ งานบริหารความเสี่ยง รวมถึงภาพรวมและแผนกลยุทธ์ในระยะยาวของบริษัท--ตอนนี้ คุณวรันยา ซึ่งมีเพื่อนฝูงมากมาย และผ่านการอบรมผู้บริหารมาหลายหลักสูตร จึงมีคิวเลี้ยงยินดีตั้งแต่ปีใหม่ยาวไปจนถึงสงกรานต์แล้ว ส่วน คุณสุทธา ซึ่งคร่ำหวอดมา 26 ปีกับพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ เคยเป็นผู้อำนวยการอาวุโส ของ URS Corporation และเป็นผู้บริหารระดับสูงโครงการขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ อาทิ โครงการพัฒนาแคมปัสที่เมืองอัลสตัน ของฮาร์วาร์ด ยู. โครงการฟื้นฟู เวิลด์เทรด เซ็นเตอร์และโครงการส่วนเชื่อมต่อทิศตะวันออก (East Side Access) ที่สถานีรถไฟแกรนด์เซ็นทรัล นิวยอร์ก กับโครงการต่างๆ ในสนามบินลอสแอนเจลิส (LAX) MQDC จึงมอบหมายให้ คุณสุทธา ดูแลการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ MQDC ในไทย และโครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค
...
นอกจากนี้ยังมีมือการเงิน หรรสา สุสายัณห์ หรือ “พี่เล็ก” ของผองเพื่อน เป็น Vice Chairman ดูแลการลงทุน ที่กลุ่มบริษัทเน้นการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น เช่น ซื้อโรงแรมในอังกฤษ ลงทุนในสิงคโปร์ อีกคน ที่ฮือฮาคือ “ตัวแม่การตลาด” ชาลอต โทณวณิก ซึ่งประสบการณ์ครบเครื่องทั้งการเงิน การตลาด ประชาสัมพันธ์ สื่อสารองค์กร และเป็นที่ปรึกษา DTGO มาเงียบๆ 4 ปี ได้คืนสังเวียน รับเป็น Chief Customer Experience (เดิมคือฝ่ายการตลาด) โดยบอกใครๆว่า “Old Soldier Never Die”.
0 0 0 0 0
ไปทำบ้านสวยบนเขา ที่แม่ริม เชียงใหม่ มานาน เกือบ 30 ปี ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาและความร่วมมือทางธุรกิจ และเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์อาหาร ของ บ.ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ปฯ และภรรยา แสงอาภา เภสัชกรหญิง พ่วงดีกรี MBA และแพทย์แผนไทย ซึ่งไปมาเชียงใหม่-กรุงเทพฯตลอด จึงคุ้นเคยบ้านใกล้เรือนเคียงเชียงใหม่ จึงเกิดไอเดียสนุกๆ โดยชวนแก๊งเพื่อนรักอนุบาลยุคลธร และสาธิตจุฬาฯ ที่คบกันมานานกว่า 50 ปี มีคู่ ดร.ณัฐพล อัษฎาธร เจ้าของโรงแรมแชงกรี-ลา และน้ำตาล ‘ลิน’ และ อะเล็กซานเดอร์ สรรประดิษฐ์ สถาปนิกลูกครึ่งไทย-เยอรมัน ทำโปรเจกต์สร้างชุมชนเข้มแข็ง ชื่อโครงการ ‘ม่อนแบรี’ ในพื้นที่สวนราสเบอร์รีใหญ่ที่สุดของไทย ที่โป่งแยง อำเภอแม่ริม ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร อากาศหนาวเย็นตลอดปี ใกล้แหล่งต้นน้ำบริสุทธิ์ ทำให้ดินภูเขาอุดมสมบูรณ์ เหมาะกับการปลูกพืชผักเมืองหนาว
แก๊ง ออฟ ไฟว์ ตั้งใจให้ ม่อนแบรี เป็นธุรกิจเพื่อสังคม ที่สร้างประโยชน์ สร้างรายได้ ให้คนในพื้นที่มีรายได้เพิ่ม โดยการคัดสรรผลิตภัณฑ์ปลอดสารพิษ จากกลุ่มเกษตรกรที่มีอุดมการณ์ในการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น ลดการใช้ยาฆ่าแมลง เปลี่ยนมาใช้วิธีกำจัดศัตรูพืชแบบธรรมชาติ Bio Control คือ การใช้สิ่งมีชีวิต ควบคุมกำจัดสิ่งมีชีวิตที่เป็นศัตรูพืช รวมทั้งวิธีอื่นๆ ทำให้เกษตรกรไม่ต้องสัมผัสสารพิษและได้ผลผลิตที่ดี ผู้บริโภคปลอดภัย และไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ--เรียกว่าได้ผลประโยชน์เกื้อกูลทุกฝ่ายครบ
และยังมีการคัดสรรวัตถุดิบจากชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่นมาปรับให้ร่วมสมัย เช่น เปลี่ยนจากกระเช้าปีใหม่หรือของขวัญแบบเดิมๆ เป็น ‘ปิ่นโตจากใจ’ ซึ่งมีสินค้าเกษตรปลอดสารเคมี ส่งถึงหน้าบ้านคนที่คุณรักเดือนละ 2 ครั้ง โดยหมุนเวียนผักผลไม้ตามฤดูกาลจากไร่ของเกษตรกร โครงการม่อนแบรี เช่น ผักสลัด, แตงกวาญี่ปุ่น, มะเขือเทศ, สมุนไพรฝรั่ง (โรสแมรี ออริกาโน, ทารากอน, ลาเวนเดอร์), อะโวคาโด, ลูกพลับ, มะเขือเทศม่วง, ฟักทอง และผลิตภัณฑ์แปรรูปโฮมเมดแสนอร่อย จากไร่ราสเบอร์รีที่ใหญ่ที่สุดในไทย เช่น ชาหมักคอมบูชา น้ำสลัด ซอส และแยมโฮมเมดราสเบอร์รี แบล็กเบอร์รี กุหลาบ เลมอน เสาวรส และเมนูพิเศษ ‘mixed berries pickles’ หรือ ‘ราสเบอร์รีดอง’--ทั้งหมดนี้ เป็นไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รัชกาลที่ 9 เพราะสามารถผลิตอาหารจากธรรมชาติมากินเองในครอบครัว เมื่อมีมาก ก็แบ่งปัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะคืนกลับชุมชน 100% เพื่อช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมและสังคม เพื่อให้ชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืนด้วยกันตลอดไป.
...
โสมชบา