สร้างชุมชนเข้มแข็งพร้อมสานต่อความสำเร็จในการนำพากลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจชุมชน “เกื้อกูล Local Enterprises” หรือ “เกื้อกูล LEs” ในทุกท้องถิ่นทั่วประเทศไทยให้เติบโตอย่างมั่งคั่ง มั่นคง ยั่งยืน แบ่งปัน และเกื้อกูลแบบโตไปด้วยกัน หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. ภายใต้สังกัด สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แห่งชาติ (สอวช.) และสถาบันเกื้อกูลเศรษฐกิจชุมชน จัดงาน เกื้อกูล Local Enter prises Exposition 2023 มหกรรมงานวิจัยและพัฒนาที่สร้างการยกระดับขีดความสามารถ ความสำเร็จ ในการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของผู้ประกอบการชุมชนเกื้อกูล LEs ภายใต้แนวคิด “ธุรกิจชุมชน คน-ของ-ตลาด โมเดล กลไกสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน” ณ ลานร่ำรวย ชั้น 5 เดอะ สตรีท รัชดา เมื่อเร็วๆนี้

ภายในงานชวนมาทำความรู้จักกับธุรกิจชุมชน “เกื้อกูล LEs” ที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายมิติที่พร้อมมาร่วมแบ่งปันไอเดียดีๆ ผ่านเกื้อกูล LEs Sharing Showcase ตัวอย่างความสำเร็จของกลไกสร้างธุรกิจชุมชนยั่งยืนจากการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชนกับนักวิจัยในพื้นที่ (Local Knowledge Managers) อาทิ ธุรกิจฮิญาบ ภายใต้โมเดลธุรกิจ AHSAN-อาห์ซาน ภายใต้หลักคิด “จาก Trademark สู่ Trustmark” โดย ผศ.ดร.มัฮซูม สะตีแม จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ปัตตานี ที่สะท้อนคุณค่าของผืนผ้าฮิญาบที่แฝงไว้ด้วยวิถีความเชื่อ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และความเคารพในศาสนาอิสลาม โดยเป็นการรวมกลุ่มของสตรีมุสลิมที่มีฝีมือในการตัดเย็บมารวมกลุ่มกัน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพให้สตรีมุสลิม ได้เรียกศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจในตัวเอง

...

พร้อมทั้งชมการแสดงแฟชั่น โชว์ฮิญาบผ้าไหมไทยผืนแรกของโลกเป็นครั้งแรก โดยเล่าถึงเคล็ดลับความสำเร็จว่า สิ่งแรกที่เราทำคือการสร้างเครือข่าย เนื่องจากผู้ประกอบการ LEs แต่ละคนมีศักยภาพไม่เท่ากัน แต่ก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน และมีความหลากหลายเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้เกิดการรวมตัว และนำไปสู่การแลกเปลี่ยนภายใต้โมเดล AHSAN Trustmark ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันโดยใช้ฮาลาเกาะห์ กลยุทธ์ของการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยน แล้วเมื่อมีการจับคู่ธุรกิจกันก็มีกระบวนการทำงานที่มีการแลกเปลี่ยนเคล็ดลับซึ่งกันและกัน จนกระทั่งผู้ประกอบการเกิดการเรียนรู้วิถีธุรกิจ และสามารถผลิตสินค้าตอบสนองตลาดได้นั่นเอง.