เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารไทยให้ทั่วโลกได้ลิ้มลองอาหารรสชาติไทยแท้มากว่า 40 ปี ล่าสุด เชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนทำอาหาร และมาสเตอร์เชฟแห่งภัตตาคารบลูเอเลเฟ่นท์ ร่วมกับสำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ กรุงเทพฯ เผยแพร่วัฒนธรรมการออกแบบสิ่งทอ ด้วยการจัดงานเปิดตัวหนังสือ “TAI, A Woven Culture” ผลงานชิ้นสำคัญของ นายฮั้นส์ โรเอลส์ ช่างภาพชาวเบลเยียม และ นิ่ม-นภาจรี สวนเดือนฉาย นักสะสมสิ่งทอชาวไท ร่วมกันถ่ายทอดอัตลักษณ์และเรื่องราวการเดินทางของผ้าไหม “ไท” วัฒนธรรมการออกแบบสิ่งทอ ศิลปะที่คงมนต์ขลังของชาวไทกว่า 23 ชนชาติ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วเอเชียตะวัน ออกเฉียงใต้ และไกลถึงรัฐอัสสัม (อินเดียตะวันออก) ผ่านบันทึกภาพ ถ่ายกว่า 206 ภาพ ซึ่งใช้ระยะเวลาในการเรียบเรียงเนื้อหาด้วยการอ้างอิงเอกสารต่างๆ โดยละเอียดกว่า 25 ปี

...

เรื่องราวของ “TAI, A Woven Culture” เริ่มต้นบันทึกเรื่องราวของเส้นทางสายวัฒนธรรมแห่งสายไหมของชาว “ไท” หลังจากที่ ฮั้นส์ โรเอลส์ ช่างภาพชาวเบลเยียม ผู้ที่หลงใหลวัฒนธรรมที่หลากหลายของเมืองไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ออกเดินทางเพื่อถ่ายภาพในภาคเหนือของประเทศไทย และได้พบกับ “นิ่ม-นภาจรี สวนเดือนฉาย” นักสะสมสิ่งทอชาวไท ผู้ที่คลุกคลีกับผ้าทอมาตั้งแต่วัยเยาว์ ผู้บริหาร Prayer Textile Gallery ในกรุงเทพฯ และยังเป็นผู้ก่อตั้ง “กลุ่มนักสะสมผ้าไท” และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง “สมาคมผ้าทอไท” ที่เลือกเดินตามรอยเท้าแม่สืบทอดธุรกิจผ้าทอของครอบครัวที่ดำเนินการมาหลายชั่วอายุคน ทั้งคู่ได้เดินทางไปยังชุมชนชาวไท ทั่วประเทศไทย ลาว เวียดนาม เมียนมา จีนตอนใต้ และรัฐอัสสัมของอินเดีย ซึ่งชาว “ไท” คือ ชนพื้นเมืองที่อพยพจากจีนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ก่อตั้งอาณาจักรไทอยู่ร่วมกันตลอดหลายศตวรรษ ซึ่งสิ่งที่รวมชาวไททุกคนไว้ด้วยกันคือวัฒนธรรมการทอผ้าที่โดดเด่น และเป็นเอกลักษณ์ของพวกเขา โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่ผ้าไหม เส้นใยสีเหลืองที่มีลักษณะเรียบและหนา ผ่านกรรมวิธีการถักทอด้วยมือเป็นลวดลายอันทรงคุณค่าที่ไร้กาลเวลา เชื่อมโยงอดีตและปัจจุบันผ่านงานฝีมือและสีสันผ้าทอ ซึ่งศิลปินที่ยิ่งใหญ่เหล่านี้ล้วนเป็นชาวนาที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ดำรงชีพด้วยการปลูกข้าว และเลี้ยงไหมเพื่อเป็นเครื่องนุ่งห่ม สะท้อนวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของพวกเขา

ทั้งนี้ ฮั้นส์ โรเอลส์ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ทำให้คุณเป็นพยานถึงวัฒนธรรมที่หายไปอย่างรวดเร็วอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากความทันสมัยทำให้คนรุ่นใหม่ไม่เลือกศิลปะการทอผ้าที่ใช้เวลานานอีกต่อไป อย่างไรก็ตาม ตนมีความสุขมากที่ได้เริ่มโครงการนี้ทันเวลาและแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่หลงเหลืออยู่ของวัฒนธรรมที่สวยงามและน่าจดจำ ซึ่งหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะนำคุณเข้าใกล้ “ชาวไท” และแก่นแท้ของ “ไท” ส่วน นภาจรี สวนเดือนฉาย กล่าวว่า การค้นพบผ้าทอ “ไท” เหล่านี้ทำให้ตนนึกถึงความงามของคนเหล่านี้ที่เป็นชาวนาและผู้ที่สร้างสรรค์งานที่สวยงามผ่านผ้าของพวกเขา และแสดงเอกลักษณ์และศักดิ์ศรีของความเป็น “ไท” อย่างแท้จริง

...

ผู้สนใจหนังสือ TAI, A Woven Culture สามารถสั่งซื้อได้ที่สำนักพิมพ์ริเวอร์ บุ๊คส์ โทร.0-2225-0139 หรือ 09-8495-4142 หรือ https:// www.facebook.com/riverbooksbk