เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ที่ทำงานด้านศิลปวัฒนธรรมให้มีกำลังใจที่จะดำรงและอนุรักษ์ความเป็นไทยสืบต่อไป มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80ฯ ได้จัดงานมอบรางวัลคึกฤทธิ์ ประจำปี 2566 โดยปีนี้คณะกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ได้มีมติปรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้ครอบคลุมศิลปะการแสดงพื้นบ้าน รางวัลคึกฤทธิ์จะแบ่งออกเป็น 2 สาขา ได้แก่ สาขาศิลปะการแสดง และสาขาวรรณศิลป์ โดยสาขาศิลปะการแสดง มี 2 รางวัล ประเภทคณะบุคคล และประเภทรายบุคคล สาขาวรรณศิลป์ 1 รางวัล รวมรางวัลคึกฤทธิ์ทั้งสิ้น 3 รางวัล ซึ่งจัดงานที่โรงละครอักษรา คิง เพาเวอร์ เมื่อเร็วๆนี้

อัศศิริ ธรรมโชติ
อัศศิริ ธรรมโชติ

ทั้งนี้ รางวัลคึกฤทธิ์ ถือเป็นรางวัลอันทรงคุณค่าที่เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลายจากสาธารณชน โดยรักษาอัตลักษณ์ของ “ความเป็นคึกฤทธิ์” ในแง่ศิลปะที่สอดแทรกความเป็นตัวของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันต้องมีความเป็นอิสระ และสามารถพัฒนางานศิลปะในสาขาของตนให้มีคุณค่าต่อสังคม การมอบรางวัลคึกฤทธิ์ได้เริ่มต้นจัดขึ้นตั้งแต่ปี 2553 ปีนี้เป็นปีที่ 12 (ปี 2564-2565 งดการมอบรางวัล) โดยคณะกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ได้สรรหาบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญและมีผลงานเป็นที่ยอมรับ ซึ่งผลการประกาศรางวัลคึกฤทธิ์ในปี 2566 มีดังนี้ สาขาศิลปะการแสดง สำหรับคณะบุคคล ได้แก่ คณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ คณะละครชาตรีที่สืบเชื้อสายมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยทางคณะได้อนุรักษ์และทำการแสดงละครชาตรีมาจนถึงปัจจุบัน และรายบุคคล ได้แก่ อำไพ บุญรอด ศิลปินดีเด่นจังหวัดระยอง ผู้พากย์และเชิดหนังใหญ่วัดบ้านดอน ที่มีชื่อเสียงโด่งดังของภาคตะวันออก ส่วนสาขาวรรณศิลป์ ได้แก่ อัศศิริ ธรรมโชติ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของรางวัลซีไรต์ ปี 2524 นักเขียนหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ “ขุนทอง เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง”

...

อำไพ บุญรอด
อำไพ บุญรอด

ศิลปินพื้นบ้านผู้ได้รับรางวัล อำไพ บุญรอด กล่าวว่า “ไม่นึกไม่ฝันว่าคนที่อยู่ต่างจังหวัดอย่างตน จะมีโอกาสได้รับรางวัลนี้ เป็นความภาคภูมิใจและรู้สึกดีใจอย่างมากครับ เพราะศิลปะอย่างหนังใหญ่ในประเทศไทยไม่ค่อยแพร่หลาย ตอนนี้เป็นห่วงอยู่ว่ามันจะสูญสิ้นไป เพราะ ณ ปัจจุบันนี้ที่มีการสืบสานเหลืออยู่แค่ 2 คณะ คือหนังใหญ่วัดบ้านดอน จ.ระยอง และวัดขนอน จ.ราชบุรี กลัวว่าในอนาคตเด็กไทยก็จะเห็นหนังใหญ่ที่แปะไว้บนผนังพิพิธภัณฑ์ ขาดชีวิตชีวาของมัน หนังใหญ่มันต้องเชิด ต้องเต้นไปตามจังหวะดนตรี ใจหายมากถ้าถึงวันที่หนังใหญ่มันไม่มีลมหายใจ ”

จารุวรรณ สุขสาคร
จารุวรรณ สุขสาคร

ด้าน ครูหมู-จารุวรรณ สุขสาคร ตัวแทนจากคณะละครชาตรีจงกล โปร่งน้ำใจ กล่าวว่า ดีใจที่มีคนเห็นว่างานที่เราทำมีคุณค่า ตนไม่ได้เรียนจากกรมศิลปากร เราเรียนจากพ่อแม่สอนเรา เป็นศิลปินพื้นบ้านธรรมดา วิถีของศิลปินพื้นบ้านคือต้องยืนด้วยลำแข้ง ตัวเอง ไม่ได้มีหน่วยงานรัฐเข้ามาสนับสนุน เพราะถึงเขามีงบสนับสนุน ศิลปินพื้นบ้านจริงๆ เขาไม่มีความรู้ว่า จะไปขอการสนับสนุนจากหน่วยงานไหน แต่โชคดีที่คณะครูหมูได้อยู่ตรงพระพรหมเอราวัณมีงานประจำเป็นหลัก เราก็มีทุนที่จะไปสอนเด็กๆ ได้ ปัจจุบันละครชาตรีนี้เหลืออยู่ไม่ถึง 3 คณะ เพราะละครชาตรีมันไม่สามารถเลี้ยงชีพได้แล้ว.