สงครามปราบฮ่อมีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5

“ฮ่อ” พวกนี้ก็คือชาวจีนนั่นเอง แต่ในภาคเหนือนิยมเรียกว่าฮ่อ ขณะที่ภาคกลางอย่างกรุงเทพฯ นิยมเรียกว่าจีนไม่ก็เจ๊ก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายว่า เมื่อครั้งปราบฮ่อ พ.ศ. 2418 พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ชื่น กัลยาณมิตร) ได้จับฮ่อส่งลงมากรุงเทพฯ ก็มีคนพูดกันว่า พระยามหาอำมาตย์จับชาวจีนมาหลอกว่าเป็นฮ่อ แต่ความจริงแล้วฮ่อก็คือจีนนั่นเอง

เมื่อสยามยกทัพปราบฮ่อ ฮ่อที่มาสร้างความวุ่นวายในสยามนั้น เป็นชาวจีนที่ลุกขึ้นต่อต้านราชวงศ์ชิง เรียกว่า กบฏไท่ผิง แต่ถูกราชสำนักชิงปราบปรามอย่างหนัก จนถอยร่นเข้ามาบริเวณตอนใต้ของจีน เที่ยวซ่อนตัวตามป่าเขาและเข้าก่อเหตุความวุ่นวายในดินแดนสยาม ทั้งในส่วนลาว พวน หลวงพระบาง สิบสองจุไท ฯลฯ

พ.ศ. 2418 ฮ่อเตรียมทัพโจมตีเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง บริเวณเวียงจันทน์ แล้วจะเข้ามายังหนองคาย กรมการเมืองหนองคายทราบข่าวจากชาวบ้านที่อพยพหนีมา จึงแจ้งข่าวมายังกรุงเทพฯ

ขณะนั้น พระยามหาอำมาตยาธิบดี (ชื่น กัลยาณมิตร) เป็นข้าหลวงขึ้นไปสักเลกที่มณฑลอุบล จึงได้มีคำสั่งให้รับหน้าที่เกณฑ์คนจากมณฑลอุดร มณฑลร้อยเอ็ด มณฑลอุบล เป็นกองทัพขึ้นไปสมทบกับกองทัพของพระยานครราชสีมา (เมฆ) ขึ้นไปป้องกันหนองคาย กระทั่งได้ตีทัพฮ่อแตกหนีไป อีกด้านหนึ่ง กองทัพสยามยกไปปราบฮ่อทางหลวงพระบาง ก็ตีทัพฮ่อแตก ป้องกันเมืองได้สำเร็จเช่นกัน ฮ่อได้หนีรวมตัวกันปล้นสะดมสร้างความวุ่นวายในจีนและญวน

...

แต่เมื่อ ปวงนันชี หัวหน้าฮ่อธงเหลืองถูกปราบปรามจนตาย พวกฮ่อธงเหลืองแตกออกเป็นหลายกลุ่ม ยังก่อความวุ่นวายอยู่เนือง ๆ กระทั่ง พ.ศ. 2426 ฮ่อเข้ามาตั้งค่ายที่ทุ่งเชียงคำ มีแนวกอไผ่แน่นหนาเป็นป้อมปราการ กองทัพสยามนำโดย พระยาราชวรานุกูล (เอก บุญยรัตนพันธุ์) เข้าไปปราบ ล้อมค่ายนาน 2 เดือน ก็ยังเอาชนะไม่ได้ กองทัพสยามเริ่มขาดแคลนเสบียงอาหารและมีคนป่วยจำนวนมาก สุดท้ายต้องยกทัพกลับมายังหนองคาย

พ.ศ. 2428 กองทัพสยามเรียนรู้จากการปราบฮ่อครั้งก่อนว่า เป็นกองทัพแบบโบราณ จึงทำการปราบปรามไม่สำเร็จ ครั้งนี้จึงส่งกองทัพที่ได้รับการฝึกอย่างทหารตะวันตกขึ้นไปสมทบกองทัพหัวเมือง ถึงเวลานี้ ฮ่อมีทั้งฮ่อแท้และฮ่อปลอม คือพวกฮ่อแท้ที่เป็นชาวจีน ได้กวาดต้อนเอาผู้คนที่ตนเข้าปล้นสะดมก่อความวุ่นวายมาเป็นพวกของตน

ส่วนมากเป็นเด็กที่พรากมาจากพ่อแม่ที่ถูกฆ่าทิ้ง จับเด็กมาฟั่นเปียและนุ่งห่มอย่างฮ่อ กับอีกพวกหนึ่งเป็นคนพาล สูบฝิ่น กินเหล้า ไม่มีปัญญาเลี้ยงตัว ก็ไปเข้ากับพวกฮ่อ กลายเป็นฮ่อปลอม และก็ไว้เปียแต่งตัวอย่างฮ่อเช่นกัน

การปราบฮ่อครั้งที่ 3 สำเร็จผล ด้วยอาวุธที่ทันสมัยกว่าพวกฮ่อที่มีแต่ปืนคาบศิลาและสามง่าม แต่กองทัพสยามก็ต้องเผชิญความยากลำบากจากไข้ป่า และการขาดแคลนยาควินิน พ.ศ. 2430 เจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสง-ชูโต) นำหัวหน้าพวกฮ่อลงมากรุงเทพฯ ฮ่อจึงถูกกำราบลงนับแต่นั้น

การปราบฮ่อทั้ง 3 ครั้ง ปรากฏปีในเหรียญคือ จ.ศ. 1239 (พ.ศ. 2420), จ.ศ. 1247 (พ.ศ. 2428) และ จ.ศ. 1249 (พ.ศ. 2430) แต่หากยึดตามพงศาวดาร ปราบฮ่อครั้งแรกจะเป็น จ.ศ. 1237 (พ.ศ. 2418) ปราบฮ่อครั้งที่ 2 จะเป็น จ.ศ. 1245 (พ.ศ. 2426) มีเพียงการปราบฮ่อครั้งที่ 3 ที่ปีในเหรียญกับในพงศาวดารตรงกัน

เหรียญรัชกาลที่ 5 หรือเหรียญพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือเป็นเหรียญยอดนิยมที่สุดในบรรดาเหรียญที่ระลึกของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในอดีต พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างเหรียญปราบฮ่อขึ้น ซึ่งเป็นเหรียญราชอิสริยาภรณ์เพื่อบำเหน็จความดีความชอบพระราชทานแก่ผู้ไปราชการสงครามปราบฮ่อ รัฐบาลสยามในสมัยนั้นได้ว่าจ้างให้ บริษัท บีกริมแอนด์โก ผลิตเหรียญปราบฮ่อ ที่ประเทศเยอรมนี มีจำนวนผลิตเพียง 500 เหรียญเท่านั้น เป็นเหรียญที่แพงและหายาก ทำด้วยเนื้อเงิน ด้านหลังเหรียญมีการระบุถึงศักราชที่เกิดสงคราม คือสงครามครั้งแรกเมื่อ จ.ศ.1239 ตรงกับ พ.ศ.2420 ครั้งที่ 2 เมื่อ จ.ศ.1247 ตรงกับ พ.ศ.2428 และครั้งที่ 3 เมื่อ จ.ศ.1249 ตรงกับ พ.ศ.2430

เหรียญปราบฮ่อมีลักษณะเป็นเหรียญเงินรูปกลม ด้านหน้าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระพักตร์เสี้ยว ผินพระพักตร์ไปทางซ้าย มีพวงมาลัยรองรับ เบื้องบนเป็นแถวอักษรตามแนวขอบเหรียญเป็นข้อความ "จุฬาลงกรณ์ บรมราชาธิราช" ด้านหลังเป็นรูปพระสยามเทวาธิราชทรงช้างถือพระแสงของ้าว มีควาญอยู่ท้ายช้างคนหนึ่งรองรับด้วยกลุ่มแพรแถบ เบื้องบนของรูปนั้นมีอักษรตามแนวขอบเหรียญเป็นข้อความ "ปราบฮ่อ ๑๒๓๙ ๑๒๔๗ ๑๒๔๙” วันนี้ผมนำเหรียญปราบฮ่อ เนื้อเงินมาให้ชมกันครับ เหรียญนี้เป็นเหรียญที่มูลค่าสูงที่สุดของรัชกาลที่ 5

...

ชี้ตำหนิ

ด้านหน้า ลักษณะเหรียญคมชัด ดูซอกคอเป็นริ้วเส้นคมชัด ตรงซอกปกเสื้อจะมีริ้ว 3 ขีดคมๆ ชัดๆ พระเกศาเป็นเส้นคมลึก ตัว “ณ” มีเส้นแตกคมชัด ตัวหนังสือเป็นแท่งคมและมีขนแมวบนตัวหนังสือทุกตัว ในหูมีขีดเป็นแฉกๆ ประมาณ 3 ขีด

ใบไม้ช่อเสี้ยนจะคมมาก ดอกไม้คมเป็นมิติ ล่องช่อดอกไม้จะมีขีดๆ เล็กๆ ชัดเจน

ในพระเนตรจะมีเส้นคล้ายตัว V และมีติ่งเล็กๆ คมชัด หน้าผากจะมีไรขนแมวบางๆ นูนขึ้นมา เมื่อเอียงข้างเหรียญเล็กน้อยที่พระพักตร์จะมีรอยตัดเป็นเส้นมีขีดๆ ชัดเจนมาก

...

ตัว “ร” มีติ่งเนื้อเกินและเส้นขนแมวชัดเจน ที่โบว์มีเส้นขนแมวและมีเส้นแตกเป็นขีดคมชัด

ด้านหลังเหรียญ เทวดาคมชัดเป็นร่องลึก มีเส้นตรงหลังคอแทงทะลุมาถึงหลัง และมีเส้นใต้คางเป็นขีดๆ เส้นเล็กๆ บริเวณบนตัวช้างมีเส้นขนแมวบางๆ ชัดมาก บริเวณซอกต้นขาช้าง 2 ข้างมีขีดๆ เล็กๆ คมชัด โบว์ใต้ช้างจะมีความลึก เหลี่ยมคมชัด

หูเหรียญต้องมีลักษณะแบบนี้ทุกเหรียญไม่เชื่อมด้านหลังบริเวณหูช้างพื้นผิวเหรียญตึงมีลักษณะเป็นผิวกระจก รอบเหรียญเป็นขอบตั้ง มีรอยกลึงคมชัดคล้ายร่องแผ่นเสียง ตัวหนังสือเป็นแท่งคมชัด

...

ด้านข้างเหรียญเป็นการอัดกระบอกแบบกษาปณ์ ขอบของเหรียญจะตึงเรียบเป็นสัน

โทน บางแค
โทน บางแค

คอลัมน์ : หยิบกล้องส่องพระ by โทน บางแค
Line : @tone8888
เพจ : โทน บางแค FC.