หลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด วัดอัมพวัน หลวงพ่อหรุ่น คือฉายานาม “เก้ายอด” ที่ได้รับมาจากชื่อเสียงในด้านการสักยันต์ เกิดเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2390 ที่บ้านตำบลเชียงราก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นบุตรของนายน้อย ใจอาภา และนางคำ ใจอาภา ซึ่งตั้งรกรากทำนามาแต่บรรพบุรุษในตำบลเชียงรากนั่นเอง นายหรุ่นไม่เคยสนใจในการทำนา และไม่เคยช่วยบิดามารดาทำงานเลย สนใจแต่เพียงว่า มีพระเกจิอาจารย์องค์ใดที่เก่งกล้าในวิชาอาคมทางไสยศาสตร์อยู่ที่ไหน เป็นต้องหนีออกจากบ้านไปครั้งละหลายวัน บางครั้งก็เป็นเดือน อุปสมบท ณ วัดลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี กล่าวว่าปีที่ท่านอุปสมบทนั้น เป็นปี พ.ศ. 2431 โดยพระญาณไตรโลก (สะอาด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ครั้งยังเป็นที่พระธรรมราชานุวัตร เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชอยู่ได้ประมาณ 3 พรรษาครึ่ง ท่านจึงเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ มาประจำพรรษาอยู่ที่วัดอัมพวัน ถนนนครไชยศรี อำเภอดุสิต จังหวัดกรุงเทพฯ

ต่อจากนั้น เมื่อลูกหลานทราบข่าวก็พากันมาพร้อมทั้งสานุศิษย์ เพื่อขอของขลังจากท่าน ในระหว่างนั้นท่านยังไม่ได้ทำเครื่องรางของขลังไว้เลย ท่านจึงได้ลงมือสักยันต์มาตั้งแต่บัดนั้น จนมีกิติศัพท์ร่ำลือว่า "เก้ายอด" กรุงเทพสมัยนั้นย่อมทราบดีว่า นักเลงดังๆ ไม่มีใครเกินก๊ก "เก้ายอด"

...

หลังจากมาจำพรรษาอยู่ที่วัดอัมพวันได้ไม่นานนัก หลวงพ่อหรุ่นก็ได้อาพาธกระเสาะกระแสะเรื่อยมา ด้วยโรคอัมพาตและท่านได้ถึงกาลมรณภาพเมื่อ พ.ศ. 2471 ณ วัดอัมพวัน นั่นเอง ในกุฏิหลังโบสถ์ปัจจุบันนี้ คำนวณอายุได้ 81 ปีพอดี

ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ยุคโบราณ จอมขมังเวทย์วิทยาคมสุดยอดอาคมเข้มขลัง ชื่อเสียงโด่งดังสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ท่านเก่งกล้าวิชาอาคมตั้งแต่เป็นฆราวาส เคยเป็นเสือเก่าแต่กลับตัวกลับใจมาบวชเป็นพระ ในสมัยนั้นไม่มีใครสามารถปราบเสือหรุ่นลงได้ ท่านมีวิชาผูกหุ่นลวงให้เจ้าหน้าที่ยิงและจับมานับครั้งไม่ถ้วน และตัวเองก็สามารถหลบหนีจากเงื้อมมือของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปได้ทุกครั้ง

ในเวลาต่อมาท่านได้กลับใจเป็นคนดีเข้ามาช่วยราชการ จนได้รับพระราชทานยศเป็น ขุนกาวิจลใจภารา ต่อมามีเหตุการณ์ให้ต้องออกจากราชการหนีมาบวชพระ ต่อมาท่านมีชื่อเสียงโด่งดัง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาสักยันต์เก้ายอด ในสมัยนั้นในวงการนักเลงคนจริง ไม่มีใครไม่รู้จัก เรียกว่า “นักเลงเก้ายอด”

เครื่องรางของขลังที่ท่านได้สร้างไว้ระยะหลังมีอยู่ 4 ชนิด

1. เหรียญรูปไข่รูปเหมือนครึ่งองค์
2. ตะกรุดโทนดอกยาวประมาณ 1 เกรียก (ยาวประมาณปลายนิ้วโป้งถึงนิ้วชี้ หรือ 2 องคุลีนิ้ว)
3. กระดูกห่านลงจารขอม ยาวประมาณ 1 องคุลี
4. แหวนขาวเก้ายอด เป็นชิ้นสุดท้าย ของทุกชิ้นใน 4 ชนิดนี้หาได้ยากมากเพราะท่านได้สร้างไว้จำนวนน้อย และราคาก็สูงในปัจจุบัน อภินิหารซึ่งตามที่ได้ปรากฏมาเป็นของคงกระพันชาตรีโดยตรง วันนี้ผมจะมาสอนดูตำหนิเหรียญหลวงพ่อหรุ่น เก้ายอด รุ่นแรก เนื้อทองแดง แบบชี้จุดจ่ายตังค์เลยครับ

เหรียญหลวงพ่อหรุ่น เก้ายอดวัดอัมพวัน กรุงเทพฯ จัดสร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2465-2469 เป็นเหรียญที่หลวงพ่อสร้างขึ้นเองมีจำนวนน้อยมาก ลักษณะของเหรียญเป็นเหรียญทรงรูปไข่ปั๊มขอบกระบอก หูเชื่อม ด้านหน้าเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อหรุ่นครึ่งองค์ รอบรูปเหมือนเป็นยันต์ด้านบนเป็นตัว “อุ” หางยาวไปจรดเหรียญ บรรทัดลงมาอ่านได้ว่า “อะระหัง” บรรทัดต่อมาอ่านได้ว่า “มะอะ” บรรทัดลงมาเป็นตัว “อุ” ซ้อนกัน 2 ตัว ด้านหลังเป็นบล็อกหลังยันต์นะ องค์พระในวงกลมพิมพ์นี้ ยันต์นะจะอยู่ภายในเส้นล้อมวงรูปไข่โดยรอบจะเป็นอักขระขอม

ชี้ตำหนิ 

ด้านหน้าเส้นแตกคมชัด ตัวหนังสือเป็นแท่งเหลี่ยมสันคมชัดเจน ดูใบหน้าตากลมเป็นหลุมลึก ผิวเหรียญตึง เม็ดประคำนูนคม มีเส้นสเกลพิมพ์คมชัด ขอบเหรียญตั้งคม มีรอยกลึง

...

ด้านหลังตัวหนังสือเป็นแท่งคมชัด เส้นขอบเป็นสันคม ไม่ล้ม เหรียญไม่บวม ผิวเป็นกาบเกิดจากการรีดโลหะไม่ดี มีโอกาสแท้สูง

ด้านข้างอัดกระบอกและแต่งขอบข้างให้ตรงแต่จะมีรอยปลิ้นเล็กน้อย

ผู้เขียน : หยิบกล้องส่องพระ by โทน บางแค

Line : @tone8888

...