กิจกรรมชาวพุทธในวันออกพรรษา วันออกพรรษา 17 ตุลาคม 2567 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 จะมีการทำบุญที่ถือเป็นประเพณีนิยมที่ทำกันต่อเนื่องมายาวนาน นั่นคือการ "ตักบาตรเทโว" หรือเรียกชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหณะ" ซึ่งแปลว่าการหยั่งลงจากเทวโลก
ความเชื่อวันออกพรรษา
โดยตามความเชื่อของพุทธศาสนิกชนนั้น ถือว่าเป็นวันที่เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาประทับที่เมืองสังกัสนคร หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา มีพุทธศาสนิกชนไปเข้าเฝ้าเพื่อทำบุญตักบาตรกันเนืองแน่น
ประเพณีการตักบาตรเทโวที่เกิดขึ้นนี้ ก็สืบเนื่องมาจากความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา คือเมื่อมีเหตุการณ์อะไรปรากฏในตำนาน ก็จะปรารภเหตุนั้น ๆ เพื่อบำเพ็ญบุญกุศล เช่น การถวายทาน รักษาศีล เป็นต้น
ตักบาตรเทโวจึงนับเป็นการทำบุญอย่างมโหฬารของพุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน โดยบางวัดบางพื้นที่ก็กำหนดทำการตักบาตรเทโวในวันออกพรรษา คือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 บางวัดก็ทำในวันรุ่งขึ้น คือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ก็ได้แล้วแต่ว่าพื้นที่ไหนจะจัดกันวันใด
วันออกพรรษา เป็นวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ได้จำพรรษาครบกำหนดไตรมาส ตามพระพุทธบัญญัติแล้ว ท่านมีสิทธิ์ที่จะจาริกไปพักค้างคืนที่อื่นได้ ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติและยังได้รับอานิสงส์ (ผลดี) คือไปไหนไม่ต้องบอกลา 1 ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด 1 ลาภที่เกิดขึ้นแก่ท่านมีสิทธิ์รับได้ 1 มีโอกาสได้อนุโมทนากฐินและได้รับอานิสงส์ คือได้รับการขยายเวลาของอานิสงส์นั้นออกไปอีก 4 เดือน
อนึ่งมีชื่อเรียกวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งว่า "วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา" มีความหมายว่าพระภิกษุทั้งหลายทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อย ต่างเปิดโอกาสอนุญาตแก่กันและกัน ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้มีคำกล่าวปวารณาเป็นภาษาบาลี ว่า
...
"สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฏเฐนะ วา สุเตนะ วา ปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัสมันโต อะนุกัมปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฏิกะริสสามิ"
แปลว่า ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียใหม่ให้ดี
การที่พระท่านกล่าวปวารณา (ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน) กันไว้ ในเมื่อต่างองค์ต่างต้องจากกันไปองค์ละทิศละทาง ท่านเกรงว่าอาจมีข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น โดยตัวท่านเองรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือมองไม่เห็นเหมือนผงเข้าตาตัวเอง แม้ผงจะอยู่ชิดติดกับลูกนัยน์ตา เราก็ไม่สามารถมองเห็นผงนั้นได้ จำเป็นต้องไหว้วานขอร้องผู้อื่นให้มาช่วยดูหรือต้องใช้กระจกส่องดู
เพราะฉะนั้น พระท่านจึงใช้วิธีการกล่าวปวารณาไว้เพื่อให้ท่านรูปอื่นได้เห็นหรือแม้แต่ได้ยินได้ฟัง เรื่องดีไม่ดีไม่งามอะไรก็ตาม ให้กล่าวแนะนำตักเตือนได้โดยไม่ต้องเกรงใจกันทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยด้วยเจตนาดีต่อกัน
พิธีกรรมของชาวพุทธในวันออกพรรษา
พิธีกรรมของฆราวาสที่เกี่ยวเนื่องกันในวันออกพรรษานี้ก็ได้แก่การบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ เช่น การทำบุญตักบาตร รักษาศีล ปฏิบัติธรรม ฟังธรรม ทอดกฐิน ณ วัดที่อยู่ใกล้เคียง
มีการทำบุญอันเป็นประเพณีที่นิยมกระทำกันมานานแล้วในวันออกพรรษา ซึ่งเรียกว่า "ตักบาตรเทโว" หรือเรียกชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหณะ"
ครั้นครบกำหนดการทรงจำพรรษาครบ 3 เดือน พระพุทธเจ้าทรงปวารณาพระวัสสาแล้วเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่มนุษย์โลก ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 โดยเสด็จลงทางบันไดแก้วทิพย์ ซึ่งตั้งระหว่างกลางของบันไดทองทิพย์อยู่เบื้องขวา บันไดเงินทิพย์อยู่เบื้องซ้ายและหัวบันไดทิพย์ที่เทวดาเนรมิตขึ้นทั้ง 3 พาดบนยอดเขาพระสิเนรุราช อันเป็นที่ตั้งแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
ส่วนเชิงบันไดตั้งอยู่บนแผ่นศิลาใหญ่ใกล้ประตูเมืองสังกัสสนคร และสถานที่นั้นประชาชนถือว่าเป็นศุภนิมิต สร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็น "พุทธบูชานุสาวรีย์" เรียกว่า "อจลเจดีย์"
ทำไมต้องเป็นข้าวต้มมัด ข้าวต้มลูกโยน
ในวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาสู่มนุษย์โลกนั้น ประชาชนพร้อมกันไปทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมากสุดจะประมาณ พิธีที่กระทำกันในการตักบาตรเทโว ซึ่งถือตามประวัตินี้ก็เท่ากับทำบุญตักบาตร รับเสด็จพระพุทธเจ้าในคราวเสด็จลงมาจากเทวโลกนั่นเอง
...
บางวัดจึงเตรียมการให้คฤหัสถ์แต่งตัวเป็นเทวดาบ้าง เป็นพรหมบ้าง แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่มีล้อเคลื่อนและมีบาตรตั้งอยู่ข้างหน้าพระพุทธรูป ใช้คนลากนำหน้าพระสงฆ์ พวกทายก ทายิกาตั้งแถวเรียงรายคอยใส่บาตร เป็นการกระทำให้ใกล้กับความจริงเพื่อเป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ส่วนอาหารที่นำมาทำบุญตักบาตรในวันนั้น มีข้าวกับข้าวต้มมัดใต้ ข้าวต้มลูกโยนที่ห่อด้วยใบมะพร้าวหรือใบลำเจียกไว้หางยาว และข้าวต้มลูกโยนนี้มีประวัติมาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะตั้งใจอธิษฐานแล้วโยนไปให้ลงบาตรของพระพุทธเจ้า เนื่องจากมีคนจำนวนมากที่เข้าไปใส่บาตรไม่ได้นั่นเอง
ข้อมูล : วัดท่าไม้