ละคร พรหมลิขิต ทำให้แฟนๆ พร้อมรื้อฟื้นความรู้ทางประวัติศาสตร์กันอีกครั้ง และมีอีกหนึ่งตัวละครสำคัญในเรื่องที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยา คือเจ้าฟ้าพร ที่ต่อมาคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2 (พ.ศ. 2223 - 7 เมษายน พ.ศ. 2302)

เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ 31 แห่งอาณาจักรอยุธยา และเป็นพระองค์ที่ 4 ในราชวงศ์บ้านพลูหลวง เรียกกันอย่างสามัญชนว่า ขุนหลวงบรมโกษฐ หรือ พระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกษฐ รัชสมัยของพระองค์เป็นยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาก่อนที่อาณาจักรจะล่มสลายหลังจากพระองค์เสด็จสวรรคต 9 ปี “25 ปีในรัชสมัยของพระองค์มีความสำคัญคือ เป็นยุคสงบสุขยุคสุดท้ายของอยุธยา เป็นยุคที่งานวรรณกรรม ศิลปกรรม เฟื่องฟู”

ซึ่งรับบทโดย เด่นคุณ งามเนตร นักแสดงมากความสามารถที่มารับบทอันทรงเกียรตินี้ ในบทบาทตัวละคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ที่มีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้าพร

...

เจ้าฟ้าพร คือใคร? 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ พ.ศ. 2223 ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ มีพระเชษฐาคือ เจ้าฟ้าเพชร

พระองค์ได้รับการสถาปนาเป็นพระบัณฑูรน้อยในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 และเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 หรือพระเจ้าท้ายสระ

หลังการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 9 เกิดการสู้รบกันระหว่างพระองค์กับพระราชโอรสของพระเจ้าท้ายสระคือ เจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ อันเนื่องมาจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยยศที่กรมพระราชวังบวรสถานมงคล มีสิทธิที่จะขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อพระเชษฐาอย่างถูกต้อง

แต่เมื่อพระเจ้าท้ายสระใกล้สวรรคตกลับตัดสินพระทัยยกราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้านเรนทร พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ แต่เจ้าฟ้านเรนทรไม่รับสืบราชสมบัติเพราะเห็นว่ามีกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งสมควรได้สืบราชสมบัติมากกว่า พระเจ้าท้ายสระจึงยกราชสมบัติให้แก่เจ้าฟ้าอภัย (พระราชโอรสองค์รอง) เพราะเหตุนี้ จึงเป็นเหตุให้เกิดการต่อสู้แย่งชิงราชบัลลังก์จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง กินระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี หลังเหตุการณ์สงบลง กรมพระราชวังบวรสถานมงคลจึงได้ขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พร้อมสำเร็จโทษเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์

หลังจากที่ขึ้นครองราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระโทมนัสแค้นพระทัยสมเด็จพระเชษฐาธิราชเจ้า ตรัสว่าจะไม่เผาพระบรมศพสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระ แต่จะให้ทิ้งน้ำเสีย พระยาราชนายก ว่าที่กลาโหม จึงกราบทูลอ้อนวอนพระองค์อยู่หลายครั้ง จนพระองค์ทรงยอมพระทัยและทรงมีพระกรุณาดำรัสสั่งให้ตั้งพระเมรุมาศขนาดน้อย ขื่อ 5 วา 2 ศอก ให้ชักพระบรมศพออกถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระที่นั่งท้ายสระตามโบราณราชประเพณี

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2280 เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอย่างต่อเนื่องโดยเสด็จประพาสโดยกระบวนนาวาพยุหะฉลองวัดหันตราและสมโภชพระอาราม 3 วัน ในปีต่อมาก็เสด็จสมโภชพระพุทธบาท

เมื่อ พ.ศ. 2293 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีพระชนมายุ 71 พรรษา (บ้างก็ว่า 70 พรรษา) ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2301 เดือนมิถุนายน เวลาค่ำปฐมยามเศษ (ราว 18.00 น.) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจึงเสด็จสวรรคตเมื่อวันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2301 สิริพระชนมายุ 78 พรรษา พระองค์อยู่ในราชสมบัติรวม 26 พรรษาถ้วน

พระราชกรณียกิจสำคัญ

การเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงอังวะ

เมื่อ พ.ศ. 2287 ปีชวด เมืองเมาะตะมะกับเมืองทวายเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น มังนราจังซู เจ้าเมืองเมาะตะมะ และ แนงแลกแวซอยดอง เจ้าเมืองทวายอพยพครอบครัวและชาวเมืองรวม 300 คน เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ ขุนละคร กับ ขุนนรา นายด่านในขณะนั้นจึงพาไปให้แก่เจ้าพระยาชำนาญบริรักษ์ (อู่) แล้วพาเข้ามายังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระมหากรุณาธิคุณรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ พระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภคกับตราภูมิห้าม แล้วให้ปลูกบ้านเรือนที่อยู่อาศัยแก่เจ้าเมืองทั้งสองรวมชาวเมืองให้อยู่ข้างวัดมณเฑียรในกรุงศรีอยุธยา ทรงตรัสถามมูลเหตุกับเจ้าเมืองทั้งสองนั้น

มังนราจังซูและแนงแลกแวซอยดองกราบทูลว่าหัวหน้ามอญชื่อ สมิงถ่อ กับ พระยาทะละ คิดกบฏต่อพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี กรุงอังวะ ได้เข้าปล้นยึดกรุงหงสาวดีแล้วสมิงถ่อจึงตั้งตนเป็นกษัตริย์ พระยาทะละจึงยกบุตรีของตนให้เป็นมเหสีของพระเจ้ากรุงหงสาวดี (สมิงถ่อ) มังนราจังซูและแนงแลกแวซอยดองจึงเกณฑ์ไพร่พลเมืองจากเมืองเมาะตะมะ ทวาย และเมืองกะลิออง เข้าตีเมืองหงสาวดีช่วยเหลือพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดีแต่ไม่สำเร็จจึงถูกฝ่ายพระเจ้ากรุงหงสาวดี (สมิงถ่อ) ตามสกัดจึงหนีมาพึ่งกรุงศรีอยุธยา

...

ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณพระเจ้ามหาธรรมราชาธิบดี แห่งกรุงอังวะ ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ พระเจ้ากรุงศรีอยุธยานั้นทรงเป็นที่พึ่งแก่ชาวเมาะตะมะและทวาย ก็ทรงพระโสมนัสจึงทรงแต่งพระราชสาส์นและเครื่องราชบรรณาการ ประกอบด้วย พานทองประดับ 1 คนโทน้ำครอบทอง 1 ผอบเมียงทอง 1 ขันทอง 1 พระภูษาทรงลายกงจักรริมแดง 1 ผ้าทรงพระมเหสีสำรับ 1 ผ้าลายมีลายโตๆ ต่างๆ กัน เรือสารพิมานสำทรงลำ 1 กับน้ำมันดินและดินสอแก้ว ดินสอศิลา และสิ่งของอื่นๆ อีกจำนวนมาก

พร้อมโปรดให้ มังนันทจอสู และ มังนันทจอถาง เป็นราชทูตและอุปทูตแห่งกรุงอังวะนำความพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการไปถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

กบฏจีนนายก่าย

กบฏจีนนายก่าย หรือ จีนนายไก้ เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2277 รัชกาลพระองค์ สืบเนื่องจากก่อนที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศจะเสด็จขึ้นครองราชย์ ได้มีการประหารชีวิตขุนนางและเจ้านายที่เข้ากับฝ่ายเจ้าฟ้าอภัย คลองนายก่ายกลุ่มหนึ่งได้รวมพรรคพวกกันรวม 300 คนเศษ สมคบคิดบุกเข้าปล้นพระราชวังหลวงในระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จประพาสคล้องช้าง ณ เมืองลพบุรี แต่ปล้นไม่สำเร็จจึงหนีไป ข่าวกบฏรั่วไหลไปยังพระยาเพ็ชรพิไชย (ใจ) จางวางกรมล้อมพระราชวังหลวงเป็นผู้รักษากรุง กับขุนนางจำนวนหนึ่ง พระยาเพ็ชรพิไชย จึงได้นำกำลังเข้าปราบพวกกบฏ บ้างถูกฆ่า บ้างแตกพ่ายหนีไปได้

พระยาเพ็ชรพิไชยส่งเรือเร็วไปยังเมืองลพบุรี กราบบังคมทูลรายงานข่าวกบฏให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบ ครั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเสด็จกลับมายังกรุงศรีอยุธยาแล้ว โปรดฯ ให้ติดตามจับตัวกบฏได้จำนวน 281 คน ไต่สวนมูลคดีแล้วจึงประหารชีวิตพวกหัวหน้ากบฏ 40 คน ที่เหลือโปรดฯ ให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนโบยตามโทษานุโทษแล้วปล่อยตัว

...

เหตุกบฏในครั้งนี้ทำให้ชาวจีนในกรุงศรีอยุธยาถูกจับตามองและเป็นที่รังเกียจของชาวกรุงศรีอยุธยาไปนานพอสมควร

ส่งสมณทูตฟื้นฟูศาสนาพุทธ ณ กรุงลังกา

สืบเนื่องจากพระพุทธศาสนาในศรีลังกาเสื่อมลงจากการล่าอาณานิคมของโปรตุเกสตั้งแต่ พ.ศ. 2048 แม้ชาวดัตซ์กับชาวลังกาได้ช่วยขับไล่ชาวโปรตุเกสออกไปจนสำเร็จเมื่อ พ.ศ. 2201 แต่ชาวดัตซ์ได้เข้ามาครอบครองและเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ในศรีลังกา เมื่อพระเจ้าราชสิงห์ที่ 1 ขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2124 แต่พระองค์ทรงหันไปนับถือศาสนาฮินดูนิกายไศวะและทำลายพระพุทธศาสนาด้วยการเผาคัมภีร์และปราบพระสงฆ์จนหมดสิ้น

ถึงรัชสมัยพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะทรงจะฟื้นฟูพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงทราบจากพ่อค้าชาววิลันดาว่าพระพุทธศาสนาของกรุงศรีอยุธยาในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นเจริญรุ่งเรืองมากจึงแต่งคระราชทูตลังกาเชิญพระราชสาส์นมาขออาราธนาพระสงฆ์ของกรุงศรีอยุธยา แต่คระราชทูตลังกาไปติดค้างอยู่ที่เมืองปัตตาเวียจึงไม่ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

เมื่อ พ.ศ. 2293 รัชกาลพระเจ้าเกียรติศิริราชสิงหะ กรุงลังกา ทรงเลื่อมในพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกับพระเจ้าศรีวิชัยราชสิงหะ จึงมีพระราชสาส์นเขียนเป็นภาษาบาลี และเครื่องราชบรรณาการพร้อมส่งคณะราชทูต 5 คน ชื่อ อตปัตตุเว โมโหฏฏาละ, เวฑิกการะ โมโหฏฏาละ, อิริยคมะ ราละ, อยิตตาลิยัทเท ราละ, และวิละภาเคทะระ ราละ พร้อมผู้ติดตาม มายังกรุงศรีอยุธยาเพื่อขออาราธนาพระสงฆ์ของกรุงศรีอยุธยาไปอุปสมบทชาวลังกา เมื่อคณะราชทูตลังกาเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นเต็มไปด้วยอัธยาศัยไมตรี

...

แล้วยังทรงพาคณะราชทูตลังกาไปนมัสการรอยพระพุทธบาท พระพุทธไสยาศน์ วัดคังคาราม วิหารพระมงคลบพิตร และพระราชทานของบำเหน็จ หีบเงิน หีบทอง ของมีค่าต่างๆ อีกมากมาย

พร้อมกันนี้ ยังโปรดให้พระอุบาลีเถระเป็นหัวหน้า มีพระอริยมุนีกับคณะพระสงฆ์ 12 รูป เดินทางโดยเรือเดินสมุทรของชาวดัตซ์ไปศรีลังกาพร้อมด้วย พระมณฑป พระพุทธรูป รอยพระพุทธบาทจำลองวัดพระพุทธบาท หีบพระธรรม เครื่องราชบรรณาการ และพระราชสาส์น

คณะสมณทูตกรุงศรีอยุธยาเดินทางไปถึงลังกาสำเร็จได้พำนักที่วัดบุพพาราม กรุงแกนดี ได้ประกอบพิธีผูกสีมาแล้วอุปสมบทกุลบุตรชาวลังกา สามเณรสรณังกร ที่อุปสมบทเมื่อคราวนั้นก็ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นพระสังฆราชแห่งลังกาทวีป จึงเกิดคณะสงฆ์อุบาลีวงศ์ (สยามวงศ์ หรือสยามนิกาย) ใช้เวลา 7 ปีเศษ ในการฟื้นฟูกระทั่งคณะสงฆ์อุบาลีวงศ์กลายเป็นพุทธศาสนนิกายที่ใหญ่ที่สุดในศรีลังกาอยู่จวบจนถึงปัจจุบัน

ด้านการเมืองการปกครอง

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้ทรงทำนุบำรุงบ้านเมืองและพระศาสนาจนกล่าวได้ว่ากรุงศรีอยุธยาในสมัยพระองค์นั้น สมัยรัชกาลที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์เรียกว่าเป็นยุค บ้านเมืองดี มีขุนนางคนสำคัญที่เติบโตในเวลาต่อมา ในรัชกาลของพระองค์หลายคน เช่น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นต้น ในทางด้านวรรณคดี ก็มีกวีคนสำคัญ เช่น เจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ เจ้าฟ้ากุณฑล และเจ้าฟ้ามงกุฎ ซึ่งเป็นพระราชโอรสและพระราชธิดา เป็นต้น

ทว่าการเมืองภายในกรุงศรีอยุธยารัชสมัยพระองค์ก็ยังมีความขัดแย้งสูงมาก ไม่สามารถควบคุมการแสวงหาผลประโยชน์ของขุนนางได้มากนักด้วยสาเหตุการขยายตัวด้านการค้าและเงินตราที่มุ่งแต่ “...จเอาแต่เงินเป็นอนาประโยชน์เอง” นอกจากนี้การขึ้นครองราชย์ของพระองค์ก็ล้วนมีขุนนางให้ความช่วยเหลือ พระองค์จึงทรงประนีประนอมผลประโยชน์ และอำนาจระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับขุนนางให้เกิดความสงบสุข

ด้านวรรณกรรม

ในรัชกาลพระองค์ทรงทำนุบำรุงบทกวีและวรรณคดีให้เจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเป็นองค์อุปถัมภ์วรรณคดีตลอดระยะเวลาที่ครองราชย์ มีงานนิพนธ์ทุกชนิดโดยเฉพาะกลอน ทั้งกลอนกลบทและกลอนบทละคร เชื่อว่าถือกำเนิดขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

วรรณกรรมชิ้นเอกที่เป็นที่รู้จักในรัชกาลพระองค์ ได้แก่ โคลงชะลอพระพุทธไสยาสน์, โคลงประดิษฐ์พระร่วง (ปรดิดพระร่วง) ฉบับพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าอยู่บรมโกศ, โคลงพาลีสอนน้อง, โคลงราชสวัสดิ์, โคลงทศรถสอนพระราม, โคลงราชานุวัตร, จินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ, อิเหนา, กาพย์ห่อโคลงนิราศประพาสธารทองแดง พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์, กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์, กาพย์ห่อโคลงนิราศพระบาท พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศไชยเชษฐ์สุริยวงศ์, นันโทปนันทสูตรคำหลวง สูตรคัมภีร์ทีฆนิกายภาษาบาลี, พระมาลัยคำหลวง, บทเห่เรื่องกากี 3 ตอน

คลิกเพื่ออ่าน “ข่าวบันเทิง” เพิ่มเติม