จากเด็กซนๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในโรงพิมพ์ และเติบโตมาท่ามกลางสายตาของลุงป้าน้าอาชาวไทยรัฐ สำหรับ จิตสุภา วัชรพล ทายาทเจเนอเรชัน 3 ของวัชรพล สายเลือดแท้ๆ ของ ยิ่งลักษณ์ วัชรพล ที่เข้ามาปลุกปั้นต่อยอด "ไทยรัฐ" ให้ขึ้นแท่นสำนักข่าวอันดับ 1 ของเมืองไทย

ล่าสุด จิตสุภา วัชรพล CO-CEO ของไทยรัฐทีวีและไทยรัฐออนไลน์ ได้มานั่งเล่าเปิดใจในรายการ Level Up ที่ออนแอร์ทางช่องยูทูบ Thairath Online Originals ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 20.00 น. ซึ่งเจ้าตัวได้เปิดใจเล่าแบบหมดเปลือก ถึงชีวิตในวัยเด็ก สู่จุดเปลี่ยนนั่งแท่นผู้บริหารอย่างเต็มตัว กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องพิสูจน์ตัวเองให้ทุกคนได้เห็นจนเป็นที่ยอมรับได้  

หน้าที่ของ CEO ทำอะไรบ้าง?

CEO เป็นเหมือนผู้นำขององค์กร เป็นคนที่จะพาพนักงานทุกคน ทีมทุกคนเดินไปข้างหน้า จะไปซ้ายจะไปขวาจะไปทางไหน ซึ่งการดู สั่ง เซ็น อาจเป็นแอ็กชันที่เห็นจับต้องได้ แต่กว่าจะดู กว่าจะสั่ง กว่าจะเซ็นเบื้องหลังมันต้องมีของก่อนว่าในหัวของเราอยากให้องค์กรนี้เป็นอย่างไร เติบโตไปในทางไหน เดินไปในทางไหน จะสู้กับคู่แข่งด้วยจุดแข็งอะไร เอาจริงๆ เราเชื่อว่าใครที่มีความตั้งใจทุกคนสามารถเป็น CEO ได้

...

Level ตั้งแต่เด็ก-เรียนหนังสือของตัวเอง?

เป็นเด็กเนิร์ดค่ะ เป็นเด็กเนิร์ดที่น้องหนอน (หนอนหนังสือ) ชอบอ่าน อ่านหนังสือตั้งใจเรียนใส่แว่นเพราะสายตาสั้นและสายตาเอียง แล้วก็เป็นคนให้เพื่อนลอกการบ้านอีกทีนึง ซึ่งเราจะตั้งใจจดทุกคำที่คุณครูสอน ซึ่งเราจะเป็นคนชอบอ่านหนังสือเป็นคนตั้งใจเรียน และจะรักการอ่านหนังสือ ชอบอ่าน ชอบเขียน

เป็นเด็กที่ถ้าเลิกเรียนจะต้องกลับบ้านมาเรียนพิเศษที่บ้านเพราะมีครูมาสอน ซึ่งสมัยนั้นไม่รู้สึกว่ามันเครียดเพราะเรารู้สึกว่ามันสนุกเพราะชอบเรียนอยู่แล้ว ส่วนตัวไม่เคยเกเรเพราะเราชอบหมกตัวอยู่แต่ในห้อง คุณพ่อ-คุณแม่ก็จะบ่นว่าไม่ลงมาแฮงก์เอาต์หรือปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นภายในบ้าน

ส่วนเรื่องที่รู้สึกว่ากระทบจิตใจมากที่สุดในวัยเด็ก น่าจะเป็นช่วงที่พี่เลี้ยงลาออก และเป็นพี่เลี้ยงที่เลี้ยงเรามาตั้งแต่เกิด จนตอน ม.4 เขาลาออก ซึ่งตอนกลางคืนเขาจะนอนกับเราด้วย ตอนนั้นเสียใจมาก และกลับมาบ้านมานั่งเปิดเพลงคล้ายคนอกหัก แล้วก็นั่งร้องไห้อยู่ในห้องคนเดียว

ซึ่งตอนนั้นเราไม่รู้ตัวว่าจะต้องโตมาเป็นอะไร แต่ตอนนั้นรู้ว่าแค่ที่บ้านทำธุรกิจหนังสือพิมพ์ แต่ไม่รู้ว่ามันอิมแพ็คยิ่งใหญ่ขนาดนี้ ตั้งแต่ ม.4 ม.5 เราอยากเป็นนักเขียน อาจจะเป็นเพราะว่าเราโดนปลูกฝังมาว่าโตขึ้นเราจะต้องมาทำหนังสือพิมพ์นะ ซึ่งก็จะถูกปลูกฝังพาเรามาเล่นที่โรงพิมพ์มาดูว่าเค้าทำอะไรกัน

ซึ่งตอนเด็กเราก็ได้มาช่วยสอดหนังสือพิมพ์ที่ทุกคนจะต้องมานั่งรวมกัน เราก็ต้องมานั่งทำกับเขาด้วย ซึ่งมันดูอบอุ่นเหมือนเป็นอีเวนต์อะไรสักอย่างเพราะพนักงานจะเยอะมาก ถ้าช่วงม.ต้น หรือม.ปลายก็จะเริ่มรู้มากขึ้น ว่ามันก็จะต้องมีนักข่าว มีกองบรรณาธิการ แต่เขาทำอะไรเราก็จะไม่ได้รู้ลึกมาก จนช่วงม.ปลายก็เคยมาฝึกงานที่โต๊ะบันเทิงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งเราก็จะได้ออกไปสัมภาษณ์ตามกองละครที่เปิดกองหรือถ่ายรายการ

ฝึกงานครั้งแรกได้สัมภาษณ์เป็นอย่างไร?

เขินค่ะ เพราะว่าสัมภาษณ์ตอนนั้นพี่เอ๋ที่เป็นหัวหน้าโต๊ะบันเทิง เค้าก็จะดูว่าเราชอบศิลปินคนไหน ซึ่งเราชอบพี่บีมดีทูบี และจะมีวันนึงที่เขาจะต้องไปออกรายการ และเขาให้สัมภาษณ์ ซึ่งเราก็ถูกชวนไปสัมภาษณ์แต่เราก็เขิน เราก็จะมีสมุดที่นักข่าวชอบใช้เอาไว้จด ตอนนั้นมันคือฝันที่เป็นจริง

รู้ตัวว่าจะต้องสานต่อกิจการครอบครัวตอนไหน?

ช่วงประมาณ ม.6 ตอนที่เราต้องเลือกคณะ ต้องเอ็นทรานซ์และเลือก 4 อันดับ ใจตอนนั้นอยากเรียนอักษรอันดับ 1 แต่พอได้คุยกับคุณแม่ คุณแม่อยากให้เรียนบริหารธุรกิจเพื่อที่จะได้เอากลับมาใช้ทำงานกับที่บ้านในอนาคต ก็เลยเป็นที่มาเลือกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ก็คือบริหารธุรกิจนั่นแหละ ที่จุฬาฯ เป็นอันดับ 1 จำได้ว่าไม่ได้ขอโอกาสไม่ได้แย้งอะไรคุณแม่ แต่ก็เก็บมานั่งคิดคนเดียวว่าเสียดาย แต่ตอนนั้นเราก็รู้อยู่แล้วแหละว่าวันนึงเราต้องได้กลับมาทำงานที่ไทยรัฐของที่บ้าน

แต่ช่วงประมาณ ม.6 ช่วงที่ต้องเลือกคณะก็รู้ตัวว่าเป็นคนไม่ชอบเลขเพราะเราเรียนสายศิลป์ภาษาฝรั่งเศส และตอนนั้นเรารู้ตัวว่าเป็นคนโง่เลขมากไม่ชอบ แต่ต้องเข้าบัญชี ความคิดว่าจะไหวไหมจะรอดไหม คือตอนนั้นก็ไม่เข้าใจว่าบริหารธุรกิจมันเรียนอะไร ว่ามันอาจจะหลากหลายกว่าเรื่องเลข เราก็มีภาพอยู่แค่นั้นว่าคณิตศาสตร์ไม่ได้ ตอนนั้นถึงไม่ถึงขั้นร้องไห้แต่เฟลกับตัวเอง เพราะตอนปี 1 มีวิชาแคลคูลัส เราได้ D ตัวแรกในชีวิตมา ก็รู้สึกเฟลเสียเซลฟ์มาก

จากเด็กเรียนดี ไม่เคยโดนดุ ไม่เคยโดนทำโทษ มาเจอการเฟลกับตัวเองในช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย?

เฟลกับตัวเอง เราก็คิดว่าฉันทำอะไรลงไป และก็นึกเสียดายว่าฉันควรน่าจะตั้งใจเรียนมากกว่านี้ เพราะว่าเราน่าจะเอ็นจอยกับโมเมนต์ของช่วงชีวิตตอนนั้นมากไปหน่อย ปี 1 เทอม 1 ซึ่งเราก็พยายามตั้งใจเรียนมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะรู้สึกว่าก็สนุกกับโมเมนต์ของช่วงชีวิตตอนนั้น

...

เคยมีโมเมนต์ใจแตกไหม?

เริ่มใจแตกจริงๆ อาจจะช่วงประมาณ ม.6 ที่เริ่มทำกิจกรรมอยู่ในคณะสภานักเรียน กีฬาสี และเริ่มมีกิจกรรมร้องเพลงกับพี่ๆ ที่โรงเรียน เราค้นพบช่วงม.4 ว่าเราชอบร้องเพลง

พอในวัยมหาวิทยาลัยเรากินเหล้ากับเพื่อนปาร์ตี้กันปกติเพราะฟรีดอมมากขึ้นรู้สึกว่าตัวเองโตแล้วและช่วงนั้นคุณแม่ก็ให้รถมาขับเราก็รู้สึกอิสระไปรับเพื่อนไปเที่ยวเลย แต่เราก็ไม่ได้ออกนอกลู่นอกทางไปทำอะไรเกี่ยวกับยาเสพติดก็ไม่เคย แต่เคยกลับบ้านเช้าซึ่งสาเหตุเพราะอ่านหนังสืออยู่ที่ใต้ถุนตึกนิติฯ ถึงตี 4 กับแก๊งเพื่อน CU แบนด์

ที่เข้า CU แบนด์เพราะรุ่นพี่พาไปสมัคร คือตอนนั้นก็เอ็นจอยร้องเพลงและคิดว่าตัวเองร้องเพลงดีประมาณนึง ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอยากเป็นนักร้องแต่คิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์อยู่ส่วนนึง

เข้า CU แบนด์ ถูกมองไหมว่าเป็นลูกคนรวย?

เหมือนเพื่อนๆ ก็จะรู้จักนามสกุลว่าเป็นนามสกุลดัง ที่บ้านทำหนังสือพิมพ์ ซึ่งตอนนั้นเราก็เริ่มพอจะรู้ถึงความยิ่งใหญ่ธุรกิจที่บ้านแล้ว แต่เราก็รู้สึกว่าถูกปฏิบัติตัวเหมือนคนทั่วไปไม่ได้มีใครมาอะไรเป็นพิเศษ แต่ก็จะมีคนให้มาช่วยเป็นสปอนเซอร์ลงข่าวพีอาร์ประชาสัมพันธ์บ้างเล็กน้อย

...

ทำงานครั้งแรกอายุเท่าไร?

ตอนอายุ 21-22 จบมหาวิทยาลัย บริษัทแรกคือทำเอเจนซี่โฆษณา เงินเดือนเดือนแรก 14,000 ตอนนั้นเราสมัครเข้าไปทำตำแหน่งจูเนียร์เออี ซึ่งเราต้องทำงานบริการลูกค้าแต่ด้วยความที่มันเป็นจูเนียร์มันไม่ต้องไปถึงมือลูกค้าโดยตรง ก็จะเป็นการซัพพอร์ตพี่ในทีม

ตอนนั้นที่เข้าไปสัมภาษณ์งานเค้าก็ถามเลยว่าคุณเป็นลูกคุณหนูหรือเปล่า ซึ่งเราตอบไปว่าเป็นลูกคุณหนูค่ะ ซึ่งลูกคุณหนูคำจำกัดความคือการเติบโตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมตรงที่มีคนช่วยดูแลในหลายๆ ส่วน แต่ก็บอกเขาว่าเราก็เป็นคนมีความตั้งใจจริงถ้าตั้งใจจะทำอะไรเราก็คือสุด

พอเข้าไปทำงานเดือนแรกเราก็โดนรับน้อง แต่เข้าไม่ได้ตั้งใจจะรับน้องเรา ซึ่งงานโปรเจกต์นั้นมันมีการบริหารจัดการเวลาของทีมครีเอทีฟ และปรากฏว่าทำงานอยู่ถึง 6 โมงเช้า ซึ่งเราคิดว่ามันเฮ้ยนี่คือมาตรฐานการทำงานที่นี่เหรอ เราก็คิดว่ามันจะรอดไหม แต่ก็มีพี่ที่เป็นเมเนเจอร์คอยซัพพอร์ต แต่เราก็ยังรู้สึกสนุกและสุขภาพร่างกายมันก็พร้อม

วันรุ่งขึ้นหัวหน้าเขาก็มาคุยว่าไม่ต้องตกใจเพราะเคสนี้มันผิดปกติมันไม่ใช่ปกติ แล้วเขาก็บอกว่าคราวหน้าไม่ได้เป็นแบบนี้แล้ว ซึ่งเราทำมาได้ประมาณ 2 ปี ซึ่งบริษัทนี้เป็นโรงเรียนที่ดีมากในการทำงาน ในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กร ความเป็นมืออาชีพของขั้นตอนการทำงาน ทุกอย่างถูกเซตไว้อย่างเป็นระบบ ได้เห็นบรรยากาศของทีมแต่ละทีมที่พร้อมจะเกื้อหนุนกันและกัน 

หลังจากนั้นออกไปเรียนปริญญาโท?

ซึ่งเราก็เป็นคนเลือกเอง คือเลือกจากเมืองและประเทศที่เราต้องการจะไป ซึ่งเราเลือกประเทศอเมริกา ตอนนั้นเราอยู่กับน้องสาวน้องแนท เพราะน้องไปเรียนปริญญาตรีที่เมืองเดียวกันคือที่นิวยอร์กก็เลยแชร์อพาร์ตเมนต์

...

ในตอนนั้นเราไปเรียน Marketing ที่ NYU รู้สึกว่าสนุก เพราะมันอีกสเตปหนึ่งของการเปิดโลกและอิสระ ได้ใช้ชีวิตเป็นกิจกรรมนอกเวลาก็จะมีเยอะขึ้น ได้แฮงก์เอาต์กับเพื่อนตลอดเวลา (และมีแฟนไหม?) เรามีแฟนช่วงเรียนปริญญาตรีตอนปี 2 และคบอยู่ 7 ปี ซึ่งเราไปต่อปริญญาโทที่เมืองนอกด้วยกัน

การไปเรียนที่นั่นก็มี Culture shock เพราะระบบการเรียนการสอนที่นั่นจะเน้น Critical Thinking เป็นการอ่านเคส แสดงความคิดเห็นว่าถ้าเป็นเราจะทำยังไงกับเคสนี้ และยกมือถาม เราก็ไม่กล้ายกมือ ต้องรอให้ครูมาเลือกจิ้มถาม ครูเคยเรียกไปแล้วมาว่ายูต้องพยายามพูดให้เยอะขึ้นนะ ซึ่งเราก็ต้องพยายามในการแอ็กทีฟตัวเองขึ้นมา เลยต้องพยายามต่อสู้กับความกลัวของตัวเอง (เราก็สบายมาตลอด เคยคิดไหมว่าเราไม่สู้ก็ได้ เพราะไม่สู้ก็อยู่รอดได้?) ไม่เคย เพราะคิดว่าทุกเรื่องฉันต้องทำให้สุด ทำให้สำเร็จ ไม่เคยนึกถึงการยอมแพ้ระหว่างทาง

หลังจากจบปริญญาโทกลับมาทำงานอะไร?

กลับมาทำงานที่ไทยรัฐเลย ตำแหน่งแรกคือ Marketing Manager ช่วง 3 เดือนแรก เราก็ไปฝึกตรงนั้นก่อน เพราะช่วงที่ฝึกเราเริ่มเห็นอะไรหลายอย่างที่มันตั้งคำถามว่าทำไมเป็นแบบนี้ ทำไมอันนี้เป็นอย่างนี้ แต่ตอนนั้นเราไม่ได้ทำอะไรมาก เพราะว่า 3 เดือน ทำไม่ได้ เราก็เจียมตัวว่าฉันมาในช่วงสั้นๆ เราก็จะยังไม่ได้ออกฤทธิ์ไม่ได้มีปากมีเสียง

เข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวแบบจริงจัง ทำงานลำบากไหม เพราะทุกคนรู้ว่าเราเป็นลูกหลานเจ้าของ ทุกคนกล้าตำหนิเรามั้ย?

สมัยนั้นไทยรัฐออนไลน์ยังอยู่ในขนาดเล็กมาก ยังไม่ได้มี C level หรือไดเรกเตอร์ ไม่ได้มีหัวหน้าชัดเจนนอกจากพี่เนียร์พี่ชายของเรา ซึ่งเขาก็ไม่ได้มาบอกว่าเราต้องทำอย่างนี้อย่างนั้น ซึ่งมันก็ไม่ได้ลงดีเทลเยอะ มันไม่ได้ยากลำบาก ในแง่ของการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน (เคยโดนปรามาสไหมเพราะปัญหาของเจน 3 คือคนก็พูดว่าลูกหลานไงยังไงก็ต้องได้มาทำอยู่แล้วไหม?) เราคิดว่าเราไม่มีโมเมนต์นั้น เพราะเรามาวิ่งเล่นในโรงพิมพ์ตั้งแต่เด็ก เพราะทุกคนที่อยู่มาเก่าแก่ก็จะเอ็นดู ทุกคนจะเรียกเราว่าน้องนิค

(โดนขัดแย้งบ้างไหม?) ประจำเลยค่ะ แต่เราอยู่ฝั่งออนไลน์ก็ไม่ได้ทำงานกับฝั่งหนังสือพิมพ์มาก เพราะเราจะอยู่ในกองออนไลน์ของเราเอง แล้วมันก็เริ่มโตขึ้น และเริ่มไปยุ่งกับงานคนอื่นมากขึ้น แล้วก็ปรับตำแหน่งและสโคปงานของตัวเอง ความรับผิดชอบก็เริ่มใหญ่ขึ้น ไม่เคยมีใครบอกเราว่าต้องทำยังไงหาเองไปคุยกับคนในทีม Marketing ที่เขาอยู่มาก่อน 

(อะไรช็อกสุดที่เจอ) วัฒนธรรมในการส่งอีเมลและวัฒนธรรมในการประชุม คือตอนที่เราทำงานที่แรกเป็นบริษัทเอเจนซี่โฆษณาระดับโกลบอล ทุกอย่างมันดูมืออาชีพไม่มีคุยเล่น ซึ่งเราจะมีการคุยกับทีมและเราคิดว่าวัฒนธรรมในการส่งอีเมลและวัฒนธรรมในการประชุมเป็นอะไรที่จะต้องเปลี่ยน ซึ่งเราเอาวัฒนธรรมขององค์กรที่เคยฝึกงานมาใช้ ซึ่งมันไม่ได้มีการตึงเครียดแต่มันก็มีความเป็นมืออาชีพว่าไม่คุยเล่น

แต่พอมาเจอกับทางไทยรัฐออนไลน์ เราก็รู้สึกช็อก วัฒนธรรมในการประชุมมันทำให้เราเกิดคำถามว่าอันนี้เป็นการประชุมเหรอ มันเหมือนคุยเล่นมากกว่าที่จะเป็นประชุม

ซึ่งตอนนั้นเราเริ่มรู้แล้วเราว่ามีอำนาจในการที่จะปรับเปลี่ยน แต่มายเซตเราตอนนั้นที่เรียนจบกลับมา ฉันต้องแบกรับภาระอันใหญ่หลวงจังเลย ก็เริ่มกดดัน จะไหวมั้ยจะรอดมั้ย และเห็นปัญหาเยอะ เราก็มองว่ามันควรจะดีกว่านี้หรือมันควรจะเป็นอีกแบบหนึ่ง สมัยนั้นอาจจะยังไม่ตกผลึกทางโลกมากก็เลยมีความไม่แฮปปี้ และรู้สึกว่ากดดันว่าฉันจะต้องเป็นผู้เปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้

การทำงานตอนนั้นมีช่องว่างของวิธีการทำงานคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่บ้างไหม?

มีบ้าง ซึ่งมันจะเป็นปัญหาปกติของธุรกิจครอบครัว และช่องว่างของวัยต่างๆ มีผลต่อการทำงานทั้งในเชิงนโยบายกับวิธีการวิธีคิด เราก็จะมีการประชุมในครอบครัวถึงการทำงานแต่ก็ไม่ได้บ่อยเท่าไร และเป็นมีตติ้งที่เราจัดการ ซึ่งเราก็จะตั้งหัวข้อในการประชุมต่างๆ

ทั้ง 2 ทางต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สไตล์ และทำความเข้าใจว่าเขาเกิดและเติบโตมาในบริบทแบบนึง เราเกิดและเติบโตมาในบริบทอีกแบบนึง เพราะฉะนั้นวิธีคิดในเรื่องมุมมองเรื่องนี้มันก็เลยไม่เหมือนกัน

ซึ่งก็ใช้เวลาอยู่นานพอสมควร 6-7 ปีกว่าจะทำใจและปล่อยวางได้ เพราะช่วงแรกๆ ที่มาทำงานเราก็มีคำถามมากพอสมควรไม่ใช่แค่คนในครอบครัว แต่กับพนักงานที่อาวุโสสูงกว่าเรา แต่วิธีการทำงานวิธีคิดของเขาไม่เหมือนจากสิ่งที่เราคิดหรืออยากให้มันเป็น

(เจน 2 กับเจน 3 เคยทะเลาะกันหนักไหม?) ไม่เคยนะคะ ไม่เคยถึงขั้นบ้านแตกแต่ก็จะมีโกรธและไม่ได้คุยกันเป็นช่วงๆ มีบ้างแต่เราพยายามจะใช้มุมของความเป็นโปรเฟสชันแนลเข้ามาคิดในเรื่องนี้ให้ได้มากที่สุด พยายามจะเข้าใจอีกฝั่งนึงว่ามิติมุมมองความเป็นเจ้าของมันอาจจะต่างกัน เลยทำให้มุมมองในการขับเคลื่อนหรือการทำงานกลยุทธ์ต่างๆ มันต่างกัน

เริ่มเข้าสู่การดูแลแพลตฟอร์มออนไลน์?

เริ่มจาก Marketing Manager และมาดู BD ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือคิดเองเออเองทั้งหมด พอคิดได้แล้วเราก็เดินไปบอกพี่ชายว่าฉันจะทำดังต่อไปนี้ฉันจะเป็นอย่างนี้ เขียน job ตัวเองขึ้นมา เพราะเราไม่ได้มีพี่เลี้ยงหรือโค้ชมาดูแล ทุกอย่างก็คือทำเอง

(ตอนนั้นเราเห็น ตัวเองเป็นอะไรในไทยรัฐ?) เห็นเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันคนนึง ที่ต้องแบกโลกไว้และต้องมากอบกู้มาเปลี่ยนแปลง ซึ่งพี่ชายกับน้องสาวเราก็มองเป็นขบวนการแต่เรามองว่าทำไมมีเพื่อนร่วมขบวนการมันน้อยจัง เพราะว่าพี่น้องกับญาติไม่เยอะมาก

ตำแหน่ง ณ ตอนนี้อย่างเป็นทางการคือ?

เป็น CO-CEO ไทยรัฐทีวี และก็ไทยรัฐออนไลน์ (สื่อเปลี่ยนเร็วมากตอนนี้ รับมือกับการเปลี่ยนผ่านพวกนี้ยังไง) ทุกอย่างเริ่มที่มายด์เซตและวิธีคิดมันเปลี่ยนมาตามแต่ละช่วงวัยจากการตกผลึกในเหตุการณ์ที่มันเกิดขึ้น และเรารับมือกับมันด้วยการทำทุกอย่างให้มันสุด แต่ว่าเราพยายามให้เราสามารถสร้างความเชื่อใจกับคนที่จะต้องเดินตามเราข้างหลังเพื่อที่จะนำพาให้ทั้งองค์กรมันไปต่อข้างหน้าได้อย่างสมบูรณ์แบบและแข็งแรงที่สุด

(แต่คนเยอะขึ้นมันไม่ง่ายเหมือนเดิม) เราก็มีการปรับเปลี่ยนตัวเองค่อนข้างเยอะเหมือนกัน ปรับทั้งในแง่ของวิธีคิดและปรับสไตล์ในการทำงาน ถามว่าจริงๆ ทุกวันนี้ในวัย 37 ปี มันก็ยังไม่ใช่ว่าฉันบรรลุแล้วว่าฉันทำทุกอย่างได้ อย่างที่ฉันอยากจะทำหรือเก่งที่สุด มันก็คือการพัฒนาอย่างไม่หยุดอยู่กับที่ และความคิดของเราที่เป็นคนเปิดกว้างมาก และพร้อมที่จะเรียนรู้พร้อมที่จะเอาตัวเองไปทดลองทำลองเสี่ยง เลยเลือกที่จะเปลี่ยนทุกอย่างเองตามสภาพแวดล้อม

(ม่คิดจะสั่งคนอื่นเปลี่ยนเหรอ) ก่อนที่จะให้คนอื่นเปลี่ยนเราต้องเปลี่ยนตัวเองก่อนเราถึงเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงมันยากขนาดไหน เพราะการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงองค์กรมันคือการเปลี่ยนพฤติกรรมและการเปลี่ยนความคิด สำหรับเราคือพฤติกรรมที่ต้องใช้พลังงานสูงมากและต้องใช้หลากหลายวิธีที่จะไปสร้างการเปลี่ยนแปลง มันไม่ใช่แค่สั่ง คือถ้าสั่งแล้วมันจบเราว่าชีวิตผู้บริหารของหลายๆ คนมันจะง่ายกว่านี้เยอะมาก แต่ว่ามันเป็นไปไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริงอยู่แล้ว

การทำงานช่วงไหนที่รู้สึกว่าท้อ?

ช่วงแรกๆ นั่นแหละ ที่เปิดช่องไทยรัฐทีวีมันล้านแปดสิ่งมาก มันคือสร้างช่องมันเริ่มจากศูนย์มันไม่มีอะไรเลย สิ่งเดียวที่เรามีก็คือคนที่มีประสบการณ์ในการทำโทรทัศน์ในการทำรายการทีวีทำข่าวมาเป็นกองทัพมาเป็นทีมงาน

ซึ่งมันก็หลายอย่างมากเพราะฉะนั้นมันก็มีจุดที่แบบว่าทำไมฉันจะต้องมาแบกรับภาระใหญ่หลวงขนาดนี้ มันยากเกินไปไหมมันใหญ่เกินไปไหมกับเราเป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ หนึ่งคนที่จะจะต้องนำทั้งองค์กรนี้ไป

แต่โชคดีว่ามันมีอยู่โมเมนต์หนึ่ง ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นแฟนอยู่สมัยนี้เป็นสามีแล้ว เขาก็มาช่วยเราคิดแล้วมันก็เปลี่ยนชีวิต เปลี่ยนวิธีคิดของเราไปเลยเหมือนกัน ซึ่งเขาก็บอกว่าคุณจะเครียดทำไมเราจะกดดันทำไมในเมื่อคุณอยู่ในจุดที่สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ แต่มันก็ทำให้เราเห็นอีกด้านหนึ่งของบทบาทนี้ และเราก็ทำมาจนถึงทุกวันนี้เลยเลือกมองที่มุมนั้น

ในชีวิตเคยถูกหลอกด้วย?

ตอนที่พาร์ตเนอร์ทุกคนวิ่งเข้าหาเรา แต่ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องปกติของคนที่เริ่มเข้าสู่วงการธุรกิจไม่ว่าจะวงการไหนก็แล้วแต่ แต่มันก็ไม่ได้ถึงขั้นว่าโดนหลอกซะจนเสียหายมากขนาดนั้น แต่มันก็ทำให้เราได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ทั้งด้านดีและไม่ดีมันก็ครบถ้วนทุกด้านอยู่ ซึ่งชีวิตเราต้องมีความท้าทายอยู่ตลอดเวลา

ไทยรัฐเสิร์ฟคอนเทนต์ออนไลน์บน "ยูทูบแชนแนล" รวม 8 ช่อง?

ที่เปิดช่องออนไลน์ 8 ช่องใหม่ จริงๆ แล้วมี 4 ช่อง เปิดใหม่ 4 ช่อง คือจะเซตให้มันเป็นแผง และเราก็พูดให้มันเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ว่ากลยุทธ์นี้เราเรียกชื่อมันว่า "แตกหน่อเพื่อเติบโต" เพราะภารกิจของเราในปีนี้เราอยากจะสร้างอะไรใหม่ๆ ให้กับไทยรัฐ สร้างฐานคนดูใหม่ให้กับไทยรัฐ ความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะฉะนั้นการเพิ่มช่อง YouTube ครั้งนี้เพื่อที่จะทำให้เราสามารถเดินตามกลยุทธ์นั้นได้

ถ้าย้อนกลับไปดู Level ชีวิตวัยเด็กจนถึงปัจจุบัน ถ้าชีวิตคือเกม มันคือเกมรูปแบบไหน?

มันก็จะมีด่านไปเรื่อยๆ มีความยากขึ้นไปเรื่อยๆ แต่เรารู้สึกว่าเราเข้าใจมากขึ้น เรารู้ว่าเราจะต้องเล่นเกมนี้อย่างไรได้ดีขึ้น เราไม่รู้ว่าเราเป็นตัวละครอะไรในเกมและก็ไม่ได้คิดว่าเราเป็นบอสหรือหัวหน้าที่อยู่ในด่านยากสุด เราก็คิดว่าเราเป็นผู้เล่นเกมคนนึงที่มีหน้าที่ว่าฉันต้องไปด่านต่อไปให้ได้ รู้สึกว่าเกมมันก็คือความท้าทายหรือชาเลนจ์สถานการณ์ใหม่ๆ ที่มันเข้ามาในแต่ละวัน