บริบท “นับญาติ” ของผู้ประกาศข่าว, คนเล่าข่าว, พิธีกร, ผู้ดำเนินรายการ มีต้นกำเนิดมาเมื่อไหร่ อย่างไร เป็นเรื่องที่จะต้องคุยกันบ้างเสียแล้ว!!

เพราะบุคคลหน้ากล้องเหล่านี้กำลังสร้างความสับสนและความรำคาญแก่ผู้ชมมากขึ้นทุกวัน

“พี่–น้อง–น้า–อา–ป้า–ลุง–ปู่–ย่า –ตา–ยาย” ถูกนำมาเรียกขานให้ได้ยินอย่างฟุ่มเฟือยและฟุ้งเฟ้อ

เอาหลักการอะไรมาเป็นเกณฑ์ในการเรียกบุคคลในข่าว หรือแขกรับเชิญที่มาให้สัมภาษณ์ในรายการ??!!

กระทำตามๆกันเกือบทุกช่อง จนกลายเป็นความเคยชินอย่างขาดสติ ทำให้การสื่อสารข้อเท็จจริงสู่ผู้ชมขาดสะบั้น

ทั้งๆที่คนในข่าวหรือผู้ถูกสัมภาษณ์มีชื่อ-นามสกุล แต่คุณกลับไปนับญาติ เรียกเป็นอย่างอื่น

บางคน (พิธีกร–คนเล่าข่าว) ถึงขนาดหนักข้อ เรียก “คุณแม่” ชัดถ้อยชัดคำ มีแต่แม่ทุกคำ ก็ไม่รู้ว่า “แม่ใคร?” แม่พิธีกรหรือแม่ผู้ชม??

บางครั้งก็มีเรื่องอับอายขายหน้าออก อากาศ อาทิ เรียกผู้หญิงวัยประมาณ 50 ว่า “ป้า” บ้าง เรียกผู้ชายวัยเดียวกันว่า “ลุง” บ้าง ทำเอาบริบทนับญาติดูผิดเพี้ยนไปหมด

ที่ร้ายกาจเลยก็คือสัมภาษณ์ “หมอดู-โหร” แล้วไปเรียกผู้ถูกสัมภาษณ์ว่า “อาจารย์” ทุกคำ

ก็เข้าอีหรอบเดิมคือ...อาจารย์ใคร? เพราะผู้ชมรายการมีเป็นหมื่นเป็นแสน เกี่ยวพัน–เชื่อมโยงอย่างไรกับผู้ที่พิธีกรเรียกว่าอาจารย์??

อย่าเอาแต่ความนึกคิดของพิธีกรหรือทีมงานมาเป็นตัวกำหนด เหล่านี้คือเรื่องอ่อนไหว เพราะรายการต้องสื่อสารถึงผู้ชมทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและถูกต้อง

ไม่ลองย้อนรอยอดีตไปดูพิธีกรหรือผู้ประกาศข่าวมืออาชีพรุ่นเก่าบ้างว่า ทำไมพวกเขาและเธอจึงควบคุมคำพูดให้ดูเหมาะสม โดยไม่ต้องมีบริบทนับญาติ!!

...

‘‘แจ๋วริมจอ’’
jaewrimjor@gmail.com

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่