เรียนคุณแจ๋วริมจอ เมืองไทยมีทีวีระบบดิจิทัลมาได้หลายปีแล้ว พบเห็นอะไรบางอย่างทั้งเหมือนและแตกต่างจากระบบเดิมพอสมควร พอจะสรุปได้ดังนี้ครับ

1) หลายช่องยังนิยมและโหยหาเลขช่องเดิมอย่างเหนียวแน่น เป็นต้นว่าช่อง 3 ช่อง 7 และช่อง 9 ทำให้ผู้ชม โดยเฉพาะคนแก่สับสนพอสมควร

2) สถานีทีวีที่เกิดขึ้นใหม่ๆตั้งหน้า ตั้งตาสร้างความนิยม สร้างคุณค่า และสร้างสาระให้ผู้ชมได้อย่างแข็งขัน ไม่เห็นจะต้องง้อตัวเลขเก่าเลย

3) ได้เห็นและได้ยินพระภิกษุพูดว่า ผม/ครับ แทนอาตมา/เจริญพร เสมอ, ลูกหลานมักจะพูดถึงบิดามารดาปู่ย่าตายาย ญาติผู้ใหญ่ว่า เขา แทนคำว่า ท่าน

4) ข่าวต่างประเทศกล่าวถึงเวลาท้องถิ่นที่ผู้ชมอยากจะรู้ว่าเป็นเวลาเท่าไหร่ในเมืองไทย, เงินตราต่างประเทศ มักจะไม่บอกว่าประมาณเท่าไหร่ เมื่อกล่าวถึงปี ค.ศ. แทนที่จะบอกเป็น พ.ศ. เป็นต้น

5) บางครั้งด้วยคำผรุสวาท คำหยาบ คาย ด่าทอ รวมทั้งกริยาที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้เท้าหยอกล้อ ซึ่งหลีกเลี่ยงได้

6) หลายสถานีไม่ค่อยมีสัมมาคารวะ ไม่ไหว้เมื่อเข้า/เริ่มหรือจบรายการ

7) มีการใช้ภาษาอังกฤษมาปนมากขึ้นในข่าว/การสัมภาษณ์ ทั้งๆที่บางคำเรามีคำไทยใช้อยู่แล้ว

8) เมื่อมีการเสนอข่าวอาชญากรรม บางช่องก็เบลอภาพ บางช่องก็ไม่เบลอ ทำให้ไม่ทราบมาตรฐานในเรื่องนี้เป็นอย่างไร

9) ตัวเลขที่ลงท้ายด้วยเลขหนึ่ง มักจะไม่อ่านให้เป็นเสียง เอ็ด แต่อ่านเป็น หนึ่ง, คำรายงานเกี่ยวกับผู้เสียชีวิต มักจะลงท้ายด้วย ศพ ซึ่งสับสนกับคำว่า คน เสมอ รวมถึงการอ่านเดือนอ้าย เดือนยี่ เป็นเดือนหนึ่ง เดือนสอง เฉยเลย

10) เรื่องกีฬาที่ผมเห็นว่าโทรทัศน์ช่องต่างๆ “ไม่มีน้ำใจนักกีฬา” มักไม่มีน้ำใจระบุช่องที่ถ่ายทอด.

“ศุภัชย์ รตพิชาร”

...

‘‘แจ๋วริมจอ’’
jaewrimjor@gmail.com