หลังประสบความสำเร็จในการเล่าเรื่องการเติบโตของวัยเด็กจากภาคแรก “Inside Out” จนคว้ารางวัลภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ไปเมื่อปี 2015 ปีนี้ถึงเวลาของภาพยนตร์ภาคต่อ “Inside Out 2” มาเล่าเรื่องราวการเติบโตในสเตปถัดไป

เอาความรู้สึกแรกก่อน...มันดีมากๆ รู้เลยว่าทีมผู้สร้างทำการบ้านมาได้ดี เลือกช่วงเวลา “การเติบโต” ที่เราจะมองเห็นความเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะเจาะ จะมีอะไรเข้าใจยากและชวนสับสนมากไปกว่าการเติบโตเป็นวัยรุ่น! โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้น หรือว่าช่วง “แตกเนื้อสาว” เพราะหลากอารมณ์ต่างถาโถม ล่มสลาย ผสมปนเปจนอลหม่าน บางความรู้สึกก็อธิบายไม่ได้ และบางความรู้สึกก็ “มาใหม่” ซะจนตั้งตัวแทบไม่ทัน

กลุ่มอารมณ์เก่า ประกอบไปด้วย ลั้ลลา, เศร้าซึม, ฉุนเฉียว, กลั๊วกลัว, และหยะแหยง
กลุ่มอารมณ์เก่า ประกอบไปด้วย ลั้ลลา, เศร้าซึม, ฉุนเฉียว, กลั๊วกลัว, และหยะแหยง

...

อาการมันเป็นยังไง ไหนบอกสิ!

Inside Out ภาคแรก จบลงที่ “ไรลีย์ แอนเดอร์สัน” ค้นพบตัวตนในวัยเด็ก บทเรียนที่ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา แต่หลายคนก็นึกไม่ถึง ได้สร้างความประทับใจและเรียกน้ำตาจากเราไปได้หลายช่วง สำหรับในภาคต่อนี้ Inside Out 2 ต้องบอกว่าทำลายสถิติ เพราะทำเราปาดน้ำตาตั้งแต่ 10 นาทีแรก!

อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่า Inside Out 2 จะเป็นหนังดราม่าเรียกน้ำตา แต่เราคิดว่าเป็นเสน่ห์มากกว่า ที่บทพูดหรือสถานการณ์ในหลายๆ ฉาก “ทำดี ทำถึง” จนเราแทบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ โดยเฉพาะในภาคนี้ที่เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่วัยรุ่นมักให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ทีมผู้สร้างก็สะท้อนออกมาได้ดี เห็นภาพซะจนเราอดนึกย้อนไปถึงช่วงเวลาวัยรุ่นของเราไม่ได้ 

นอกจากจะเล่าเรื่องความสัมพันธ์ได้อย่างลึกซึ้งและโดนใจแล้ว ไฮไลต์สำคัญที่แฟนๆ ทั่วโลกเฝ้ารอ คงหนีไม่พ้น “กลุ่มอารมณ์ใหม่” ที่จะมาแนะนำตัวต่อจากภาคที่แล้วที่เป็นกลุ่มอารมณ์ที่เข้าถึงง่ายและเป็นที่รู้จักกันดีอย่าง “ลั้ลลา เศร้าซึม ฉุนเฉียว กลั๊วกลัว และหยะแหยง” ในภาคนี้เราจะได้ทำความรู้จักกลุ่มอารมณ์ใหม่ที่ซับซ้อนและเข้าใจยากขึ้นอย่าง “ว้าวุ่น อิจฉา เขิ้นเขิน อ๊ายอาย และอองวี (เฉยชิล)”

กลุ่มอารมณ์เก่า ประกอบไปด้วย ลั้ลลา, เศร้าซึม, ฉุนเฉียว, กลั๊วกลัว, และหยะแหยง
กลุ่มอารมณ์เก่า ประกอบไปด้วย ลั้ลลา, เศร้าซึม, ฉุนเฉียว, กลั๊วกลัว, และหยะแหยง
กลุ่มอารมณ์ใหม่ นำทีมโดย ว้าวุ่น, อิจฉา, เขิ้นเขินอ๊ายอาย และอองวี (เฉยชิล)
กลุ่มอารมณ์ใหม่ นำทีมโดย ว้าวุ่น, อิจฉา, เขิ้นเขินอ๊ายอาย และอองวี (เฉยชิล)

...

การมาถึงของ “กลุ่มอารมณ์ใหม่” พร้อมช่วงเวลา แตกเนื้อสาว ของ “ไรลีย์” สร้างความปั่นป่วนให้ “กลุ่มอารมณ์เก่า” อย่างมาก สถานการณ์หลายๆ อย่าง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหันทำให้สาวน้อยไรลีย์ตั้งตัวไม่ติด และจัดการกับอารมณ์แปลกใหม่ของตัวเองไม่ได้ 

แน่นอนว่า “ลั้ลลา” หรือ “Joy” คาแรกเตอร์อารมณ์หลักจากภาคที่แล้วก็พยายามอย่างยิ่งจะยื้อ “ตัวตนวัยเด็ก” ของไรลีย์ไว้สุดความสามารถ แต่ทุกอย่างก็ล่มสลาย ตัวตนวัยเด็กของเธอถูกกลืนไปพร้อมกับการสร้าง “ตัวตนใหม่” เพื่อรับมือเป้าหมายใหม่ที่เธอเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตดีกว่าเดิม 

...

Inside Out 2 ทำให้เราเห็นว่าการเติบโตของไรลีย์นั้นไม่ได้มีแค่เรื่อง “กายภาพ” แต่ยังมีเรื่อง “อารมณ์” ที่ทั้งรุนแรงและแปลกใหม่จนเกินกว่าที่ตัวเธอหรือคนรอบข้างจะรู้ตัวและรับมือ ซึ่งหนังก็เล่าเรื่องได้ดี โดยหยิบยกประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อน และการยอมรับในกลุ่มเพื่อนมาเป็นเครื่องมือ สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกของไรลีย์ที่พยายามจะ “เติบโต” ในสภาพแวดล้อมใหม่ๆ และสถานการณ์ในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน

หลายคนคงเคยได้ยินว่า “โลกของผู้ใหญ่” นั้นยุ่งยาก ซับซ้อน Inside Out 2 จะทำให้เราเห็นว่าการก้าวผ่านจาก “วัยเด็ก” สู่ “วัยรุ่น” นั้นก็ “หัวจิปวด” ไม่แพ้กัน ความสุขที่เคยหาได้ง่ายจากการเล่นสนุกและได้ทำสิ่งต้องการเริ่มหายาก (หรือไม่เติมเต็ม) เพราะปัจจัยหลายอย่างในชีวิตที่ไม่เหมือนเดิม รวมถึงเป้าหมายในชีวิตที่ไม่ใช่แค่กินอิ่ม นอนหลับ อีกต่อไป

...

ต้องบอกว่า Inside Out 2 ยังรักษามาตรฐานการอธิบายเรื่อง “อารมณ์” ทั้งที่มาที่ไป อาการ และการรับมือ ได้ดีมากๆ เหมือนภาคที่แล้ว ส่วนตัวชอบการดีไซน์ภาพในหลายๆ ฉากที่อธิบายสิ่งที่กำลังเกิดจากสภาวะอารมณ์นั้นๆ รวมไปถึงปฏิกิริยาจากคนอื่นๆ (ที่อาจจะต่างทั้งวัย สถานะ และเพศ) ที่ทำให้เราเห็นภาพชัดและเข้าใจสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น

โดยถ้าเราสังเกตดีๆ จากภาคที่แล้ว กลุ่มอารมณ์ในหัวพ่อกับแม่ของไรลีย์นั้นนิ่งมาก แสดงถึง “ชั่วโมงบิน” ในการรับมือเรื่องราวต่างๆ รวมทั้งอารมณ์อันหลากหลายได้อย่างดี แทบไม่มีอะไรทำให้แพนิก ต่างจากกลุ่มอารมณ์ในหัวของไรลีย์ ที่ล้มลุกคลุกคลาน วิ่งวุ่นหัวหมุนจนน่าสงสาร แสดงให้เห็นถึงการเจริญเติบโตของ “วุฒิภาวะทางอารมณ์” ที่จะพัฒนามากขึ้นเมื่อผ่านการรับมือในสถานการณ์ต่างๆ 

เอาเป็นว่าไม่ใช่แค่สาวน้อยไรลีย์ที่ได้เติบโตเป็นสาวแรกรุ่น แต่ Inside Out 2 ก็เติบโตเรื่องการเล่าเรื่องไปพร้อมๆ กัน จากที่เคยทำได้ดีอยู่แล้วในภาคแรก ภาคนี้ก็ทำออกมาได้ดี หรืออาจจะดีกว่าเดิมเสียด้วยซ้ำ เพราะสถานการณ์ต่างๆ รวมทั้งสภาวะทางอารมณ์ของคนที่โตขึ้นก็ซับซ้อนขึ้นจนบางครั้งในชีวิตจริง ใครหลายคนก็แยกแยะไม่ออก จัดการอารมณ์ไม่ได้

ใครเป็นแฟนภาพยนตร์ Inside Out อยู่แล้วคงไม่พลาด แต่สำหรับใครที่ไม่เคยดู อยากให้เปิดใจ แนะนำว่าดูภาคแรกเตรียมมาก่อนจะดีมาก จะได้เข้าใจภาพรวม และเข้าใจอารมณ์แต่ละอย่างได้ดีขึ้น เสริมอรรถรสให้เข้าใจเรื่อง เข้าใจตัวละคร เข้าใจคนอื่น และเข้าใจตัวเองมากขึ้นในที่สุด