จำไม่ได้ว่าครั้งสุดท้ายที่อ่านนิยาย “ฟ้าจรดทราย” บทประพันธ์สุดอมตะของ “โสภาค สุวรรณ” นั้นเมื่อไหร่ แต่ที่ตราตรึงในความทรงจำเสมอ คือ การพรรณนาฉากหลังทะเลทรายที่ไม่แห้งแล้งแต่ชุ่มฉ่ำไปด้วยวรรณศิลป์ เสริมสร้างจินตนาการของเราให้ครุ่นคิดอยู่เสมอว่า ถ้ามีโอกาสก็อยากไปเยือนประเทศที่มีทะเลทรายสักครั้ง


แน่นอนว่าเรามีความคาดหวังว่า “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” จะเติมเต็มจินตนาการสุดโรแมนติกตามประสานิยายรักสุดอมตะที่หลายคนชื่นชอบ แต่ก็เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจเช่นกันว่า เวอร์ชันละครเวที จำเป็นอย่างยิ่งจะต้องตัดรายละเอียดบางอย่าง เพื่ออรรถรสและการเล่าเรื่องที่เหมาะสมกับรูปแบบละครเวที อย่างไรก็ดี ในฐานะที่ไม่เคยดูเวอร์ชันแรกเมื่อปี 2550 แต่เป็นการชมครั้งแรก ก็ต้องขอชมว่าทีมงานทำได้ดีทีเดียว แม้ว่าเส้นเรื่องจะน้อยไปนิด (เพราะตัดเหตุการณ์บางช่วงออก) แต่เราก็มองเห็นความพยายามจะเติมเต็มจินตนาการและอรรถรสในการรับชมด้วยเทคนิคพิเศษ แสงสี ดนตรี และฉากหลัง ที่ถูกดีไซน์มาอย่างดี

...

ไฮไลต์สำคัญของ “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” เวอร์ชัน 2567 คือลิสต์นักแสดงนำ โดยเฉพาะ “ณเดชน์ คูกิมิยะ” ที่มาเล่นละครเวทีแบบมิวสิคัลเป็นครั้งแรก ในบทของ “ชารีฟ” องครักษ์และนายแพทย์ประจำตัว “องค์อาเหม็ด” ซึ่งรับบทโดย “กบ ทรงสิทธิ์” ส่วนตัวคิดว่าไม่เลวเสียทีเดียว คะแนนความตั้งใจให้เต็มร้อย ทั้งเต้น ทั้งร้อง และโชว์สกิลแอ็กชันในหลายๆ ฉาก แต่ก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าหลายฉากก็เหมือนมานั่งดูณเดชน์เล่นละครบนทีวีมากกว่าดูละครเวที ซึ่งก็ไม่ได้ดูขัดอะไร คิดว่าผู้ชมส่วนมากก็มองข้ามไปด้วยซ้ำ เพราะมัวดื่มด่ำกับออร่าความหล่อและ “กล้ามท้อง” ของเจ้าตัว ที่ทำให้ผู้ชมหน้าเวทีแทบละลาย

คาแรกเตอร์ของ “ชารีฟ” ก็ตามขนบพระเอกในนวนิยายทั่วไป คุณสมบัติทั้งภายนอกและภายในครบสูตรพระเอกในฝันของใครหลายคน ซึ่งณเดชน์ก็ดูไม่ขัด ด้วยรูปลักษณ์ภายนอกไม่มีอะไรต้องติ เพียงแต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา ทำให้หลายฉากที่มีในหนังสือ และน่าจะเป็นฉากที่ช่วยบอกคาแรกเตอร์ของ “ชารีฟ” ถูกตัดทอนในเวอร์ชันละครเวที ทำให้เราไม่รู้จักเขามากนัก นอกจากว่าเขาเป็นองครักษ์และนายแพทย์รูปงามที่มีคารมจีบหญิงไม่ธรรมดา แต่ก็นั่นแหละ รวมๆ ก็เรียกได้ว่าณเดชน์เป็น “ชารีฟ” ที่เร้าใจมากที่สุดคนหนึ่งเลยทีเดียว

นอกจาก “ชารีฟ” อีกตัวละครที่เป็นหัวใจสำคัญก็คือ “มิเชลล์” เวอร์ชันนี้รับบทโดย “แก้ม กุลกรณ์พัชร์ เมอร์นาร์ด” หญิงสาวลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศส จบการศึกษาจากคอนแวนต์ในกรุงปารีส โชคชะตาพาให้เธอตัดสินใจติดตามเพื่อนรักอย่าง “แคชฟียา” ซึ่งรับบทโดย “หนูนา หนึ่งธิดา” มาช่วยสอนหนังสือในโรงเรียนสำหรับสตรีใน “ฮิลฟารา” เมืองที่มีคำทำนายว่าหญิงสาวจากต่างแดนจะนำมาซึ่งทายาทชายและความมั่งคั่งของเมืองสืบไป

...

ว่ากันตามตรงเราไม่เคยดูผลงาน “แก้ม กุลกรณ์พัชร์” แต่ได้ยินชื่อเสียงของเธอจากผลงานที่ผ่านมา ซึ่งเธอก็ทำให้ความประทับใจแรกของเราไม่น่าเบื่อ น้ำเสียงและลีลาของเธอบนเวทีทำให้เราเคลิ้มได้ไม่ยาก แต่ก็เหมือนกรณีของณเดชน์ที่รับบท “ชารีฟ” ว่าด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา ทำให้หลายฉากที่เป็นฉากที่จะช่วยบอกคาแรกเตอร์ของ “มิเชลล์” ถูกตัดทอนไป ทำให้เราไม่รู้จักเธอมากนัก นอกจากเธอเป็นนางเอกแสนสวยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอุดมการณ์ ความฝันและความหวังที่จะทำให้โลกนี้เท่าเทียม 

...

นอกจากพระ-นางที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” ก็มีตัวละครแวดล้อมอื่นที่ช่วยทำให้เนื้อเรื่องไม่จืดชืดเกินไปนัก ไม่ว่าจะเป็น “หนูนา หนึ่งธิดา” ในบท “แคชฟียา” ที่แม้ว่าจะมาน้อย แค่ช่วงเริ่มต้น แต่ก็มาพร้อมอินเนอร์จัดเต็มในแบบที่เราอาจไม่เคยเห็นเธอในบทบาทแบบนี้ที่ไหนมาก่อน “กบ ทรงสิทธิ์” ในบท “องค์อาเหม็ด” ราชาผู้ครองเมืองฮิลฟารา ก็มาในมาดนุ่มๆ เหมือนที่เราคุ้นชินจากผลงานมิวสิคัลที่ผ่านมาของเขา ปิดท้ายด้วย “เก่ง ธชย” ในบท “องค์โอมาน” วายร้ายของเรื่องที่ก่อกบฏพี่ชายตัวเอง ซึ่งส่วนตัวก็คิดว่าแปลกตาดี เพราะก็ไม่เคยดูผลงานแนวๆ นี้ของเขามาก่อน 

...

ทั้งนี้ทั้งนั้น ดูเหมือนว่าภาพรวมของเรื่องจะโฟกัสที่เส้นเรื่องของพระ-นาง มากกว่าเส้นเรื่องอื่นๆ ส่วนตัวไม่คิดว่าแปลกหรือผิด เพราะก็เป็นเส้นเรื่องที่โดดเด่นและเข้าถึงได้ง่ายที่สุด แต่ก็อดไม่ได้จะแอบผิดหวังเล็กๆ เพราะจริงๆ ก็อยากให้มีเส้นเรื่องที่บอกเล่าเรื่องราวของสังคมและวัฒนธรรมต่างๆ ในแถบทะเลทรายมากกว่านี้ 

แต่ถึงเส้นเรื่องจะน้อย และการนำเสนอตัวละครจะไม่ค่อยลึกนัก “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” เวอร์ชัน 2567 ก็มีสิ่งมาทดแทน นั่นก็คือ เทคนิคพิเศษในหลายๆ ฉากที่ส่วนตัวคิดว่าเป็นการเล่าเรื่องแบบ “ไร้พันธนาการ” ไม่ผูกติดหรือผูกมัดกับรูปแบบการเล่าเรื่องแบบเดิมๆ หรือแม้แต่การรับรู้หรือดื่มด่ำกับเนื้อเรื่องจากการอ่านนวนิยาย ยกตัวอย่างเช่น ฉากที่ทหารขององค์โอมาน (เก่ง ธชย) ทำการพิสูจน์ว่า “ไอ้ใบ้” (มิเชลล์ที่ปลอมตัว) หูหนวกจริงหรือไม่ หรือฉากบอกรักท่ามกลางหมู่ดาวในดินแดนทะเลทราย ที่ดึงจินตนาการของผู้ชมให้คล้อยตามได้ไม่ยาก จุดนี้ต้องขอชมทีมงาน ที่ทำดี ทำถึง ในหลายๆ ฉากทีเดียว

เอาเป็นว่าภาพรวมของ “ฟ้าจรดทราย เดอะมิวสิคัล” เวอร์ชัน 2567 นั้นไม่เลวเสียทีเดียว แม้เนื้อเรื่องจะไม่เข้มข้น แต่ก็มีองค์ประกอบอื่นมาทดแทน อย่างเหล่านักแสดงที่ทุ่มเทอย่างเต็มที่ เทคนิคพิเศษในหลายๆ ฉากที่เปิดประสบการณ์ผู้ชมให้ได้สัมผัสแบบไร้พันธนาการกับจินตนาการที่เคยแต่โลดแล่นบนหน้าหนังสือให้ออกมาเจิดจรัสบนเวทีได้อย่างน่าประทับใจ อย่างน้อยๆ ก็ทำเอาเราที่เป็นแฟนนวนิยายอดไม่ได้ที่จะหยิบหนังสือขึ้นมาอ่านอีกครั้ง พร้อมอัปเดตจินตนาการภาพพระ-นางในหัว อ่า…จะว่าไปแล้วก็เร้าใจดีเหมือนกันนะ