โมเมนต์ที่หนังทำให้เรารับรู้ถึงโลกอันเงียบงันของเหล่าสมาชิกในครอบครัวของรูบี้
คือโมเมนต์ที่น่าประทับใจมาก เสียงเพลงนั้นดังกึกก้องไปถึงหัวใจ

ก่อนอื่น...ขอแสดงความยินดีกับทีมภาพยนตร์ #CODA ที่สามารถคว้ารางวัลออสการ์ปีล่าสุดไปได้ถึง 3 สาขา คือ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม (ทรอย คอตเชอร์)

บอกตามตรงว่าเซอร์ไพรส์มากๆ ที่ CODA คว้ารางวัลสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมไปได้ เพราะดูกระแสจากเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘The Power of the Dog’ ‘Drive My Car’ ‘King Richard’ ‘West Side Story’ ‘Don’t Look Up’ หรือแม้แต่ภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่กวาดรางวัลในสาขาอื่นเพียบอย่าง ‘Dune’ ที่มาแรงจนเราแทบตกเก้าอี้ตอนได้ยิน ‘Liza Minnelli’ หลุดชื่อ CODA ตอนประกาศรางวัล

...

แต่ก็นั่นแหละค่ะ ไม่ใช่ว่า CODA เป็นหนังไม่ดี แต่เรียกได้ว่าเป็นหนังคุณภาพที่สามารถเรียกได้ทั้งน้ำตาและกระแสสังคมให้หันมามองกลุ่มคนพิการในแง่มุมที่เข้าอกเข้าใจมากขึ้น พลังของสารที่อยากส่งอาจจะไม่แข็งแรง หรือแข็งกร้าว หากเทียบกับผู้ชนะในปีที่ผ่านๆ มา แต่ก็ถือว่าทรงพลังไม่น้อย อย่างน้อยๆ ก็ทำให้เราเข้าถึงจิตใจของเหล่าคนพิการ และมองพวกเขาด้วยความรู้สึกที่แตกต่างไปจากเดิมมาก

CODA Official Trailer

ชื่อเรื่อง CODA หมายความว่าอะไร?

CODA ย่อมาจาก Children of Deaf Adult(s) หรือแปลเป็นไทยว่า ลูกของพ่อ-แม่ที่หูหนวก ซึ่งก็ตรงกับเนื้อเรื่องดีค่ะ เพราะ CODA เป็นเรื่องราวของ “รูบี้” (รับบทโดย เอมิเลีย โจนส์) สาวน้อยผู้รักการร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ แต่เสียงเพลงของเธอกลับไม่มีสมาชิกครอบครัวคนไหนได้ยิน เพราะพวกเขาที่เหลือทั้งหมดเป็นคนหูหนวก

ชีวิตปกติของ “รูบี้” ไม่ได้เรียบง่ายเหมือนเพื่อนในรุ่นเดียวกัน เพราะนอกจากจะต้องตื่นเช้าเพื่อออกไปหาปลากับ “แฟรงค์” (รับบทโดย ทรอย คอตเชอร์) และ “ลีโอ” (รับบทโดย แดเนียล ดูแรนท์) พ่อและพี่ชายของเธอแล้ว เธอยังต้องเป็นปากเป็นเสียง หรือเป็น “ล่ามประจำครอบครัว” ทำให้หลายครั้ง “รูบี้” ไม่สามารถทำสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ ได้ เพราะความต้องการ หรือ “ความจำเป็น” ของครอบครัวต้องมาก่อนเสมอ

ปมหลักของเรื่องเหมือนจะไม่แปลกใหม่เท่าไร คือ...ทางเลือกที่เด็กสาวคนหนึ่งต้องเลือกระหว่างความฝันและความจริง (ครอบครัวของเธอ) แต่จุดแข็งของ CODA คือการเล่าเรื่องที่ทำให้เราเห็นภาพอุปสรรค และสิ่งที่ “รูบี้” ต้องฝ่าฟันหากอยากจะเดินทางไปตามความฝัน

...

ปมปัญหาไม่ใหม่ แต่ “บท” แข็งแรงมาก

ส่วนตัวคิดว่า “บท” แข็งแรงมาก สมแล้วที่ได้รางวัลสาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (ดัดแปลงมาจากภาพยนตร์ฝรั่งเศส La Famille Belier) หลายฉากทำให้เรารู้จัก “ตัวตน” ของตัวละครในแง่มุมต่างๆ เข้าอกเข้าใจถึงปัญหาที่ตัวละครต้องเผชิญ โดยเฉพาะบรรยากาศในบ้านที่เต็มไปด้วยสมาชิกคนหูหนวก ความเงียบที่พวกเขาคุ้นเคย รวมทั้งกิจกรรมและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง จนเราอดทึ่งไปกับ “รูบี้” ไม่ได้ที่ใช้ชีวิตผ่านแต่ละวันมาได้

ลำดับการเล่าเรื่องไม่ได้ซับซ้อน หลายคนที่ดูตัวอย่างหนังน่าจะพอเดาโครงเรื่องโดยรวมได้ว่าจะมีอุปสรรคอะไร และจะจบแบบไหน แต่เพราะบทที่แข็งแรงและการแสดงของนักแสดงทุกคนที่เข้าขากันดี ทำให้เรื่องมีเสน่ห์ น่าติดตาม การสื่อสารด้วยภาษามือในเรื่อง ก็ไม่ได้ทำให้การเล่าเรื่องขาดตกบกพร่อง แต่กลับทำให้เราตั้งใจดู และซาบซึ้งไปกับเนื้อหามากกว่าที่คิดอีกต่างหาก โดยเฉพาะครึ่งหลังของเรื่องที่เต็มไปด้วยพายุอารมณ์ของแต่ละตัวละครที่ต่างก็ถาโถมความต้องการออกมา ซึ่งส่วนตัวคิดว่ามันก็ make sense หรือสมเหตุสมผลในตัวมันเอง ทำให้เรื่อง cliche เป็นเรื่องชวนลุ้น ชวนน้ำตาไหลได้อย่างไม่น่าเชื่อ

...

CODA OST - Both Sides Now

ไฮไลต์สำคัญคือเพลงประกอบ

เราว่าเพลงประกอบ เป็นเครื่องมือสำคัญของ CODA เพราะดนตรีและการร้องเพลงเป็นความฝันของ “รูบี้” ตัวละครเอกของเรื่อง เป็นความฝันที่สมาชิกในครอบครัวเข้าไม่ถึง เพราะไม่เคยได้ยินเสียงเพลง และวิธีแบบไหนกันที่ “รูบี้” ทำให้ทุกคนในบ้านได้ยินความฝันของเธอ...

เอาจริงๆ CODA ไม่ใช่หนังเพลง หรือ Musical ที่จะคาดหวังเสียงร้องระดับเทพ แต่ดนตรีและเสียงเพลงในเรื่องนี้เป็นองค์ประกอบสำหรับการเล่าเรื่อง ทั้งเรื่องราวโดยรวม อารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร และที่สำคัญใช้เล่าไฮไลต์สำคัญของเรื่องที่อยากจะเชิญชวนทุกคนไปฟัง ซึ่งส่วนตัวโมเมนต์ที่หนังทำให้เรารับรู้ถึงโลกอันเงียบงันของเหล่าสมาชิกในครอบครัวของรูบี้ คือโมเมนต์ที่น่าประทับใจมาก เสียงเพลงนั้นดังกึกก้องไปถึงหัวใจ

...

เอาเป็นว่าโดยรวม CODA เป็นหนังคุณภาพ ทุกองค์ประกอบบาลานซ์ได้ดี อาจจะไม่โดดเด่น หรือชวนทึ่งเหมือนผู้ชนะในปีที่ผ่านๆ มา แต่ก็เต็มไปด้วยเสน่ห์ เล่าเรื่องที่ไม่น่าดึงดูด ให้เป็นเรื่องชวนประทับใจและเรียกน้ำตาได้ดี

กลับมาเข้าโรงภาพยนตร์อีกรอบแล้วนะคะ

มาดามอองทัวร์
Twitter: @MadamAutuer