แม้จะเคยได้ยินชื่อของ Record of Ragnarok หรือในชื่อไทยว่า มหาศึกคนชนเทพ ในฐานะมังงะเรื่องดังที่น่าจับตาของญี่ปุ่นมาบ้าง ในไทยเองก็ดังมากจนเกิดกระแสว่าฉบับแปลไทยเคยขาดตลาดกันมาแล้ว แต่ตัวผู้เขียนเองก็ยังไม่มีโอกาสได้อ่าน จนเมื่อเข้าปี 2564 ชื่อนี้ก็กลับมาให้ได้ยินอีกครั้ง เมื่อมังงะเรื่องนี้ถูกสร้างเป็นแอนิเมชันซีรีส์และเข้าฉายที่ Netflix ในฐานะที่ยังไม่เคยได้อ่านฉบับมังงะมาก่อน เลยเป็นข้อดีที่จะได้ดูฉบับแอนิเมชันโดยไม่มีภาพจำติดในหัว หรือเกิดความคาดหวังว่าจะต้องตรงตามต้นฉบับมากน้อยแค่ไหน
จุดเริ่มต้นศึกตัดสินระหว่างคน VS เทพ
ทุกๆ 1,000 ปี เทพเจ้าจากทุกอารยธรรมความเชื่อ จะมาร่วมประชุมกันเพื่อตัดสินชะตากรรมของมนุษยชาติ ว่าควรจะได้รับโอกาสให้ดำรงอยู่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งครั้งล่าสุดนี้เหล่าเทพเจ้าต่างตัดสินว่ามนุษยชาตินั้นไม่ควรได้ไปต่อ เพราะมนุษย์ตกต่ำลงเรื่อยๆ วางตัวเป็นผู้ทำลายมากกว่าสร้างสรรค์
แต่ช้าก่อน! เทพวัลคีรีนาม “บรุนฮิลด์” ได้ออกมาคัดค้านการทำลายมนุษย์ พร้อมท้าทายเหล่าเทพเจ้าให้ใช้กฎพิเศษ Ragnarok ซึ่งกฎที่จะจัดศึกประลองระหว่างมนุษย์และเทพเจ้า ฝ่ายละ 13 คน ฝ่ายใดชนะ 7 ครั้งก่อนก็ชนะศึกนี้ไป ซึ่งหากมนุษย์ชนะ มนุษยชาติก็จะได้โอกาสในการดำรงอยู่ต่อไปอีก 1,000 ปี
...
ต้นฉบับของ Record of Ragnarok เขียนเรื่องโดย ชินยะ อุเมมุระ, ทาคุมิ ฟุคุอิ และวาดโดย อาจิจิกะ ถือเป็นงานที่มีแนวคิดที่น่าสนใจมากๆ แนวเรื่องลักษณะนี้ เล่นความคิด ท้าทาย และกระตุ้นความอยากรู้มากๆ ว่ามนุษย์จะมีวิธีในการต่อสู้กับเทพเจ้าได้อย่างไร ในเมื่อมนุษย์กับเทพเจ้านั้นช่างแตกต่าง ซึ่งใน Record of Ragnarok นั้นก็มีวิธีในการโค่นเทพเจ้าได้จริงๆ
เสน่ห์ของ มหาศึกคนชนเทพ
หากฉบับแอนิเมชันเคารพต้นฉบับมังงะแล้วล่ะก็ นี่ถือเป็นแอนิเมชันที่เมื่ดเปิดเรื่องราวได้รวดเร็วมาก ยอมรับว่าแอบตกใจกับการนำเสนอพอสมควร เพราะเราแทบไม่รู้จักหรือทำความเข้าใจกับเรื่องราวมากนัก ก็นำไปสู่ฉากแอ็กชั่นสุดมัน เข้าสู่ไคลแมกซ์ของคู่แรกทันที
โดยในซีซั่นแรก จำนวนตอนทั้งหมด 12 ตอนนั้น เราจะได้ดูเพียง 3 คู่เท่านั้น เริ่มด้วย “ธอร์” เทพเจ้าสายฟ้าของตำนานเทพนอร์ส VS “ลิโป้” ยอดขุนศึกยุคสามก๊ก ต่อด้วยคู่สอง “ซุส” มหาเทพของกรีกและเป็นประธานสภาเทพเจ้า VS “อดัม” มนุษย์คนแรกของโลก และคู่สาม “โพไซดอน” เทพแห่งมหาสมุทรของกรีก VS “ซาซากิ โคจิโร” อีกหนึ่งนักดาบที่โดดเด่นที่สุดเทียบชั้น มิยาโมโตะ มุซาชิ
แม้จะไม่รู้จักตัวละครกับอุปนิสัยที่ถูกปรุงอยู่ใน Record of Ragnarok แต่แค่รายชื่อของเทพเจ้าและตัวแทนฝ่ายมนุษย์ ก็เชื่อว่าทุกคนนั้นต้องรู้จักกันอยู่แล้ว หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องเคยได้ยินหรือได้เห็นชื่อกันมาบ้าง ไม่ว่าจากหนังสือเรียนประวัติศาสตร์ หรืองานศิลปะบันเทิงต่างๆ เช่น นิยาย ภาพยนตร์ การ์ตูน นั่นทำให้เราจะไม่มีปัญหาเลยในการติดตามเรื่องราว
...
ยิ่งชอบเป็นพิเศษกับการตีความใหม่ที่ฉีกขนบในความเป็นเทพเจ้า เช่น ซุส ที่ใครก็คงคิดว่าคงมีภาพลักษณ์องอาจน่าเกรงขาม แต่กลับเป็นตาเฒ่าเจ้าเล่ห์ วางตัวทะเล้น ในแบบที่ทำให้นึกถึงผู้เฒ่าเต่าใน Dragon Ball ขึ้นมา หรือ ธอร์ ที่ใครหลายคนคงติดภาพธอร์ในหนังของ Marvel ไปแล้ว แต่ธอร์ในมหาศึกคนชนเทพกลับแตกต่างและโดดเด่นกับผมยาวสีแดง ที่มาพร้อมค้อนโยเนียร์ขนาดยักษ์ ด้านฝั่งมนุษย์อย่างอดัม ก็ออกแบบให้เป็นชายหนุ่มรูปร่างสมส่วน ที่ปกปิดร่างกายด้วยใบไม้ใบเดียว นี่คือตัวอย่างที่เป็นเสน่ห์ที่น่าติดตามมากๆ ของ มหาศึกคนชนเทพ อยากเห็นว่าเขาจะตีความเทพเจ้าหรือบุคคลสำคัญคนอื่นๆ ออกมาอย่างไร
งานแอนิเมชันที่น่าผิดหวัง
ไม่ว่าด้วยทุนสร้างอันจำกัด หรือความเร่งรีบเพื่อให้ได้งานตามกำหนด แต่การดูแอนิเมชัน Record of Ragnarok มหาศึกคนชนเทพ เหมือนได้ย้อนวัยกลับไปดูงานแอนิเมชันยุค 90 มุมมองภาพไม่หลากหลาย เทคนิคงานภาพที่ใช้ ก็ให้อารมณ์งานยุคเก่า ซ้ำร้ายลักษณะงานที่เรียกรวมๆ ว่า “งานเผา” ก็มีปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ โอเคว่ายังพอเห็นงานเทคนิคพิเศษ งาน 3 มิติอยู่บ้าง แต่ก็ช่างเบาบางเมื่อเทียบกับชื่อชั้นของต้นฉบับที่ควรมีหรือให้อะไรมากกว่านี้ ยังดีที่มีงานดนตรีประกอบที่พอใช้ได้ และเพลงประกอบ Kamigami ที่พอจะติดหูอยู่บ้าง
...
แอบมีข้อสังเกตเล็กๆ กับความหละหลวมในการแปลไทย เนื่องจากการแนะนำตัวละครทั้งเทพเจ้าและบุคคลสำคัญจำนวนมากนั้น ในแอนิเมชันจะแนะนำด้วยการติดป้ายกำกับ ซึ่งไม่ได้ถูกแปลไว้ แม้บางตัวละครจะโดดเด่นมาก ทำให้พอรู้ว่าลักษณะแบบนี้คือเทพเจ้าหรือมนุษย์ชื่อดังคนใด แต่ด้วยการตีความใหม่และงานออกแบบของต้นฉบับ ทำให้บางทีก็เกินปัญญาที่จะคาดเดา เมื่อไม่ได้แปลกำกับไว้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
อย่างไรก็ตามที่กล่าวข้างต้น ก็ไม่ได้หมายความว่าแอนิเมชันจะย่ำแย่จนไม่แนะนำให้ดูแต่อย่างใด ยังเป็นงานที่ตอบโจทย์ด้านความบันเทิงได้ดีพอควร ใครที่ไม่เคยอ่านฉบับมังงะมาก่อน มาลองดูฉบับแอนิเมชันไปก่อนก็ได้ไม่เสียหาย (แต่อย่าคาดหวังมาก) แล้วค่อยไปหาฉบับมังงะอ่านในภายหลัง
...
สุดท้ายก็ได้แต่คาดหวังว่า ความโด่งดังของ Record of Ragnarok มหาศึกคนชนเทพ จะยังมีต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดซีซั่น 2 ที่ยกระดับให้ดีขึ้นกว่าเดิม อ่อ...ลืมไปอีกเรื่อง คิดว่าการที่ชื่อของ มหาศึกคนชนเทพ ดังในไทยในปีนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการปรากฏตัวของ “พระพุทธเจ้า” ในฉบับมังงะ แน่นอนว่าคนไทย ชาวพุทธ ย่อมจะอินเป็นพิเศษ ซึ่งคาดว่าจะปรากฏตัวในฉบับแอนิเมชันใน มหาศึกคนชนเทพ ซีซั่น 2
สุดท้าย..ก็เหมือนจะอดคาดหวังกับแอนิเมชันเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ดี!
อ่านรีวิวหนัง ตีตั๋วชนโรง เรื่องอื่นๆ
ชา ตีตั๋วชนโรง
Twitter @Chamanz13
Facebook: ตีตั๋วชนโรง