ในระหว่างที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤติ “ดินถล่ม+นํ้าท่วมใหญ่” เสียหายหนักที่จังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย และ อีกหลายๆจังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสาน เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนั้น

วงการบันเทิงของเราก็ได้สูญเสียผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยและศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง พ.ศ.2556 เจ้าของฉายา “เจ้าพ่อหนังบู๊” ฉลอง ภักดีวิจิตร ไปอีกท่านหนึ่ง

หลังจากป่วยเข้ารับการรักษาตัวเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ด้วยอาการติดเชื้อที่ปอด และต่อมาก็จากไปอย่างสงบเมื่อวันศุกร์ที่ 13 กันยายน ณ โรงพยาบาลรามาธิบดี สิริอายุ 93 ปี

ผมเองโดยส่วนตัวไม่เคยมีโอกาสได้พบท่าน แม้จะเคยเขียนคอลัมน์บันเทิงอยู่หลายปี อาจเป็นเพราะในช่วงนั้นท่านยังเป็น “ตากล้อง” หรือผู้ถ่ายภาพยนตร์เป็นงานหลักอยู่ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาให้สัมภาษณ์หรือพบปะกับผู้สื่อข่าวมากนัก

นาม “ฉลอง ภักดีวิจิตร” มักจะปรากฏในจอภาพยนตร์ในฐานะผู้ถ่ายภาพ ทั้ง 16 มม. และ 35 มม. รวมทั้งเคยได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง สาขาผู้ถ่ายภาพยอดเยี่ยมประจำปี 2507 จากภาพยนตร์เรื่อง “ผู้พิชิตมัจจุราช” ของวัชรภาพยนตร์ในปีดังกล่าว

ดังนั้น แม้ว่าผมจะไม่เคยมีโอกาสสัมภาษณ์พูดคุยทั้งในหน้าที่การงานหรือโดยส่วนตัวกับท่านเลย แต่ก็รู้จักและนับถือในฝีมือการถ่ายภาพของท่านมาโดยตลอด

ติดตามดูภาพยนตร์ที่ท่านเป็นมือกล้องหลายต่อหลายเรื่อง รวมทั้งเรื่อง “7 ประจัญบาน” EP สุดท้ายของชุด “1 ต่อ 7” และ “7 ต่อ 7” ภาพยนตร์บู๊ปลุกใจให้รักชาติจากการเขียนบทการกำกับและนำแสดงเองของ ส.อาสนจินดา

อาจเป็นเพราะท่านถ่ายแต่ภาพยนตร์บู๊ หรือภาพยนตร์แอ็กชันมาตลอด เมื่อตัดสินใจมาเป็นผู้อำนวยการสร้าง และเป็นผู้กำกับเสียเอง จึงพลอยถนัดในการสร้างภาพยนตร์แนวบู๊ไปด้วย

...

ต่อมา ฉลอง ภักดีวิจิตร ก็ก้าวสู่วงการบันเทิงอินเตอร์ โดยการร่วมทุนสร้างภาพยนตร์ส่งออกกับนักสร้างภาพยนตร์จากฮ่องกง เรื่อง “2 สิงห์ 2 แผ่นดิน” หรือ The Brothers เมื่อ พ.ศ.2515 มี สมบัติ เมทะนี เป็นดารานำฝ่ายไทย ร่วมกับดาราเงินล้านของ ชอว์ บราเดอร์, “เกาหย่วน” ที่โด่งดังมากในยุคนั้น

ตามมาด้วยเรื่อง “ทอง” หรือ Gold หรือ S.T.A.B. ที่มีดาราดังจากฮอลลีวูดอย่าง เกร็ก มอร์ริส มาแสดงด้วย

แม้จะลงทุนไปถึง 10 ล้านบาท แต่ภาพยนตร์เรื่อง “ทอง” ก็ขายลิขสิทธิ์ให้กับตัวแทนที่สหรัฐฯได้ถึง 1 ล้านเหรียญ หรือ 20 ล้านบาท ใน พ.ศ.ดังกล่าว ถือว่ากำไรเหนาะๆ

ในปี 2518 “อาฉลอง” ได้สร้างภาพยนตร์ระดับอินเตอร์อีกเรื่องหนึ่งตั้งชื่อไทยว่า “ตัดเหลี่ยมเพชร” (GREAT FRIDAY) มี โอลิเวีย ฮัสซีย์ นางเอกฮอลลีวูดที่ดังคับโลกจากเรื่อง โรมิโอ จูเลียต มาเป็นดาราแสดงนำ

สำหรับในยุคหลังๆเมื่อ “อาหลอง” เข้ามามีบทบาทในวงการละครโทรทัศน์ และเป็นผู้บุกเบิกละครแอ็กชันของช่อง 7 สีนั้น...ผมก็ห่างเหินไป เพราะไม่ได้ติดตามดูละครโทรทัศน์เท่าไรนัก

แต่ก็ยังติดตามความสำเร็จของท่าน โดยเฉพาะการได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติเมื่อ พ.ศ.2556 และการลงบันทึกเป็นสถิติโลกใน กินเนสส์บุ๊ก เมื่อ 1 กันยายน 2565 ว่าท่านเป็นผู้กำกับการแสดงทางโทรทัศน์ที่มีอายุมากที่สุดในโลก (ณ วันดังกล่าว คืออายุ 90 ปี กับ 297 วัน)

ในนามของแฟนภาพยนตร์ไทยขนานแท้และกองเชียร์คนไทยที่ไปสร้างชื่อเสียงระดับโลก ผมขอร่วมบันทึกความยิ่งใหญ่ของ ฉลอง ภักดีวิจิตร ไว้ในคอลัมน์นี้ด้วยความภาคภูมิใจ

ขอดวงวิญญาณของท่านจงสุขสงบ ณ สรวงสวรรค์เบื้องบนไปตราบกาลนิรันดร์.

"ซูม"

คลิกอ่านคอลัมน์ “เหะหะพาที” เพิ่มเติม