"ผู้ประกาศข่าวเหมือน 'ซุปเปอร์แมน' ถึงแม้เราจะมีพลังก็ตาม แต่เราต้องมีความรับผิดชอบที่มันยิ่งใหญ่มาก...” 

"บางคนบอกว่าสื่อคือฐานันดรที่ 4 แต่จริงๆ เราว่ามันไม่ใช่ มันคือการให้เราต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าคนอื่นอีกเท่าหนึ่ง..." 

นี่คือคำพูดที่เราสัมผัสได้ว่าเขาคิดแบบนั้นจริงๆ จาก กอล์ฟ - ทัศนัย โคตรทอง และ มิ้นท์ - อรชพร ชลาดล ผู้ประกาศข่าวไทยรัฐทีวี 

กอล์ฟ - ทัศนัย โคตรทอง และ มิ้นท์ - อรชพร ชลาดล
กอล์ฟ - ทัศนัย โคตรทอง และ มิ้นท์ - อรชพร ชลาดล

จากกรณีที่สื่อมวลชนโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกับภารกิจถ้ำหลวงที่ผ่านมา Thairath Talk มีโอกาสได้พูดคุยกับ 2 ผู้ประกาศข่าว กอล์ฟ ทัศนัย และ มิ้นท์ อรชพร ที่ได้ลงไปทำข่าวภาคสนาม คลุกฝุ่น คลุกโคลน กับการรายงานข่าวครั้งประวัติศาสตร์ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง

...

ตลอดการรายงานข่าวหลายสิบวัน มีทั้งเหตุการณ์ความยากลำบาก กดดัน ตื่นเต้น ประทับใจ น้ำตาคลอ ที่มากกว่าการอ่านข่าวตามสคริปต์ในสตูดิโออย่างที่หลายคนเข้าใจเกี่ยวกับอาชีพ 'ผู้ประกาศข่าว' เราจะพาไปเปิดเบื้องหลัง เบื้องลึกว่าแท้จริงแล้วเขาทำอะไรกันบ้าง 

Thairath Talk : กว่าจะเป็นกอล์ฟ มิ้นท์ ไทยรัฐทีวี

กอล์ฟ : เอาจริงๆ ไม่ได้อยากเป็นนะครับ เพราะว่าเรียนนิเทศศาสตร์มา อยากทำงานเบื้องหลังมากกว่า แต่ไปยื่นฝึกงานที่ช่อง 7 แล้วมันเต็ม เขาก็ได้ให้ไปฝึกฝ่ายข่าว ฝึกไปฝึกมาเขารับเข้าทำงานเลย แล้วทำจนถึงทุกวันนี้เข้าสู่ปีที่ 12 แล้วครับ

ตอนแรกเราไม่ได้ชอบข่าวอะ เราอยากทำรายการทีวี อยากเป็นโปรดิวเซอร์ แต่พอทำไปทำมามันใกล้ตัวเรานี่ เพราะทำเรื่องเศรษฐกิจมีเรื่องปากท้อง ค่ารถไฟ ค่ารถเมล์ ค่าหมู ค่าผัก อะไรทุกอย่างมันแพงมันก็เกี่ยวข้องกับเราหมด พอทำปุ๊บมันทำให้เราได้รู้เรื่องก่อนคนอื่นเขาแล้วก็เอามาปรับใช้กับตัวเองได้มากขึ้น ทำให้เราชอบก็เลยตั้งใจว่าจะเดินสายข่าวให้มันสุดไปเลย ดูซิว่ามันจะสุดตรงไหน

มิ้นท์ : จริงๆ ไม่ต่างจากพี่กอล์ฟ แต่มิ้นท์ไม่ได้เรียนนิเทศฯ เป็นคนไม่ชอบดูข่าวคือมันน่าเบื่อ แต่ว่าชอบทำงานพิธีกร งานที่ได้เจอคนได้พูดได้ใช้ภาษา มิ้นท์ก็มาจากสายพิธีกรตอนนั้นก็ยังอยู่ช่อง 7 แต่ไม่เคยเจอพี่กอล์ฟ คือพี่กอล์ฟอยู่ฝ่ายข่าว นี่อยู่ฝ่ายรายการ ก็ทำสายพิธีกรมาโดยตลอด แล้วทีนี้พอดีเป็นช่วงที่กำลังเรียนอยู่แล้วพอเรียนจบปุ๊บก็เลยคิดว่าเราจะเป็นฟรีแลนซ์ไปอีกนานแค่ไหน แล้วพอดีไทยรัฐเขาขึ้นช่องทีวีดิจิตอลพอดี

เราก็มองว่ามันก็เป็นอีกสเตปหนึ่งของวงการทีวีก็เลยมาสมัครเพราะว่าคือใจก็รู้นะว่าทุกอย่างมันก็ยังไม่ชอบ ถามผมมันน่าเบื่อแต่มันคือสิ่งที่เราต้องรู้เพราะมันคือเรื่องรอบตัว เข้าใจว่าก็รู้สึกว่ายังไงก็ยังไม่ชอบข่าว รู้สึกว่ามันน่าเบื่อ แต่มันคือสิ่งที่เราต้องรู้เพราะมันคือเรื่องรอบตัวเรา ก็เลยรู้สึกว่ามาตรงนี้ดูแล้วกัน

Thairath Talk : เรียกตัวเองว่าเป็นคนข่าวตัวจริงได้หรือยัง ?

กอล์ฟ : ผมว่าได้นะ เพราะคนข่าวตัวจริงในความคิดเรามันไม่ใช่คนที่แค่นั่งอยู่หน้าจอทีวี มันต้องเป็นคนที่พร้อมลงพื้นที่ทันทีที่มันมีสถานการณ์เกิดขึ้น เราก็เอาตัวเราไปอยู่ตรงนั้นให้เร็วที่สุดแล้วก็รายงานข่าวทันทีที่เราไปถึง แล้วก็ถูกต้องชัดเจน อันนี้คือคนข่าวตัวจริงครับ

มิ้นท์ : มิ้นท์เป็นคนข่าวตัวจริงรุ่น Beginner คือมิ้นท์เพิ่งทำงานข่าวที่ไทยรัฐมา 4 ปี ประสบการณ์มิ้นท์ยังไม่เท่าพี่กอล์ฟ พี่กอล์ฟเขาลงพื้นที่มาเยอะ เจอข่าวมาหลายรูปแบบแล้ว อ่านข่าวมานาน ของมิ้นท์อาจมีประสบการณ์อ่านในสตูดิโอ ลงพื้นที่ไม่ค่อยบ่อยเท่าไร ก็ลงบ้าง เลยรู้สึกว่าเราอยู่ในขั้นตอนของการเติบโตไปเป็นคนข่าวตัวจริงอยู่

...

Thairath Talk : ภารกิจถ้ำหลวง

กอล์ฟ : คือเราสองคนจะลงไปคนละเวลาแต่ที่เดียวกัน ผมไปตั้งแต่วันแรกที่เกิดเรื่องจนถึงวันที่พบทั้ง 13 คน แต่น้องมิ้นท์ไปต่อจากวันที่พบจนออกมาจากถ้ำ มาแตะมือกัน

Thairath Talk : ครั้งแรกไหมที่ลงออกไปคลุกฝุ่น คลุกโคลน ทำข่าวภาคสนาม

กอล์ฟ : ถ้านับตั้งแต่ทำข่าวมาไม่ใช่ครั้งแรก เหตุการณ์แรกที่ลงก็คือชุมนุมทางการเมืองปี 53 ที่มีการเผาบ้านเผาเมือง 2 สี ทะเลาะวิวาทกันอันนั้นเป็นครั้งแรกที่ลงไป นับว่าประสบการณ์ที่ดี แล้วก็มีเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ปี 54 อันนั้นก็รายงานข่าวตั้งแต่นครสวรรค์ยันกรุงเทพมหานคร ทุกวันน้ำจะลดลงไป แล้วก็มาเหตุการณ์นี้ถ้ำหลวง

“ถึงแม้มันจะเป็นแบบแค่ 10 กว่าวัน แต่เหตุการณ์นี้หนักเหนื่อยที่สุด เครียดที่สุดแล้วกดดันที่สุดเท่าที่เคยทำ เพราะมันไม่ใช่อยู่ในกรุงเทพฯหรือในประเทศไทย แต่มันเป็นสิ่งที่คนทั้งโลกสนใจอยู่ครับ”

มิ้นท์ : จริงๆ ไม่ใช่ภารกิจแรก ภารกิจแรกไทยรัฐส่งไปเนปาลตอนแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ อันนั้นคลุกฝุ่นของจริง คลุกทั้งฝุ่น เดินขึ้นเขา 2 กิโลฯ อันนั้นน่าจะโหดกว่าอันนี้ อีกอย่างหนึ่งคือความกดดันอันนี้มิ้นท์มีไม่เท่าพี่กอล์ฟ เพราะของพี่กอล์ฟคือตอนที่ไม่รู้ว่าจะเจอไหม ไม่รู้ว่าจะเจอเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าจะรอดครบไหม คือตรงนั้นก็จะกดดันมากเพราะคนก็ติดตามเยอะ แต่ตอนมิ้นท์ไปคือเจอแล้ว แบบในสภาพที่แข็งแรงแล้วก็ปลอดภัยทั้ง 13 คน เหลือแค่ว่าเอาออกมายังไง มันกดดันน้อยกว่าเยอะ

...

Thairath Talk : วินาทีที่เจอทั้ง 13 คน

กอล์ฟ : คือมันบอกเป็นความรู้สึกที่ยากที่จะบอก ณ ตอนนั้นกำลังรอเข้ารายการสดอยู่ ตามสคริปต์ที่เตรียมเอาไว้เพราะยังไม่รู้ว่าเจอแล้ว กำลังจะเข้าปุ๊บได้ยินเสียงอะไรบางอย่างอยู่ที่บริเวณกองอำนวยการ คนเฮ หรือมีอะไรบางอย่างเกิดขึ้น ก็เลยบอกช่างภาพตามพี่มา แล้วบอกข้างในว่าให้สดเดี๋ยวนี้เลย พี่คิดว่าต้องเจอแล้ว วิ่งไปปุ๊บผู้ว่าฯ บอกว่า 'เจอแล้ว'

มิ้นท์ : คือคนที่จะโยนให้พี่กอล์ฟสดคือมิ้นท์นี่แหละ แล้วเราก็ได้ยินข้างในพูดมา เราก็หูตั้งเลยอะไรๆ เกิดอะไรขึ้น ก่อนหน้าประมาณสัก 3 ทุ่มมีข่าวบอกว่าเจอแล้วแต่ไม่ครบ คือมันมีหลายกระแสมาก เราได้ยินเลยว่าแบบรอด 5 เราก็เป็นแบบยังไงกันแน่ เฟิร์มไม่เฟิร์ม พักหนึ่งข้างในบอกเจอแล้ว หูตั้งเลย มิ้นท์นะหูตั้ง จริงปะชัวร์ปะ ก็เลยโยนเข้าพี่กอล์ฟ

กอล์ฟ : พอรับมาก็ตั้งสติอยู่แป๊บนึงก่อนเพราะว่ามันตื้นตัน มันดีใจ มันรวมทุกอย่าง มันหลั่งไหลมาน้ำตามันจะไหลก็เลยแบบตั้งสติแป๊บนึงก่อน รวบรวมว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นคืออะไรแล้วก็พูด มีคนเอาไปโพสต์ว่าผมพูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ มันคือเรื่องจริงนะ (หัวเราะ) มันจะร้องไห้ จะร้องแต่เราต้องคุมสติเพราะเรามีหน้าที่อยู่ มันร้องแต่ไม่อยากจะให้มันมีน้ำตาไหลออกมา

มิ้นท์ : คือจะเกาหลีๆ หน่อยคือน้ำตาคลอ แต่น้ำตามันไม่หยดอะ (หัวเราะ) แต่มันแดง

กอล์ฟ : แต่ตั้งใจพูดมากเพื่อให้คนไทยทั้งประเทศฟัง ว่าตอนนี้เจอหมูป่าทั้ง 13 คนแล้ว และ 13 คนรอดชีวิต เป็นประโยคที่ผมอยากพูดที่สุดตลอดหลายวันที่ผ่านมาแล้วก็ได้พูด เพราะว่าคนจะอินบ็อกซ์มาถามตลอด เจอรึยังๆ ครบหรือเปล่า อันนี้พูดเต็มปากแล้วเจอแล้วให้คนไทยทั้งประเทศที่ดูอยู่ได้รู้พร้อมกับเรา แล้วเราเข้าช่องแรกด้วยซ้ำไป ณ เวลานั้น ผมภูมิใจมาก แต่สุดท้ายมันก็กลั้นไม่อยู่ น้ำตามันก็ไหลออกมา

...

“มันทําให้คนติดตามน้ำตาไหล คือเราเครียด เราเห็นหน้าพ่อแม่เขาอย่างมีความหวัง คนถามเราก็ข่าวลือมาว่าน้องรอดไม่ครบบ้างอะไรบ้าง เราก็เครียด เครียดมากแล้วเราก็พูดได้ไม่เต็มปากว่าเจอหรือยัง แต่พอเขาบอกว่าเจอแล้ว มันเหมือนปลดความรู้สึกออกทั้งหมด”

Thairath Talk : ตอนอยู่หน้าถ้ำหลวงแต่ละวันทำอะไรบ้าง

มิ้นท์ : ตอนมิ้นท์ไปถึงคือเขาปิดหน้าถ้ำแล้ว คือตั้งแต่เจอน้องเขาก็กั้นไว้ ตอนที่มิ้นท์อยู่ที่สตูแล้วดูพี่กอล์ฟรายงาน ยังคิดเลยว่าพื้นที่มันกว้าง เดินไปทางนั้นที เดินไปทางนี้ที แต่พอไปถึงปุ๊บมันแค่นี้เอง ก็เลยถามเขาว่ามีแค่นี้เองหรอ เพราะมันดูกว้างมาก ความเป็นจริงคือพื้นที่มันไม่ได้กว้างเลยค่ะ  

เล่าย้อนไปคือตอนแรกพี่ต๋อย (ต๋อย-ประณต วิเลปสุวรรณ ผู้บริหารไทยรัฐทีวี) โทรมาถามว่า มีความคิดว่าจะส่งไปเชียงรายอยากไปไหม คือในใจอยากไปมาก คือมิ้นท์อยากลงพื้นที่ รู้สึกว่าการลงพื้นที่มันคือข้อได้เปรียบของการเป็นนักข่าวมันทำให้เราได้เห็นอะไรหลายอย่างแล้วมันไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เจอหรือว่าสัมผัสประสบการณ์แบบนี้ มิ้นท์ก็บอกพี่ต๋อยว่าไป มิ้นท์อยากไป

พอมิ้นท์ไปถึงแต่เช้าให้พี่กอล์ฟพาเซอร์เวย์ด้วยความที่หนึ่ง มิ้นมาจากสายพิธีกรใช่ไหมคะ มิ้นท์ไม่ค่อยได้ลงพื้นที่ Connection มิ้นท์เป็นศูนย์ คือพูดคำนี้ได้เลยคือเป็นศูนย์ พี่กอล์ฟยังมาจากสายข่าว เขายังรู้ว่ามันต้องทำยังไง เขาเคยลงพื้นที่มาก่อน มิ้นท์เคยลงพื้นที่แค่ไปเนปาลซึ่งมันต่างประเทศ Connection มันก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่อันนี้มิ้นท์ต้องรู้จักคนพื้นที่ คนท้องถิ่นหรืออะไรบ้างหรืออย่างน้อยก็ให้พี่กอล์ฟพาไปแนะนำบ้าง แบบมาแตะมือกันตรงไหนหรืออะไรยังไงตรงไหน เต็นท์ข้าว เต็นท์หน่วยซีล เต็นท์ต่างประเทศ เต็นท์ PR ควรแต่งตัวแบบนี้

กอล์ฟ : เราบอกข้อมูลไปแล้วว่า ต้องเตรียมอะไรมาบ้าง เสื้อผ้ายังไง มันฝนตกทั้งวันแล้วเดินกลับนี่ขี้โคลน ถ้าไม่มีรองเท้าบูตมันเน่า เสื้อผ้าบอกว่าอย่าใส่สีอื่นมา เอาสีดำมา เพราะมันซักไม่ออก ทุกวันนี้มันก็ซักไม่ออกมันก็กองอยู่ที่บ้านเป็นโคลนอยู่เลย (หัวเราะ)

Thairath Talk : สิ่งที่ยากที่สุดในภารกิจนี้ 

มิ้นท์ : สำหรับมิ้นท์รู้สึกว่ามันยากตรงที่ว่า ตั้งแต่เจอน้องข้อมูลหายากมาก คือเขาปิดหมด แถลงข่าว 2 รอบเช้าเย็น และเย็นบางทีก็ไม่ตรงเวลาด้วย หาข่าวจากที่ไหนก็ไม่ได้ ถึงแม้ว่าเราจะมีสิทธิ์ เราก็มีแบบเอาบางคนเขามี connection เรียกท่านหน่วยซีลบ้าง อะไรบ้าง คือเราก็พยายามถามแต่พูดไม่ได้ คือได้ยินคร่าวๆ ว่าตอนนี้เป็นแบบนี้ มีการวางแผนจะปฏิบัติแบบนี้ แต่เรารายงานไม่ได้เพราะว่าแหล่งข่าวเรามีปัญหา มันยากกับมิ้นท์ตรงที่ว่ารายงานอะไรดี พูดอะไรดี

อีกอย่างสำหรับมิ้นท์สิ่งที่ยากคือการสื่อสารให้คนที่เขาไม่ได้อยู่ตรงนั้น คนที่ดูทีวีอยู่ที่บ้านหรือคนที่ตามข่าว สื่อสารให้เขาเข้าใจจริงๆ ว่าสถานการณ์ตอนนี้มันเป็นแบบไหน แล้วก็สู้กับความรู้สึกส่วนตัวของคนดูทุกๆ คนด้วย เพราะว่าแต่ละคนต่างคนต่างความคิด เราไม่มีสิทธิ์ตัดสินว่าคนนี้ถูกหรือคนนี้ผิด เพียงแต่เราจะทำยังไงให้เขาเข้าใจตรงกันว่า ณ ตอนนี้เรื่องราวที่เกิดขึ้นมันเป็นแบบไหน

กอล์ฟ : เราสู้กับข่าวลือ อยู่ตรงนั้นมีแต่คนออกมาบอกเราเต็มไปหมดเลย เจอแล้วบ้าง คนที่อยู่ข้างนอกรู้เยอะกว่าเราด้วยซ้ำไป เราก็แบบเอ๊ะเราอยู่หน้าถ้ำเรายังไม่รู้เลย อันนี้คือสิ่งที่มันยากเพราะเราไม่รู้ว่ามันจริงรึเปล่านะ ถ้าเกิดมันจริงแล้วเราไม่มีขึ้นมาจะทำยังไง เราจะได้ออกอากาศรึเปล่า ความยากคือความถูกต้องของเนื้อหาที่มันออกเพราะว่ากระทบจิตใจพ่อแม่เขา กระทบจิตใจคนดู กระทบเรื่องของหลักสิทธิมนุษยชน กับเด็กๆ ทั้ง 13 คน มันต่อสู้ทั้งข่าวลือ ต่อสู้ทั้งความเร็วที่การออกอากาศ ต่อสู้กับตัวเองที่เราต้องประคองสติทุกอย่างเอาไว้ยังไงบ้าง อันนี้คือความยากที่สุดในการทำงานที่ถ้ำหลวง

Thairath Talk : ภารกิจนี้เต็ม 10 ให้ตัวเองเท่าไร

มิ้นท์ : ให้ 8 สูงไปปะ มิ้นท์อยากให้ตัวเอง 8 เพราะว่ามิ้นท์ตั้งใจ ตั้งใจจริงๆ แล้วก็ถามว่าอยากกลับไปมีตรงไหนที่อยากกลับไปแก้ไหม ไม่มี มิ้นท์ว่ามิ้นท์รายงานครบ ได้ครบทุกมุม

Thairath Talk : เหตุการณ์ประทับใจ จดจำจนวันตาย รายงานข่าวครั้งประวัติศาสตร์

กอล์ฟ : แน่นอนสำหรับผมวันที่เจอแล้ว อันนี้มันอยู่ในชีวิตผมจนตายแน่นอน แล้วผมจะเอาเรื่องราวพวกนี้เอาไปเล่าให้กับคนอื่นฟังได้ตลอดชีวิต เพราะว่าผมอยู่ในเหตุการณ์วันนั้น ในคืนวันนั้น เพราะว่าต้องบอกว่าวันก่อนเจอกับวันที่เจอ 2 วันนั้นผมไม่ได้นอน ก่อนหน้าวันนั้นเราตื่นตี 5 มาทำงานแล้วเจอ ต้องทำมาตั้ง 3-4 ทุ่ม แล้วผมต้องลากยาวถึงอีกวันหนึ่ง เพื่อประเมินสถานการณ์ว่ามันจะยังไงต่อไป ไม่ได้นอนเลย 24 ชั่วโมง

สิ่งที่ประทับใจคือเมื่อเราได้อยู่ในนาทีประวัติศาสตร์ คือในนามของผู้สื่อข่าวไทยรัฐทีวี ที่ได้พูดออกไปว่าเจอทั้ง 13 คนแล้ว แล้วมันมีคนดูเยอะแยะมากมาย ดาราที่ครอปรูปเราตอนที่พูดแล้วเราร้องไห้ด้วย ร้องไห้อยู่แล้วหน้าเราเต็มไปหมดเลย เปิดเฟซบุ๊กมา ต้องขอบคุณคุณโอปอล์ด้วยที่แบบเอารูปเราไปโพสต์แล้วต้องให้เครดิตว่าเป็นไทยรัฐทีวี มันทำให้เราประทับใจมาก คือเราทำงานเราไม่ได้คาดหวังว่ามันจะมีชื่อเสียง ว่ามันจะมีคนติดตาม ว่าเราจะดัง แต่ว่าเราคาดหวังแค่ว่าเราอยากจะบอกสิ่งที่เขาอยากรู้เท่านั้นเอง มันก็เลยกลายเป็นเราจะจดจำตลอดไป ว่าเราอยู่ในประวัติศาสตร์ในครั้งนี้ว่าเราเป็นผู้สื่อข่าวถ้ำหลวง

มิ้นท์ : ของมิ้นท์ก็คล้ายกับพี่กอล์ฟ เพราะว่าเราได้เข้าไปอยู่ตรงนั้น เราได้เห็นว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นในช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ไม่ใช่ทุกคนจะได้อยู่ตรงนั้น ทั้ง 7 วันที่มิ้นท์อยู่ตรงนั้นก็คือมิ้นท์ประทับใจทุกวัน เพราะว่ามันคือการต่อสู้กับตัวเองของเราว่าวันนี้จะพูดอะไร วันนี้จะรายงานเรื่องไหน วันนี้เราจะเอาอะไรไปบอกคนอื่นในสถานการณ์ที่เราไม่รู้อะไรเลย

นักข่าวหน้าถ้ำความรู้ตอนนั้นไม่ได้ต่างจากคนดูที่บ้านเลย เพราะว่าเราไม่ได้ข้อมูลอะไรเลยเหมือนกัน มันคือช่วงเวลาแต่ละวันที่มันเหนื่อยแต่มันไม่ทรมาน มันเหนื่อยแต่มันท้าทาย แล้วมันทำให้เราได้เห็นว่าเราข้ามขีดจำกัดตัวเองไปได้ เราทำได้ เราสามารถไปอีกก้าวหนึ่งได้ คือมันทำให้มิ้นท์ได้เรียนรู้ว่า มันไม่มีทางตัน ถ้าเราหายังไงมันก็เจอ มันก็ได้เป็น 7 วันที่แบบประทับใจ 

Thairath Talk : ในยุคที่สื่อมวลชนโดนถามหาจรรยาบรรณสื่อ มีเรื่องอะไรต้องระวังเป็นพิเศษไหม

กอล์ฟ : ก่อนเราลงพื้นที่เราเตรียมรับเอาไว้แล้วกับเรื่องแบบนี้ เพราะว่าไม่ว่าจะทำอะไรไปแตะต้องตรงไหนนั้นก็จะมีดราม่ามีคำถามตามมามากมายเลยนะครับ ซึ่งเราก็จะระวังตัวเองไม่พูดในสิ่งที่เราไม่รู้ จะพูดก็ต่อเมื่อมีคนคนหนึ่งมาบอกว่าเขาพูดแบบนี้แล้วเราก็บอกว่าเขาพูดแบบนี้ เพราะถ้าเราพูดจากปากเราเอง คำถามคือคุณรู้ได้ยังไง ถูกหรือเปล่า

เราก็จะบอกว่าท่านผู้ว่าฯ พูดแบบนี้ หน่วยซีลพูดแบบนี้ ชาวบ้านพูดแบบนี้ แล้วเราก็รู้ว่าขอบเขตที่เราควรจะอยู่ทำอะไรได้บ้างไม่ได้บ้าง ถ้าเกิดว่าเจ้าหน้าที่เขาขอร้อง เราก็อยู่แค่นี้จุดที่เราอยู่ ถ้าผู้ชมเห็นตอนที่ผมรายงาน ถ้าผมเดินไปแล้วเข้าไม่ได้ผมก็จะไม่เข้า ผมจะไม่ดันทุรังเข้าไปเพื่อให้ได้ภาพที่เจ๋งกว่าคนอื่น เพราะว่ามันสดอยู่แล้ว คนดูอยู่แล้วก็ทำในขอบเขตที่เรามี แต่ว่าเราก็จะแบบพยายามหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด จะบอกช่างภาพว่าถ้าเข้าไม่ได้ไม่ต้องเข้าไป เอาตามที่เราสมควรจะทำก็พอ

มิ้นท์ : มันยากตรงที่ว่ามันก็เป็นการแข่งขัน มันก็เป็นธุรกิจ ถึงแม้ว่าจะเป็นสื่อมันก็เป็นการแข่งขัน เราต้องยอมรับ แต่ในขณะเดียวกันมันต้องจัดลำดับความสำคัญว่า ณ ตอนนี้ชีวิตมันสำคัญกว่า 13 ชีวิตตรงนั้นสำคัญกว่า ถ้าเราทำอะไรที่นอกกรอบ หรือว่าแหกกฎจากที่เขาพยายามวางกรอบสื่อเอาไว้ แล้วมันมีความผิดพลาด เรารับผิดชอบไม่ได้

แล้วก็ที่มิ้นท์จะระวังมากคือจะพยายามไม่ใส่ความคิดเห็น เพราะว่าเรื่องนี้มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอีกอย่างหนึ่งคือในฐานะที่เราเป็นสื่อเรามีพื้นที่หน้าจอ คือ บางคนบอกว่า สื่อคือฐานันดรที่ 4 ใช่ปะคะ แต่จริงๆมิ้นท์ว่ามันไม่ใช่ มันคือการให้เราต้องมีความรับผิดชอบมากกว่าคนอื่นอีกเท่าหนึ่ง เพราะว่าพอเรามีพื้นที่หน้าจอที่เราสามารถพูดอะไรออกไปให้คนเป็นล้านคนฟังได้ นั่นคือโอกาสที่เราอาจจะยัดเยียดความคิดของเราให้เขาก็ได้ หรือเราจะส่งต่อความจริงหรือเราจะบอกข้อมูลกับเขาก็ได้ ซึ่งตรงนี้มันคือสิ่งที่เราต้องคำนึงถึงมากๆ ว่าสิ่งที่เราพูดออกไปมันจะกระทบ มันจะมีผลหรือมันจะส่งผลในการโน้มน้าวหรือว่าอะไรใครได้บ้าง

กอล์ฟ : ทำอะไรผิดพลาดนิดเดียวมันหนักมากในเวลานั้น มันจะกระทบไม่ใช่แค่เรานะ องค์กรเราด้วย

มิ้นท์ : ต้องรับผิดชอบคำพูดของตัวเองทั้งหมดที่พูดออกไป ถามตัวเองว่ารับไหวไหม ถ้าไหวก็ทำ แต่ถ้าไม่ไหวก็อย่าทำ

กอล์ฟ : เพราะว่าถ้าเขาว่าเขาไม่บอกว่าทำไมทัศนัยว่าอย่างนั้น อรชพรว่าอย่างนี้ เขาบอกว่าไทยรัฐว่าอย่างนี้ มันเป็นภาพลักษณ์องค์กรซึ่งเราอะได้รับคำสั่งมา แล้วเราก็คํานึงถึงเสมอว่าเราจะไม่ทำผิด เราจะไม่พลาด เราต้องตรวจสอบให้มันถูกต้อง

Thairath Talk : สื่อไทยเลว เจอคำนี้เจ็บปวดไหม

มิ้นท์ : มิ้นท์เคยเป็นคนหนึ่งตอนที่ยังไม่ได้อยู่ในวงการนี้ มิ้นท์มองว่าทำไมเราต้องทำขนาดนั้นด้วย สื่อมวลชนจำเป็นต้องทำขนาดนั้นจริงๆ ไหม อย่างที่ข่าวดาราหรือข่าวนักแสดงหรือข่าวใครเสียชีวิต บางทีมิ้นท์ก็รู้สึกว่าเกินไปไหม จำเป็นที่จะต้องได้ภาพขนาดนั้น จำเป็นที่จะต้องได้ชอตน้ำตาไหลขนาดนี้เลยไหม โดยที่เราไม่คำนึงถึงจิตใจของคนที่แบบไปอยู่ตรงนั้นมากไปหรือเปล่า

ซึ่งพอมิ้นท์เข้ามาอยู่ในวงการสื่อมันก็ยังคิดอยู่นะ แต่ว่าไม่ใช่ทุกคนมันมีบางอันที่มิ้นท์รู้สึกว่า มันไม่จำเป็นต้องพูดคำนี้ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องถามคำถามนี้ก็ได้ ถามคําถามอื่นก็ได้ มันทำได้ แต่ว่าคุณต้องการอะไร สิ่งหนึ่งมิ้นท์ก็รู้สึกว่าคนดู คนไทยไม่ได้โง่นะคะ คนไทยรู้คนไทยดูคนดูเขารู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร เพราะฉะนั้นเราในฐานะสื่อทุกคนก็ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด หลีกเลี่ยงความผิดพลาดให้ได้มากที่สุด แต่ถ้าพลาดไปแล้วก็ขอโทษและแก้ไข

Thairath Talk : อยากเป็นผู้ประกาศ ต้องทำยังไง

กอล์ฟ : คืออย่างที่บอกตอนนี้ทีวีมันหลากหลายช่อง แล้วคนเป็นนักข่าว ผู้ประกาศมันเยอะแยะมากมายมหาศาลมาก แต่มันจะมีกี่คนที่คนจดจำได้ ว่านี้คือผู้ประกาศข่าวไทยรัฐทีวี มันน้อยคน ดังนั้นคนที่จะมาเป็นตรงนี้ก็ต้องสร้างความแตกต่างของตัวเองจากคนอื่น เราไม่ใช่แค่แบบมันแต่งหน้าทำผมแล้วไปนั่งอ่านข่าว ไม่มีคนจำหรอกครับ ดังนั้นต้องเริ่มศึกษาหาความรู้ เริ่มหาสไตล์เป็นของตัวเอง ว่าเราอยากเป็นคนหน้าจอนักข่าวแบบไหน อยากอยู่ในพื้นที่หน้าจอ หรือว่าอยากไปอยู่ในภาคสนาม

แล้วก็สร้างความแตกต่างของตัวเองให้มันโดดเด่นจากคนอื่น แต่ต้องโดดเด่นแบบดีๆ นะ ไม่ใช่เอาไปทางลบนะ คุณอยากให้คนจดจำคุณแบบไหนมากกว่า เพราะทุกวันนี้ถามว่าใครเป็นผู้ประกาศบ้าง ใครก็เป็นได้ทั้งนั้น แต่ผู้ประกาศคนไหนที่คนยอมรับว่า คุณคือคนข่าว คุณคือผู้ประกาศข่าวที่คนยอมรับ อันนี้มันสำคัญมาก ถ้าคุณอยากจะเป็นต้องเริ่มคิดตั้งแต่ตอนเรียน ว่าคุณจะทำตัวเองสร้างโปรไฟล์ตั้งแต่เริ่มต้นเรียนเลย ว่าอนาคตเราจะเป็นแบบไหนประมาณนั้น

มิ้นท์ : ถ้าเราอยากเป็นผู้ประกาศข่าว อยากทำงานสายอาชีพนี้เป็นตัวเองให้ได้ก่อน มีไอดอลในใจได้แต่ไม่ต้องเป็นแบบเขา ไม่จำเป็นที่เราจะต้องไปเลียนแบบใคร เป็นตัวของตัวเอง แตกต่างที่สุดแล้ว ยอมรับตัวเองให้ได้ แล้วเป็นตัวเองออกมา การอ่านสำคัญมากอ่านอะไรก็ได้ค่ะ ไม่จำเป็นต้องอ่านหนังสือพิมพ์ ไม่จำเป็นต้องอ่านข่าว ถ้าอ่านได้ก็ดี แต่ถ้าเราไม่ชอบ ชอบอ่านแมกกาซีน

คือการอ่านมันมีประโยชน์กับการเป็นผู้ประกาศข่าวมาก เพราะว่า หนึ่งมันทำให้เรามีคลังคำศัพท์เยอะ เมื่อเรามีคลังคำศัพท์เยอะเนี่ยเราจะไม่ตัน ถ้ามีอะไรผิดพลาดแล้วเราต้องด้นสด เราจะมีรูปประโยคอยู่ในหัวที่คุ้นเคย ว่าเคยอ่านผ่านอันนี้มา อยากให้ใฝ่รู้ ให้ตั้งคำถามกับหลายๆอย่าง อย่าแค่สงสัยอย่างเดียว ให้พยายามหาคำตอบ ถ้าไม่เข้าใจหาไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเข้าใจ หาให้ลึกที่สุดเท่าที่เราจะเข้าใจ รู้อะไรก็รู้ให้มันชัดเจน อย่ารู้แค่ผิวๆ

Thairath Talk : ผู้ประกาศแค่แต่งหน้าสวย นั่งสตู อ่านสคริปต์ ไม่ต้องรู้ลึก

กอล์ฟ & มิ้นท์ : ผิด!

มิ้นท์ : ตอนแรกมิ้นท์ก็คิดแบบนั้น แต่คือเราก็รู้ว่าเราจะต้องรู้เรื่องข่าวแหละ การอ่านข่าวสำหรับมิ้นท์นะมันไม่ใช่การอ่าน มันคือการสื่อสาร มันคือการที่เราสื่อสารสารหนึ่ง หรือว่าเล่าเรื่องเรื่องหนึ่งให้คนฟังเขาได้รู้ว่ามันมีอะไร เกิดขึ้นที่ไหน ใครทำอะไร ที่ไหนยังไง ถ้าเราไม่เข้าใจเรื่องที่เราพูดหรือว่าเรื่องที่เราเล่าไม่มีทางเลยที่คนฟังจะเข้าใจ มันคือการสื่อสาร มันไม่ใช่การพูดให้ฟัง หรือว่าแบบพูดปาวๆ แล้วคือใครจะฟังก็ฟัง ไม่ฟังไม่เป็นไรแล้วแต่เขา มันคือการสื่อสารเพราะฉะนั้นถ้าไม่เข้าใจแล้วเนี่ย มันเหมือนตกตั้งแต่แรกอะ อ่านไปเท่าไรคนไม่จำ คนก็ไม่เข้าใจและคนก็ไม่ฟัง คนก็รู้สึกว่าพูดอะไรอะ ฟังไม่รู้เรื่องเลย

กอล์ฟ : คนจะเห็นว่าแค่แบบแต่งตัวสวยหล่อนั่งหน้าจอ แต่ก่อนที่เราจะมานั่งตรงนี้ โอ้โหมันก็หนักเราต้องทำการบ้าน ตื่นเช้ามาต้องอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ อ่านในเว็บไซต์ มาดูบท มาดูเรื่องราวที่มันเกิดขึ้น บริบทของข่าวข่าวนั้น มันจะมีด้านไหนบ้าง เพื่อให้มันรอบด้านที่สุด เพื่อให้เราอย่าลืมว่าปัจจุบันนี้มันไม่ใช่แค่การอ่านข่าว วัฒนธรรมของการอ่านข่าว การบริโภคข่าวมันเปลี่ยนไป เป็นการเล่าข่าวมากขึ้น เป็นการเล่าพูดคุยกับคนดู

ดังนั้นอย่างเราต้องดูข้อมูลให้มันมากเพื่อที่เราเสริมเข้าไปให้ได้มากที่สุด ให้ข่าวนั้นมันกลมกล่อมที่สุด ทำการบ้านต้องหนักมาก ต้องดูข่าว กลับไปบ้านไม่ใช่เราจะนอนแบบไม่ทำอะไรเลยนะ ต้องดูทีวีดูช่องอื่นด้วย แล้วที่สำคัญถ้าเราพูดโดยเราไม่รู้จริง คนดูสมัยนี้เขาไม่ได้โง่แล้วนะ เขารู้แล้วว่าคุณพูด คุณรู้หรือเปล่า หน้าตาคุณ ท่าทางคุณ หมดนี้ที่มาคุณพูดมาก คุณรู้หรือเปล่า

มิ้นท์ : บางทีคนอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นงานสบาย มาถึงก็มีคนแต่งหน้าทำผมให้ มีคนตัดชุดให้นั่ง รับอ่านสคริปต์หมดเวลากลับบ้านนะ จริงๆแล้วความรับผิดชอบสูงมากนะคะ พูดอะไรผิดไปหรือว่าคือถ้ามันมีปัญหาอะไรขึ้นมามันคือหน้าเราและเสียงเรา สมมติถ้าเขาจะฟ้องก็ฟ้องเรา ความรับผิดชอบที่ต้องแบกไว้มันสูงนะ เห็นว่าแบบแต่งตัวสวยนั่งสวยๆ อ่านข่าวไปจริงๆ แล้วมันมีมากกว่านั้นเยอะ

Thairath Talk : เปรียบเทียบผู้ประกาศข่าวเป็นอะไร

กอล์ฟ : ผู้ประกาศข่าวเหมือน 'ซุปเปอร์แมน' ถึงแม้เราจะมีพลังก็ตาม แต่เราต้องมีความรับผิดชอบที่มันยิ่งใหญ่มาก เหมือนเรามีโอกาสนั่งหน้าจอ แต่เรามีความรับผิดชอบตามมาที่มันแบบยิ่งใหญ่มาก เราผิดไม่ได้เลย บทเรียนมันราคาแพงมาก

มิ้นท์ : 'โทรโข่ง' ตั้งแต่ไหนแล้วมิ้นท์รู้สึกว่าสื่อคือสิ่งสำคัญมากนะคะในสังคม สื่อคือสิ่งที่จะทำให้คนได้รู้และเข้าใจถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ได้รู้ถึงความจริง ใช้คำนี้ดีกว่า สื่อควรจะนำเสนอแต่ความจริงเพื่อให้คนได้รู้ข้อมูลและข้อเท็จจริงทั้งหมด แล้วเขาจะไปตัดสิน หรือไปคิดยังไงตรงนั้นเป็นส่วนของเขา แต่เรามีหน้าที่ในการกระจายเสียง การกระจายข้อมูล ให้ทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเท่าเทียมกัน