ตะลึง! แพขยะยาวกว่า 10 ก.ม. กลางทะเลอ่าวไทย "บิ๊กเต่า" สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ไข เบื้องต้นเก็บขยะได้ 5 พันกว่าโล พร้อมเปิดประชาพิจารณ์ลดใช้ถุงพลาสติก นำร่อง 3 จังหวัดชายฝั่ง หลังไทยติดอันดับโลกทิ้งขยะลงทะเล...
เมื่อวันที่ 23 ก.พ. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า สถานการณ์แพขยะกลางทะเลอ่าวไทยบริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจ.ชุมพร ไม่เพียงจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการท่องเที่ยวของประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงการเดินเรือ การประมง และที่สำคัญ คือ ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และสุขภาพอนามัยประชาชนอย่างรุนแรง จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ ดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว เบื้องต้นสามารถจัดเก็บได้กว่า 5,407 กิโลกรัม จำนวนกว่า 80,000 ชิ้น
ส่วนการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้มอบหมายให้หน่วยงานทั้ง 3 ไปดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมในการใช้มาตรการเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติก โดยนำร่องใน 3 จังหวัดท่องเที่ยวชายฝั่งทะเล ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ และภูเก็ต
...
ด้านนายสากล ฐินะกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในฐานะรองโฆษกกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการศึกษามาตรการทางนโยบายเพื่อลดการใช้ถุงพลาสติกของประเทศต่างๆ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการทางสมัครใจ โดยมาตรการทางกฎหมายมีการดำเนินการใน 2 รูปแบบ คือ การใช้มาตรการเก็บภาษีถุงพลาสติกทั้งจากผู้ผลิตและผู้บริโภค แต่ประเทศส่วนใหญ่เลือกดำเนินการให้ผู้บริโภค คือ ผู้ใช้ถุงพลาสติกเป็นผู้จ่ายภาษี ทำให้ลดปริมาณการใช้ลงได้เป็นอย่างมาก ประมาณร้อยละ 80-90
พร้อมยกตัวอย่าง อังกฤษเก็บ 5p ต่อถุง (ประมาณ 2-3 บาทต่อถุง) มีผลบังคับใช้กับบริษัท/ร้านค้าขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 250 คน แต่ยังไม่มีผลบังคับกับบริษัท/ร้านค้าขนาดเล็ก มาเลเซีย บังคับเก็บภาษีถุงพลาสติก ในรัฐสลังงอร์ และปีนัง ส่วนประเทศไต้หวันไม่ได้กำหนดอัตราภาษีตายตัว โดยก่อนดำเนินการไต้หวันมีการใช้ถุงพลาสติกประมาณ 2.5 ถุงต่อคนต่อวัน หลังดำเนินมาตรการแล้ว 1 ปี อัตราการใช้ถุงพลาสติกลดลงกว่าร้อยละ 80
ส่วนอีกรูปแบบ คือ การออกกฎหมายห้ามไม่ให้ใช้ถุงพลาสติก พบว่าอัตราการใช้ถุงพลาสติกลดลงประมาณร้อยละ 60 เช่น ประเทศจีนห้ามมิให้มีการผลิต จัดจำหน่าย และใช้ถุงพลาสติกที่ผลิตจากโพลีเอทธีลีนความหนาแน่นสูง ผู้ประกอบการที่ให้ถุงพลาสติกแก่ลูกค้าโดยไม่คิดมูลค่าต้องเสียค่าปรับ 10,000 หยวน หรือ 50,000 บาท หลังจากดำเนินการไปแล้ว 1 ปี สามารถลดจำนวนถุงพลาสติกได้ร้อยละ 66 สหรัฐอเมริกาห้ามใช้ถุงพลาสติก 20 รัฐ 132 เมือง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ห้ามใช้ถุงพลาสติก ได้แก่ แอฟริกาใต้ อูกานดา โซมาเลีย เคนย่า แทนซาเนีย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมควบคุมมลพิษ จะร่วมกันนำร่องขับเคลื่อนกระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์ใน จ.สุราษฎร์ธานี จ.กระบี่ และ จ.ภูเก็ต และนอกจากขยะทะเลแล้วยังจะดำเนินการศึกษารูปแบบที่เหมาะสมทั้ง 4 ภาคเป็นภาพรวมของประเทศ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ จะไม่เป็นเพียงแต่ทำให้สามารถลดปริมาณขยะพลาสติกของประเทศ แต่ยังจะส่งผลต่อภาพรวมการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ ให้สามารถบรรลุผลได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดความยั่งยืนต่อไปในอนาคตด้วยเช่นกัน
มีรายงานภาพรวมของสถานการณ์ขยะมูลฝอยในประเทศไทย ของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2558 มีปริมาณ 26.85 ล้านตัน/ปี โดยในจำนวนถูกนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ 4.94 ล้านตัน/ปี หรือ 19% ขณะที่มีขยะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกต้อง 8.34 ล้านตัน หรือ 30% แต่ถูกนำไปกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง 7.15 ล้านตัน หรือ 27% และถูกทิ้งตกค้างในพื้นที่มากถึง 6.22 ล้านตัน หรือ 23%
ขณะที่จากฐานข้อมูลขยะทะเลเมื่อปี 2558 ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า 23 จังหวัดชายฝั่งทะเล มีปริมาณขยะมากถึง 10 ล้านตัน และมีขยะมากถึง 5 ล้านตัน หรือครึ่งต่อครึ่งที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง และมีโอกาสถูกชะพัดพาลงทะเล กลายเป็นขยะทะเล โดยประมาณว่า ในแต่ละปี จะมีขยะพลาสติกลงทะเลมากถึง 5 หมื่นตัน หรือ 750 ล้านชิ้น
ส่วนขยะที่พบส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติกมากที่สุด 13% หลอดเครื่องดื่ม 10% ฝากพลาสติกและภาชนะบรรจุอาหาร อย่างละ 8% ส่วนที่เหลือเป็นขยะอื่นๆ เช่น เชือก ก้นบุหรี่ กระป๋อง กระดาษ โฟม และขวดเครื่องดื่ม เป็นต้น โดยที่มาของขยะจาก 2 ทาง คือ จากกิจกรรมบนฝั่ง และ กิจกรรมในทะเล
นอกจากนี้ จากการสำรวจของทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2010 ยังพบว่า ในบรรดา 192 ประเทศที่ติดชายฝั่งทะเล ประเทศไทยเป็นประเทศที่ปล่อยขยะลงสู่มหาสมุทรมากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลกอีกด้วย.
...