แข็งกร้าว-ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวสุนทรพจน์ในพิธีสาบานตนรับตำแหน่งของนายเจฟฟ์ เซสชันส์ (ขวา) รมว.ยุติธรรมสหรัฐฯคนใหม่ ที่ทำเนียบขาว โดยทรัมป์ยืนยันจะสู้คดีที่เขาออกคำสั่งห้ามผู้คนจาก 7 ชาติมุสลิมเข้าประเทศจนถึงที่สุด (รอยเตอร์)

ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบ “ประชาธิปไตย” ส่วนใหญ่จะมี 3 สถาบันหลักไว้คานอำนาจกันเอง นั่นคืออำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ รวมทั้ง “ไทยแลนด์” ของเรา และมหาอำนาจ “สหรัฐอเมริกา”

แต่สหรัฐฯ ยุคนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้อื้อฉาวเป็นประธานาธิบดี 2 ใน 3 เสาหลักคือ อำนาจบริหารและตุลาการขัดแย้งกันอย่างหนัก หลังทรัมป์ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีเมื่อ 27 ม.ค. ห้ามผู้คนจาก 7 ประเทศมุสลิม คืออิรัก อิหร่าน ซีเรีย ลิเบีย เยเมน โซมาเลีย ซูดาน เข้าสหรัฐฯชั่วคราวนาน 90 วัน ระงับการรับผู้ลี้ภัยทั้งหมด 120 วัน และห้ามผู้ลี้ภัยจากซีเรียเข้าสหรัฐฯ ไม่มีกำหนด อ้างว่าเพื่อสกัดกั้นผู้ก่อการร้ายเข้าประเทศ

นอกจากคำสั่งนี้จะถูกต่อต้านทั่วโลก โดยเฉพาะโลกมุสลิม ผู้พิพากษาในหลายรัฐฯยังคัดค้านคำสั่งทรัมป์ แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือนาย เจมส์ โรบาร์ต ผู้พิพากษาศาลกลางชั้นต้น เมืองซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน ตัดสินยับยั้งคำสั่งของทรัมป์ทั่วประเทศชั่วคราวตามคำร้องของรัฐวอชิงตันและมินเนโซตา

นั่นทำให้ทรัมป์โกรธสุดๆ ด่าโรบาร์ตและระบบยุติธรรมไม่ไว้หน้าว่าแทรกแซงอำนาจผู้นำสูงสุดของตนที่จะทำให้ชาติปลอดภัยขึ้น และให้กระทรวงยุติธรรมยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์กลางที่ 9 นครซานฟรานซิสโก

แต่สุดท้ายทรัมป์ก็แพ้อีก เมื่อศาลอุทธรณ์กลางตัดสินยืนตามผู้พิพากษาโรบาร์ตด้วยคะแนนเอกฉันท์ 3 ต่อ 0 แม้ 1 ในผู้พิพากษาจะเป็นฝ่ายรีพับลิกันของทรัมป์เอง โดยคณะผู้พิพากษาชี้ว่า ศาลกลางสหรัฐฯ มีอำนาจทบทวนคำสั่งประธานาธิบดีในเรื่องคนต่างด้าวและความมั่นคง อีกทั้งรัฐบาลทรัมป์ไม่มีแผนรองรับผู้ได้รับผลกระทบจากคำสั่งนี้ และหาหลักฐานมายืนยันไม่ได้ว่าคนจาก 7 ชาติมุสลิมนี้พัวพันการก่อการร้ายในสหรัฐฯอย่างไร

...

ทรัมป์ประกาศจะสู้คดีนี้ถึงที่สุดในศาล สูงสุด ซึ่งอาจใช้เวลาอีกนาน!

อย่างที่เกริ่นไว้ตอนต้น สหรัฐฯมี 3 สถาบันหลักไว้คานอำนาจกันเอง คือ 1.อำนาจนิติบัญญัติ คือ “สภาคองเกรส” ประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีหน้าที่ออกกฎหมาย 2.อำนาจบริหารหรือรัฐบาลกลางซึ่งประธานาธิบดีมีอำนาจสูงสุด และ 3.อำนาจตุลาการ ประกอบด้วยศาลระดับต่างๆ

สหรัฐฯ ปกครองแบบสหพันธรัฐฯ (Federalism) ดังนั้น ระบบศาลจึงมีลักษณะพิเศษซ้อนกันอยู่ 2 ชั้น ได้แก่ ศาลรัฐบาลกลาง (Federal courts) และศาลมลรัฐ (State Courts) ซึ่งมีอำนาจจำกัดกว่า

ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ แยกเป็น 3 ประเภท ประเภทที่ 1.ประกอบด้วยศาลชั้นต้น (US District Court) 2.ศาลอุทธรณ์ (US Circuit Courts of Appeal) 3.ศาลสูงหรือศาลฎีกา (US Supreme Court) นอกจากนี้ ยังมีศาลพิเศษอีก 2 ประเภทหลายศาล

ศาลรัฐบาลกลางชั้นต้นมีทั้งสิ้น 94 ศาล มีผู้พิพากษา (เช่นเดียวกับโรบาร์ต) ทั้งหมดราว 700 คน แต่ละรัฐต้องมีศาลนี้อย่างน้อย 1 ศาล รัฐใหญ่ๆ เช่น แคลิฟอร์เนียมีถึง 4 ศาล ส่วนศาลอุทธรณ์กลางมีทั้งสิ้น 13 ศาล

ขณะที่ศาลสูงมี 1 ศาล มีผู้พิพากษา 9 คน แต่ปัจจุบันเหลือแค่ 8 คน เพราะนายแอนโทนิน สกาเลีย เสียชีวิตเมื่อปีที่แล้ว โดยใน 8 คนนี้ถูกแต่งตั้งโดยพรรคเดโมแครตและพรรครีพับลิกันข้างละ 4 คนเท่ากัน

ทรัมป์ได้เสนอชื่อนาย นีล กอร์ซัช เป็นผู้พิพากษาคนที่ 9 ที่ยังว่าง ถ้าวุฒิสภารับรองจะทำให้รีพับลิกันมีเสียงข้างมาก ส่งผลต่อการตัดสินชี้ขาดคดีสำคัญๆ ซึ่งอาจรวมทั้งคดีห้ามคนจาก 7 ชาติมุสลิมที่ว่านี้

แม้ประธานาธิบดีจะเป็นผู้แต่งตั้งผู้พิพากษาศาลกลางทั้ง 3 ศาลก่อนให้วุฒิสภารับรอง แต่ประธานาธิบดีไม่มีอำนาจสั่งปลดผู้พิพากษา เพราะรัฐธรรมนูญสหรัฐฯได้สร้างระบบปกป้องศาลยุติธรรมให้มีอิสระสูงมากไม่ให้ถูกแทรกแซงได้ง่ายๆ มีแต่ “สภาคองเกรส” เท่านั้นที่จะปลดผู้พิพากษาได้ด้วยกระบวนการถอดถอนหรือ “อิมพีชเมนต์” เช่นเดียวกับการถอดถอน “ประธานาธิบดี” ออกจากตำแหน่ง

ตามปกติผู้พิพากษาศาลกลางจะอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิตหรือลาออกเอง และในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ กว่า 240 ปี มีผู้พิพากษาแค่ 8 คนที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดในกระบวนการอิมพีชเมนต์ที่ว่านี้

ศาลกลางมีสิทธิ์ตัดสินว่ากฎหมายที่ผ่านสภาคองเกรสหรือคำสั่งประธานาธิบดีขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือมีความชอบธรรมเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนจริงแท้หรือไม่!

ส่วนสภาคองเกรสมีหน้าที่ออกกฎหมายต่างๆ รวมทั้งควบคุมงบประมาณของประเทศ ขณะที่ประธานาธิบดีเป็นผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งยังมีอำนาจออกคำสั่งผู้บริหารสูงสุด และใช้สิทธิ์ ยับยั้งหรือ “วีโต้” กฎหมายที่ผ่านสภาคองเกรสได้ แต่สภาคองเกรสก็มีสิทธิ์ผ่านกฎหมายล้มล้างการวีโต้ของประธานาธิบดีได้เช่นกัน

กรณีทรัมป์สั่งห้ามคนจาก 7 ชาติมุสลิม ถ้าเขาไม่ยอมถอยหรือปรับแก้คำสั่ง คงต้องสู้กันถึงศาลสูง ซึ่งถ้าวุฒิสภารับรองนายกอร์ซัชทันเวลาก่อนที่คำสั่งของทรัมป์จะหมดอายุใน 90 วัน ฝ่ายทรัมป์อาจได้เปรียบ

แต่ถ้าศาลสูงยังแก้วิกฤติไม่ได้ ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดๆ “สภาคองเกรส” ซึ่งเป็น “เสาหลักที่ 3” ก็อาจเข้าแทรกแซงด้วยการออกกฎหมายพิเศษล้มล้างคำสั่งของทรัมป์ หรือแม้แต่ถอดถอนทรัมป์หรือผู้พิพากษาคู่กรณี

...

แต่ด้วยเหตุที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรสทั้งสภาสูงสภาล่าง การจะถอดถอนทรัมป์คงเป็นไปได้ยาก ส่วนการถอดถอนผู้พิพากษาก็ยากเช่นกัน เพราะศาลยุติธรรมมีอิสระและอิทธิพลสูงมาก

ถ้างัดกันไปถึงขั้นนั้น ก็ไม่รู้ว่าบทลงเอยจะเป็นอย่างไร!

บวร โทศรีแก้ว