“เลขาธิการ ปปง.” แถลงการณ์โต้ “สังศิต พิริยะรังสรรค์” ไม่รู้จริง คดีสินบนโรลส์-รอยซ์ ชี้ ข้อมูลคลาดเคลื่อนทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นองค์กร พร้อมยืนยัน ปปง.ทำคดีใกล้ชิดตลอด

เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 60 ที่สำนักงาน ปปง. ออกแถลงการณ์ถึงสื่อมวลชน โดยมีข้อความระบุว่า พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล เลขาธิการ ปปง. กล่าวตอบโต้กรณี นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการฟอกเงิน ให้สัมภาษณ์ผ่านทางสถานีโทรทัศน์สปริงส์นิวส์ โดยระบุถึงคดีสินบนโรลส์-รอยซ์ กับการดำเนินงานของ ปปง.ว่า อาจส่งผลกระทบต่อการประเมินของแฟทเอฟ (FATF) ในเดือน พ.ค.นี้. และอาจส่งผลกระทบเป็นสึนามิทางเศรษฐกิจนั้นว่า ข้อมูลที่นายสังศิตระบุมีความคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ และความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อองค์กร โดยเฉพาะประเด็นสถิติการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 1,200 ราย แต่ศาลให้เป็นไปตามคำขอแค่ 12 ราย ซึ่งไม่เป็นความจริงตามที่ นายสังศิต ระบุแต่อย่างใด เนื่องจากสถิติการยื่นคำร้องต่อศาล สำนักงาน ปปง. มีการยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 1,225 คดี ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 1,128 คดี คิดเป็นร้อยละ 92.08 ของคดีทั้งหมด และมีการนำเรื่องขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาจำนวน 21 คดี ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องของสำนักงาน ปปง. จำนวน 18 คดี

...

ส่วนกรณีที่ นายสังศิต ระบุว่าการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินนั้น สำนักงาน ปปง. ขอเรียนว่าองค์การสหประชาชาติไม่มีการลงนามในอนุสัญญาดังกล่าวแต่อย่างใด น่าจะเป็นการกล่าวโดยรวมอนุสัญญา 3 ฉบับ คือ อนุสัญญาสหประชาชาติที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด อนุสัญญาสหประชาชาติเพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ซึ่งอนุสัญญาทั้ง 3 ฉบับได้กำหนดให้นำมาตรการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมาใช้ เพื่อให้การป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมดังกล่าว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในหัวข้อการสนทนากรณีสินบนโรลส์-รอยส์เป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกใช้มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพื่อยับยั้ง และป้องกันการทุจริต รวมถึงการยึด อายัด และริบทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริต ซึ่งทางสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว และสำนักงาน ปปง. ได้มีการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ทั้งนี้สำนักงาน ปปง. ขอยืนยันว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง. ดำเนินการและประสานงานกับทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องกับคดีต่างๆ อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด ภายใต้กรอบกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเคร่งครัด ดังนั้น การดำเนินการทางคดีโดยเฉพาะคดีที่มีความสำคัญและอยู่ในความสนใจของประชาชนจึงอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง และไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดการดำเนินงานได้เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อรูปคดี

พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวอีกว่า สำหรับข้อแนะนำของคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อดำเนินมาตรการทางการเงิน (Financial Action Task Force หรือ FATF แม้มิใช่ข้อบังคับให้ทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม แต่ข้อแนะนำของ FATF คือ มาตรฐานสากล หรือ แนวทางการปฏิบัติที่ดีที่นานาประเทศนำมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของมาตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย โดยครอบคลุมถึงมาตรการทั้งเชิงป้องกันและปราบปราม โดยอาศัยความร่วมมือของหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลสำเร็จ แม้ว่าข้อแนะนำ FATF จะไม่มีสถานะเป็นอนุสัญญา และไม่มีสภาพบังคับในทางกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นข้อแนะนำที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลกว่า 180 ประเทศ ซึ่งมีการนำมาตรฐานสากลนี้มาปฏิบัติ อีกทั้ง มีสภาพบังคับทางอ้อมโดยผ่านกระบวนการประเมินผลการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลของสมาชิก FATF หรือกลุ่มเครือข่ายต่อต้านการฟอกเงินของ FATF ซึ่งรวมถึงกลุ่มความร่วมมือเพื่อต่อต้านการฟอกเงินเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Group on Money Laundering - APG) ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกอยู่ อย่างไรก็ตาม หากประเมินแล้วพบว่า ประเทศสมาชิกมีข้อบกพร่องจำนวนมากในการปฏิบัติตามมาตรการด้านการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เช่น กฎหมายที่มีอยู่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล การกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิผล และไม่มีการประสานความร่วมมือกับต่างประเทศอย่างเพียงพอ อาจส่งผลให้ประเทศนั้นถูกกำหนดรายชื่อเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงด้านการฟอกเงิน