วันที่ 2-5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ นำทีมรัฐมนตรี พ่อค้า นักธุรกิจกว่า 100 ชีวิต เดินทางไปเยือน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา อย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของ นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมาและรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้มีโอกาสเจรจากับ ถิ่นจอ ประธานาธิบดีเมียนมา และ นางอองซาน ซูจี ผู้มีอำนาจตัวจริงในรัฐบาลเมียนมาด้วย
มีภาพน่าสนใจภาพหนึ่งในการเยือนเมียนมาครั้งนี้ก็คือ ภาพที่ ดร.สมคิด มอบดอกไม้สีขาวช่อใหญ่ให้กับ นางอองซาน ซูจี ซึ่งรับไว้ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแสดงความพึงพอใจ
ผมไปสืบข้อมูลมาทราบว่า เป็น “ดอกกุหลาบมอญสีขาว” ที่ ดร.สมคิด นำไปจากกรุงเทพฯ เพราะทราบมาว่า นางอองซาน ซูจี ชอบดอกกุหลาบมอญสีขาวมาก ดอกกุหลาบมอญ มีชื่อไทยว่า ดอกยี่สุ่น ปกติมีสีชมพู ใบดอกเป็นรูปไข่เรียงกันเหมือนขนนก มีกลิ่นหอม เป็นกุหลาบพันธุ์พื้นเมืองของหงสาวดี เมืองหลวงเก่าของพม่า
การเมืองระหว่างประเทศ ก็ต้องรู้เขารู้เราแบบนี้แหละ
ดร.สมคิด เปิดเผยระหว่างไปเยี่ยมชม เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ร่วมทุนระหว่าง เมียนมา 51% (รัฐบาลเมียนมา 10% เอกชน 41%) ญี่ปุ่น 49% (รัฐบาลญี่ปุ่น 10% เอกชน 39%) ว่า รัฐบาลไทยก็อยากส่งเสริมให้นักลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศ สอดคล้องกับรัฐบาลเมียนมาที่เปิดรับนักลงทุนต่างชาติ ผู้ประกอบการไทยควรเร่งศึกษาพื้นที่เหมาะสม และโอกาสทางธุรกิจ เพื่อก่อตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้บริการกับบริษัทคนไทยที่จะเข้าไปลงทุนด้วย
หากเอกชนสนใจพื้นที่ตรงไหน รัฐบาลก็พร้อมที่จะไปเจรจากับรัฐบาลเมียนมา เพื่อจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ก่อนหน้านี้รัฐบาลเมียนมามีพื้นที่ไว้หลายแห่ง แต่ทำไม่สำเร็จ ต้องหาพื้นที่ที่สามารถออกทะเลได้สะดวก เพื่อสนับสนุนการขนส่งในอนาคต
...
คุณพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเมียนมา ที่รู้เรื่องเศรษฐกิจการเมืองพม่ามากที่สุดเล่าว่า เมียนมามียุทธศาสตร์การลงทุน ที่ชัดเจน กำหนดให้ เขตเศรษฐกิจพิเศษจ้าวเพียว (ลงทุนกับจีน) เป็นการ ลงทุนด้านปิโตรเคมีเพราะใกล้แหล่งพลังงาน เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (ลงทุนกับญี่ปุ่น) เป็นแหล่งอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคแปรรูปอาหารและแช่แข็ง และ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (ลงทุนกับไทย) เป็นที่ลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมหนัก เป้าหมายของรัฐบาลเมียนมาต้องการทำให้ พื้นที่รอบอ่าวเมาะตะมะ เป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ
อ่าวเมาะตะมะ ก็คือปากอ่าวพม่าในทะเลอันดามันที่ แม่น้ำสะโตง และ แม่น้ำย่างกุ้ง ไหลลงสู่ทะเลเหมือนปากอ่าวแม่น้ำเจ้าพระยา เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย อยู่ฝั่งซ้ายใต้ลงมาของ อ่าวเมาะตะมะ อยู่ติดกับ จังหวัดกาญจนบุรี ที่รัฐบาลได้วาง โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Economic Corridor Development (EEC) รอไว้แล้ว ถ้ามีการสร้างถนนมอเตอร์เวย์และทางรถไฟ เชื่อมเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย มายัง ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก เมื่อไหร่ ประเทศไทย จะเป็น มหาอำนาจเศรษฐกิจในคาบสมุทรอินโดจีน ทันที แม้แต่โครงการ One Belt One Road เส้นทางสายไหมใหม่ของจีน ก็ต้องง้อประเทศไทย ไม่ใช่ไทยเป็นลูกไล่อย่างทุกวันนี้
ผมเห็นว่า ถึงเวลาแล้ว ที่ นักธุรกิจไทย จะต้อง ออกไปสร้างอาณาจักรนอกบ้าน อย่างจริงจังเสียที เหมือน เครือซีพี ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ที่มีเครือข่ายทั่วโลก ไม่ต้องกลัวการกีดกันทางการค้าของกลุ่มประเทศใดๆ
เขียนแล้วผมก็นึกถึง ลี กวน ยู ผู้ก่อตั้ง ประเทศสิงคโปร์ เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ลี กวน ยู ก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน ผลักดันให้ บริษัทชาวสิงคโปร์ ออกไป สร้างอาณาจักรนอกบ้าน ในนามของ “Singapore Inc.” จนทำให้ชาติเล็กๆที่ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจการเงินการค้าของโลก ในทุกวันนี้.
“ลม เปลี่ยนทิศ”