"องค์การตำรวจสากล" เทียบเชิญ "ผบก.ตท." เป็นตัวแทนตำรวจไทย ร่วมถกยกร่างมติสหประชาชาติ วันที่ 21-22 พ.ย.นี้ ที่มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2559 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.ต.ต.อภิชาติ สุริบุญญา ผบก.ตท.เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ถูกทาบทามจากองค์การตำรวจสากลให้เป็น 1 ใน 5 จาก 190 ประเทศสมาชิก ให้ร่วมเป็นผู้นำในการยกร่างมติแห่งสหประชาชาติว่าด้วยความร่วมมือ ระหว่างสหประชาชาติกับองค์การตำรวจสากล ซึ่งจะมีการโหวตร่างมตินี้ในการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 71 ณ สหประชาชาติ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 21 ถึง 22 พฤศจิกายน 2559 ที่จะถึงนี้ ซึ่งจากการที่ได้รับการทาบทามจากองค์การตำรวจสากลให้ร่วมเป็นผู้นำในการยกร่างมติสหประชาชาติในครั้งนี้ องค์การตำรวจคัดเลือกประเทศที่เป็นสมาชิกทั้งองค์การสหประชาชาติและองค์การตำรวจสากลที่มีผลงานด้านกิจการตำรวจและการบังคับใช้กฎหมายเป็นที่โดดเด่น ซึ่งที่ผ่านมา สำนักงานตำรวจแห่งชาติไทย นอกจากจะสามารถจับกุมคนร้ายข้ามชาติที่มีหมายจับขององค์การตำรวจสากลได้มากถึง 55 ราย ซึ่งมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียรอบ 3 ปีที่ผ่านมาแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการปฏิบัติด้านการบังคับใช้กฎหมายระหว่างประเทศในหลายชนิดของอาชญากรรมข้ามชาติขององค์การตำรวจอีกเป็นจำนวนมากด้วย ซึ่งผลงานทั้งหลายเหล่านี้นั้น พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้ย้ำให้สำนักงานกลางตำรวจสากลประเทศไทย หรือกองการต่างประเทศ สนับสนุนความร่วมมือด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศ กับประเทศสมาชิกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ทันทีที่ Mr.Jurgen Stock เลขาธิการองค์การตำรวจ ได้เดินทางมาทาบทาม ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงตอบรับการทาบทามในครั้งนี้ทันที
พล.ต.ต.อภิชาติ เปิดเผยอีกว่า เมื่อได้รับหนังสือจากกระทรวงการต่างประเทศให้ส่งผู้แทนเพื่อกล่าวความสำคัญของเครือข่ายตำรวจสากลและความสำเร็จของตำรวจไทยที่ใช้ช่องทางตำรวจสากลจนเกิดความสำเร็จที่ผ่านมาในการประชุมสหประชาชาติครั้งที่ 71 ที่จะถึงนี้ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ตน เดินทางไปทำหน้าที่ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อกล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมครั้งนี้ทันที โดยการกล่าวถ้อยแถลงนี้จะมีขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 ในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ซึ่งนับว่าเป็นผลงานที่เป็นปัจจัยชี้วัดความสำเร็จอย่างหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้านกิจการต่างประเทศ ซึ่งคาดว่า หลังจากที่มติสหประชาชาติฉบับนี้ผ่านการรับรองจากประเทศสมาชิกแล้ว จะส่งผลให้การขับเคลื่อนขององค์การตำรวจสากลและงานตำรวจด้านต่างประเทศมีความสำคัญและขยายตัวมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการรองรับการเกิดขึ้นของประชาคมอาเซียนในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้ายอีกส่วนหนึ่งด้วย
...
สำหรับประเทศที่ถูกทาบทามและได้รับเลือกให้ทำหน้าที่ในการยกร่างมติสหประชาชาติในครั้งนี้นั้น มีหน้าที่ต้องกล่าวนำในการประชุมสหประชาชาติเพื่อให้ประเทศสมาชิกสหประชาชาติจำนวนทั้งสิ้น 193 ประเทศ ให้เข้าใจและเห็นความจำเป็นของการใช้เครือข่ายตำรวจสากลที่สามารถเป็นเครื่องมือให้กับสหประชาชาติในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด.