ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ออกคำสั่งถอนตัวจากสนธิสัญญาก่อตั้งศาลอาญาระหว่างประเทศแล้วเมื่อวันพุธ โดยใช้ว่าไม่มีความเที่ยงธรรม...
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เมื่อวันพุธที่ 16 พ.ย. ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งประเทศรัสเซีย ออกคำสั่งฝ่ายบริหาร (executive order) ภายใต้อำนาจประธานาธิบดี เพื่อดำเนินการถอนชี่อรัสเซีย ออกจาก ธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (Rome Statute of the International Criminal Court) โดยกล่าวหาว่าไม่มีความเที่ยงธรรม
รัสเซียลงนามในธรรมนูญกรุงโรมฯ เมื่อปี 2000 แต่ไม่เคยให้สัตยาบัน หมายความว่ารัสเซียไม่สามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิกภายใต้เขตอำนาจในการตัดสินคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ไอซีซี) โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัสเซียเกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันจันทร์ ไอซีซี ออกมาระบุว่าการควบรวมแคว้นไครเมียของยูเครนโดยรัสเซียเมื่อปี 2014 เป็นการใช้อาวุธช่วงชิง พวกเขายังเริ่มตรวจสอบข้อหาอาชญากรรมสงคราม ที่กระทำโดยกองทัพรัสเซียและจอร์เจีย ระหว่างที่ทั้งสองประเทศทำสงครามกันเป็นระยะเวลาสั้นๆ ในปี 2008 ด้วย
หลังประธานาธิบดีปูตินออกคำสั่งฝ่ายบริหารในวันพุธ กระทรวงต่างประเทศรัสเซียก็ออกแถลงการณ์ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า “น่าเสียดายที่ ศาลอาญาระหว่างประเทศ ไม่มีความเที่ยงธรรมต่อความหวังที่ผูกมัดกับพวกเขา และไม่ได้เป็นองค์กรอิสระเพื่อความยุติธรรมระหว่างประเทศอย่างแท้จริง” “ตลอดระยะเวลาการทำงาน 14 ปี ไอซีซีประกาศคำตัดสินคดีเพียง 4 ครั้ง และใช้จ่ายงบประมาณไปกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ”
ด้านนาย ดีมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซียบอกกับผู้สื่อข่าวว่า การตัดสินใจถอนชื่อรัสเซียออกจากธรรมนูญกรุงโรมฯ มีขึ้นเพื่อประโยชน์ของประเทศ และเป็นการทำให้เป็นทางการเท่านั้น เพราะมันไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรทั้งสิ้นในเรื่องอำนาจการตัดสินคดี
...
ทั้งนี้ ประเทศในทวีปแอฟริกา เช่น แอฟริกาใต้และแกมเบีย อาจตอบรับความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัสเซีย เนื่องจากทั้งสองประเทศเพิ่งประกาศถอนตัวออกจาก ไอซีซี อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างการเยาะเย้ยบรรทัดถานระหว่างประเทศของรัสเซียเท่านั้น
อนึ่ง ประเทศส่วนใหญ่ในแอฟริกาและยุโรปยังคงให้การสนับสนุนศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นศาลถาวรเพื่อตัดสินคดีอาชญากรรมสงครามระหว่างแห่งแรก แต่หลายประเทศอาจต้องเผชิญแรงกดดันทางการทูตที่มากขึ้นจากสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของ โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ผู้จะรับตำแหน่งในปีหน้า เนื่องจากเขามีท่าทีว่าจะลดความสำคัญของนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศลง