“ถ้าไม่มีเทคโนโลยีดาวเทียม เราก็ไม่สามารถก้าวสู่คอลัมน์,คอลัมน์ฉบับพิมพ์,คอลัมน์ไทยรัฐ,หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ,ไทยรัฐ ได้ เพราะการเข้าถึงข้อมูลที่ทันสมัยและแม่นยำ มีดาวเทียมเป็นหัวใจสำคัญ”

ถ้าเป็นอย่างที่ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า (GISTDA) ว่าไว้จริง...วันนี้ “ดาวเทียม” ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวคนไทย

หลายวันก่อน ดร.อานนท์ และทีมประชาสัมพันธ์ของ GISTDA ไปจัดสัมมนากันที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ได้นำเสนอข้อมูลใหม่น่าสนใจเกี่ยวกับความคืบหน้าของดาวเทียมสัญชาติไทย กับภารกิจสำคัญของประเทศไทย คอลัมน์สกู๊ปหน้า 1 เห็นว่ามีสารประโยชน์ ทั้งยังเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยยุค 4.0 จึงขอนำมาขยายต่อ

ดร.อานนท์เกริ่นให้ฟังว่า ทุกวันนี้ถ้าเราอยากทราบว่าทุ่งรับน้ำใน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่สามารถใช้งานได้จริง ตั้งอยู่ ณ บริเวณใดบ้าง? พื้นที่เหล่านั้นเป็นนาข้าวกี่ไร่? และเหลือข้าวที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวอีกกี่ไร่? เพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณาจ่ายค่าชดเชย เยียวยาความเสียหาย หรือวางแผนการผันน้ำเข้าทุ่งของรัฐบาล ณ วันนี้ คำถามข้างต้นกว่าจะได้รับคำตอบต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 3 วัน

แต่ ดร.อานนท์บอกว่า อีก 5 ปีข้างหน้า หลังจากที่ไทยมีการขับเคลื่อน “โครงการดาวเทียม ธีออส 2” คำถามข้างต้นสามารถรับรู้ได้ในทันที...แถมยังคาดการณ์ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ

ดาวเทียมเป็นสิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาให้สามารถโคจรรอบโลกได้ ในลักษณะเดียวกับที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เพื่อใช้ประโยชน์ทางการทหาร การสื่อสาร การรายงานสภาพอากาศ การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ และการสังเกตการณ์สภาพอวกาศ ฯลฯ

ผอ.จิสด้าปูพื้นให้ฟังว่า ดาวเทียมดวงแรกของโลก ชื่อ “Sputnik” ประเทศรัสเซียได้ส่งขึ้นสู่วงโคจร เมื่อ ค.ศ.1957 เพื่อใช้ตรวจสอบการแผ่รังสีของชั้นบรรยากาศไอโอโนสเฟียร์

...

ปีต่อมา หรือ ค.ศ. 1958 สหรัฐอเมริกาได้ส่งดาวเทียม “Explorer” ขึ้นไปโคจรบ้าง ทำให้รัสเซียและสหรัฐฯ กลายเป็นประเทศผู้นำด้านการสำรวจอวกาศ

สำหรับเมืองไทย ดาวเทียมสื่อสาร ดวงแรกของไทยมีชื่อว่า “ไทย-คม” ซึ่งเป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน โดยย่อมาจากคำว่า Thai Communications “ไทยคม” ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อ พ.ศ.2536

ส่วน ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดวงแรกของไทยมีชื่อว่า “ไทย-โชต” (Thaichote)

ดร.อานนท์บอกว่า เมื่อก่อนเราต้องรับสัญญาณดาวเทียมจากต่างประเทศ ทั้งยังไม่สามารถควบคุมภาพให้ได้ตรงตามที่ต้องการ เช่น ภาพที่ได้มีความล่าช้า ไม่ทันต่อเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความมั่นคง ถ้าใช้เครื่องบินขึ้นบินถ่ายภาพ เราจะถ่ายได้เฉพาะในเขตของประเทศไทย ไม่สามารถข้ามไปถ่ายในประเทศอื่นได้

แต่ดาวเทียมสามารถทำภารกิจเหล่านี้ได้ เพราะมันโคจรอยู่ที่เหนือระดับพื้นดิน 100 กิโลเมตร ซึ่งถือว่าอยู่ในห้วงอวกาศ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เราจึงมีสิทธิ์จะถ่ายภาพอะไรก็ได้

ด้วยความจำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลส่วนนี้ จึงได้มีการเสนอโครงการระบบสำรวจโลกด้วยดาวเทียม (Thailand Earth Observation System : THEOS) ภายใต้ความร่วมมือกับรัฐบาลฝรั่งเศส พัฒนาดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกขึ้นมา

ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อดาวเทียมสำรวจทรัพยากร THEOS ดวงนี้ว่า “ดาวเทียมไทยโชต” (Thaichote) ซึ่งแปลว่า ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง
ดร.อานนท์บอกว่า “ไทยโชต” หรือธีออส (THEOS) เป็นดาวเทียมที่มีความละเอียดของจุดภาพดีที่สุด ณ เวลานั้น ได้ถูกนำขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2551 โดยจรวดนำส่ง “เนปเปอร์” (Dnepr) จากฐานส่งจรวดเมืองยาสนี (Yasny) ประเทศรัสเซีย

“ไทยโชต” ถูกออกแบบให้เป็นดาวเทียมขนาดเล็ก มีอายุการใช้งานอย่างน้อย 5 ปี ทำงานโดยอาศัยแหล่งพลังงานจากดวงอาทิตย์ สามารถบันทึกภาพได้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วโลก ติดตั้งอุปกรณ์ถ่ายภาพแบบออปติคอล ทำให้สามารถบันทึกข้อมูลภาพ ในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็น จนถึงช่วงคลื่นอินฟราเรดระยะใกล้ได้

อย่างไรก็ตาม หลังจากมีการส่งดาวเทียม “ไทยโชต” ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อ พ.ศ.2551 อีก 3 ปีถัดมา หรือ พ.ศ.2554 แผนการสร้างดาวเทียมดวงที่ 2 หรือ ธีออส 2 (THEOS 2) ได้ถูกร่างขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมรองรับการหมดสภาพใช้งานของ “ธีออส 1” หรือ “ไทยโชต” เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์

ดร.อานนท์บอกว่า GISTDA เป็นหน่วยงานหลักของรัฐ มีหน้าที่ควบคุมและรับสัญญาณจาก “ดาวเทียมไทยโชต” รวมถึงดาวเทียมถ่ายภาพจากประเทศต่างๆกว่า 10 ดวง ซึ่งดาวเทียมเหล่านี้นอกจากจะใช้ประโยชน์ในด้านการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ประเมินภัยพิบัติต่างๆ ยังใช้ติดตามการลักลอบขนยาเสพติด การลักลอบตัดไม้ รวมทั้งเฝ้าระวังการล่วงล้ำอธิปไตยของประเทศด้วย

“ทุกวันนี้ดาวเทียมไม่ใช่ของหายาก และข้อมูลที่ได้จากดาวเทียม ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ฉะนั้น การพัฒนาดาวเทียมธีออส 2 ประเด็นสำคัญจึงอยู่ที่ว่า เราจะนำข้อมูลที่ได้จากดาวเทียมไปสร้างคุณค่าเพิ่มให้เกิดกับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้อย่างไรมากกว่า”

ดร.อานนท์บอกว่า ด้วยเหตุนี้ “ธีออส 2” จึงต้องตอบโจทย์การใช้ประโยชน์ของประเทศไทยอย่างน้อยถึง 6 ด้าน เช่น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร การจัดการน้ำแบบองค์รวม จัดการภัยพิบัติ ภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งความมั่นคงด้านสังคม และเศรษฐกิจด้วย

เขาบอกว่า ระบบข้อมูลที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้ขนาดนี้ จำเป็นต้องใช้ดาวเทียมอื่นร่วมด้วยไม่ต่ำกว่า 30 ดวง ดังนั้น โครงการธีออส 2 จึงเป็นเรื่องของ “ระบบดาวเทียมสำรวจโลกเพื่อ
การพัฒนา”

...

“หนึ่งในเงื่อนไขการจ้างให้สร้างดาวเทียมธีออส 2 จะต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เราสามารถนำไปใช้ต่อยอด จำหน่าย จ่ายแจก ดัดแปลง แก้ไขได้ โดยไม่มีเงื่อนไข บริษัทใดที่ยอมรับเงื่อนไขนี้ได้ ค่อยมาเจรจากัน เพราะวันนี้เราจะไม่เป็นเพียงแค่ผู้ซื้อดาวเทียมอีกต่อไป แต่จะเข้าไปอยู่ในฐานะหุ้นส่วน ผู้ร่วมสร้าง และร่วมพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศด้วย”

หลังจากทางจิสด้า (GISTDA) ได้แจ้งทั้งแนวคิดและเงื่อนไขดังกล่าวไปยังประเทศต่างๆที่สร้างดาวเทียม ล่าสุดมี 8 ประเทศให้ความสนใจพร้อมจะเข้าร่วมประมูล ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะมีการนำเสนอไปยังคณะรัฐมนตรีให้อนุมัติโครงการและงบประมาณ จากนั้นค่อยเรียกทั้ง 8 รายมาเจรจา เพื่อคัดเลือกเหลือเพียงรายเดียว

“ต่อไปนี้เราจะไม่ใช่แค่จ่ายตังค์ แล้วรอใช้ภาพถ่ายดาวเทียมจากผู้อื่น แต่จะเข้าไปอยู่ในฐานะพาร์ตเนอร์ ผู้ร่วมสร้าง และร่วมพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศด้วย” ผอ.จิสด้า ทิ้งท้าย.