นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ แนะ 8 ข้อ รัฐบาล-สังคมไทยซื้อข้าวชาวนา ขอแม่น้ำ 5 สาย ทำเป็นตัวอย่าง พ่วงต่อยอดประกวดข้าวอร่อย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อข้าวไทย

วันที่ 3 พ.ย. นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระแสสังคมช่วยซื้อข้าวสารที่ชาวนาผลิตแรงเกินคาด ตนจึงฝากข้อสังเกตถึงรัฐบาลและสังคมไทย คือ 1. ควรเลือกซื้อที่สหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชนที่สีข้าวสาร เพราะกลุ่มเหล่านี้จะซื้อข้าวเปลือกในราคาที่เป็นธรรมจากชาวนา เป็นการดูดซับปริมาณข้าวเปลือกในตลาดให้ลดลง ที่สำคัญเมื่อสหกรณ์ หรือกลุ่มมีกำไร ก็จะมีเงินปันผลกลับคืนสู่ชาวนาตามมาอีก ส่วนชาวนารายใดที่มีความเข้มแข็ง ทำของตนเองก็ได้ 2. โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ยังทำบรรจุภัณฑ์และการตลาดไม่เก่ง เจ้าหน้าที่รัฐควรต้องไปดูแลช่วยเหลือ 3. การทำตลาดช่วงแรก รัฐบาลอย่าปล่อยให้ทางกลุ่มต่างฝ่ายต่างทำ ต้องมีหน่วยงานกลางเป็นศูนย์กลาง และลงทะเบียนสหกรณ์และกลุ่มฯ เพื่อรู้กำลังผลิตภายในจังหวัด เช่น บริษัทประชารัฐ หรือหน่วยงานอื่นเป็นผู้ประสานงาน และจัดจำหน่ายช่วยกลุ่มที่ยังไม่เข้มแข็ง

นพ.วรงค์ กล่าวต่อว่า 4. การซื้อข้าวมาบริโภค ควรเริ่มซื้อในจังหวัดตัวเอง เช่น ค่ายทหาร โรงเรียน โรงพยาบาล ห้างร้านที่อยู่จังหวัดใดก็ซื้อผลผลิตข้าวจังหวัดนั้นโดยตรงจากกลุ่มฯ หรือผ่านบริษัทประชารัฐ ส่วนจังหวัดที่ไม่มีการทำนาหรือสีข้าว ก็เลือกซื้อจากสหกรณ์ กลุ่มฯ หรือประชารัฐจังหวัดอื่นๆ ที่ใกล้เคียง 5. หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องกำกับตรวจสอบคุณภาพ และการแปลกปลอม อ้างเป็นชาวนาที่ไปซื้อข้าวสารจากโรงสีมาบรรจุถุงขายในนามชาวนา ขอให้หน่วยงานรัฐท่ีรับผิดชอบเข้มงวดในเรื่องนี้ 6. ที่สำคัญกระทรวงมหาดไทย ต้องมีนโยบายชัดเจนผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำต่างๆ สนับสนุนให้ประชาชนในแต่ละหมู่บ้าน ซื้อข้าวสารที่ผลิตในหมู่บ้าน ชุมชน แทนจากห้างร้าน

...

7. นอกจากรัฐบาลจะมีนโยบายให้ส่วนราชการอุดหนุนแล้ว ควรทำเป็นตัวอย่าง เช่น ข้าวที่เลี้ยงในการประชุม ครม. สนช. และ สปท. ควรซื้อตรงจากกลุ่มชาวนา โดยขึ้นป้ายให้ทราบด้วยว่า แต่ละมื้อรับประทานข้าวจากสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจใด อำเภอใด จังหวัดใด และหมุนเวียนกันไป เพราะสังคมไทยยังตามกระแสผู้นำ และ 8. ถ้าทุกอย่างเข้าระบบ เสนอให้รัฐบาลจัดการประกวดข้าวที่อร่อยในแต่ละพื้นที่ และค่อยประกวดระดับภาค ระดับประเทศ คล้ายตอนประชุมเวิลด์ไรซ์คอนเฟอเรนซ์ (World Rice Conference) เพื่อการพัฒนาต่อยอดของชาวนา และสร้างมูลค่าเพิ่มต่อข้าวไทย เชื่อว่า ปรากฏการณ์นี้ ถ้าทำจริงจังต่อเนื่อง สังคมไทยจะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ จากภูมิปัญญาพื้นบ้านเกิดขึ้นตามมา ขอให้รัฐบาลเอาจริงแบบยั่งยืนกับแนวทางนี้ เท่านั้น.