นายกฯ ชาวนาข้าวไทย จี้รัฐเร่งประกาศราคากลางข้าวเจ้านาปี 1.1 หมื่นบาทต่อตัน เชื่อหลัง 10 พ.ย. ผลผลิตออกมากกว่าข้าวหอมมะลิ แนะเร่งหามาตรการรองรับด่วน
เมื่อวันที่ 2 พ.ย.59 นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาข้าวไทย กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลเร่งแทรกแซงราคาข้าวหอมมะลิ โดยใช้มาตรการจำนำยุ้งฉาง ตันละ 1.3 หมื่นบาทว่า เป็นสิ่งที่ดีที่รัฐบาลไม่นิ่งดูดายความเดือดร้อนของชาวนา แต่จริงๆ แล้วควรทำก่อนหน้านี้ เพราะชาวนาบางรายที่ขายข้าวไปแล้ว ถือว่าเสียโอกาสโดนกดราคา ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ที่คุมโรงสีและผู้ส่งออก ไม่เคยเรียกชาวนาไปร่วมประชุมด้วยทั้งๆ ที่มีการประเมินล่วงหน้าแล้วว่าฤดูกาลนี้ข้าวจะออกมามาก รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการคาดการณ์ราคาไว้แล้วด้วย แต่กลับปล่อยให้ราคาข้าวหอมมะลิตกต่ำอย่างหนัก ซึ่งเรื่องมาตรการพยุงราคาที่มีความล่าช้าน่าจะมาจาก หน่วยงานรัฐอาจไม่ประสานกันและปลัดกระทรวงพาณิชย์ เพิ่งกลับจากต่างประเทศไม่ค่อยรู้เรื่อง อีกทั้งปลัดกระทรวงเกษตรฯ ยังมาพูดเรื่องข้าวเวียดนาม ข้าวอินเดีย มีปริมาณออกมามากทำราคาตลาดโลกต่ำ นี่เป็นการพูดส่งเดชแบบคนไม่เคยรู้เรื่องข้าว เพราะข้าวหอมมะลิไทยและข้าวเจ้า มีคุณภาพดีกว่ามาก เมล็ดมีความสมบูรณ์แบบมีตลาดรองรับ ประเทศอื่นไม่มีข้าวหอมมะลิ
"ปลัดเกษตรฯ มาจากกรมป่าไม้ พูดส่งเดช เอาใจผู้ใหญ่ อธิบดีกรมต่างๆ ก็ไม่เคยพูดอะไร ไม่เคยตัดสินใจศึกษาปัญหาข้าวให้ชัดเจนขึ้นมา เปลี่ยนอธิบดีใหม่มาพูดก็เรื่องเดิมๆ มาเรียกประชุมในโรงแรมนั่งกินข้าว ดื่มกาแฟสุขสบาย พอเลิกประชุมก็บ้านใครบ้านมัน ขอให้ไปประชุมกับชาวนา ค้างคืนกัน ลงทำนากันที่กลางแปลงนาตรงนั้น จะได้ประเมินผลกันชัดๆ ไม่ใช่เอาแต่ให้ข้าราชการไปตั้งกลุ่มเสนอเป็นผลงาน สมาร์ทฟาร์มเมอร์บ้าง ลดต้นทุนการผลิตบ้าง แต่ถามว่าเคยไปลงพื้นที่จริงหรือไม่ ก็ไม่มี แล้วกลายเป็นไฟไหม้ฟางทุกครั้ง" นายประสิทธิ์ กล่าว
นายประสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตนเป็นกรรมการเกษตรคณะต่างๆ มา 20 ปี กลไกป้องกันราคาล่วงหน้ารู้กันหมด เพราะฉะนั้นอย่าถามว่าทำไมกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ ไม่รู้เรื่อง ข้าราชการทุกคนทำเรื่องคาดการณ์ปริมาณข้าวหรือสินค้าอื่นๆ ทุกปีก็เกิดปัญหาแบบนี้ เป็นวัฏจักร ก็ต้องมีการประสานกันล่วงหน้าระหว่างสองกระทรวงก่อนฤดูกาลเก็บเกี่ยว และออกประกาศราคากลางให้ชัดเจนก่อน เพื่อป้องกันพ่อค้ากดราคาในช่วงของล้นตลาด หรือไปเอามาตรการเดิมมาใช้ก่อน หลังจากนั้นให้เรียกตัวแทนชาวนา โรงสี ผู้ส่งออก มาคุยให้ชัดเจน แต่ปีนี้ไม่เคยเรียกตัวแทนชาวนา มาร่วมประชุม
นายประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ช่วงวันที่ 10 พ.ย.ไปแล้ว ข้าวเจ้า ข้าวขาว จะออกมาอีกมากกว่าข้าวหอมมะลิ หลายเท่าตัว แต่ยังไม่เห็นหน่วยงานใดเรียกประชุมหาทางรับมือ ซึ่งอาจมีการรวมตัวชาวนา สมาคมข้าวไทย ตัวแทนทุกภาคมาประชุมกันเพื่อยื่นหนังสือต่อ รมว.เกษตรฯ และรมว.พาณิชย์ เพื่อให้เรียกตัวแทนชาวนา เข้าร่วมประชุมด้วย เพราะชาวนาคือคนเดือดร้อน ไม่ใช่พ่อค้า ผู้ส่งออก
"ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. ข้าวใหม่นาปี จะออกมามากทั่วประเทศ และคนที่ไม่มียุ้งฉางจะทำอย่างไร ชาวนาเดือดร้อน ต้องรวมตัวเข้ามา เสนอให้ประกาศราคากลาง กำหนดความชื้น 15% ข้าวแห้ง ได้ราคา 1.1 หมื่นบาท ยังอยู่ได้ เพราะถูกตัดความชื้นอีก ได้รับ 8-9 พันบาทต่อตันก็ยังดี" นายประสิทธิ์ กล่าว
...
นายประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ทางรอดของชาวนาไทย จริงๆ รัฐบาลต้องประกาศให้ราคาข้าวสูงขึ้นมา เพื่อให้ชาวนาพัฒนาพันธุ์ ผลผลิตตัวเอง ตั้งกลุ่มแปรรูปจากผู้ผลิตสู่ผู้บริโภค ส่งจำหน่ายตามชุมชน ไม่ใช่จะเอาข้าวจากพ่อค้าซีพี ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ หนุนมาก โดยเฉพาะให้ชาวนาเลิกทำนาไปปลูกข้าวโพด ส่งให้ซีพีช่วยกันเหลือเกิน ออกนโยบายให้กู้ทั้งนั้น ถามว่าถ้าทำไม่ได้ จะเอาเงินที่ไหนไปใช้คืน หนี้เก่าก็มี เพราะการเกษตรทำไปแล้ว ยังไม่รู้เลยจะได้ราคาเท่าไหร่ ไม่ใช่โรงงานผลิตรถยนต์ตั้งราคาล่วงหน้าได้ ซึ่งหน่วยงานดูแลเรื่องข้าว ก็ต่างคนต่างดู คนขายคือกระทรวงพาณิชย์ คนคุมผลผลิตคือกระทรวงเกษตรฯ ชาวนาทำต้นทุนแค่ไหนไม่สนใจจะขายแค่นี้ พวกเราเป็นหนูทดลองยาทุกรัฐบาล.