ยอมจับมือ–นางฮิลลารี คลินตัน และนายโดนัลด์ ทรัมป์ คู่ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จับมือกันขณะไปร่วมงานกาลาดินเนอร์ ประจำปี ครั้งที่ 71 ของมูลนิธิอัลเฟรด อี.สมิธ เมมโมเรียล ที่นิวยอร์ก หลังจากการดีเบตรอบ 3 ซึ่งทั้งคู่ไม่ยอมจับมือกัน (เอพี)
อีกแค่ 15 วัน ก็จะถึงวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (8 พ.ย.) ได้รู้กันเสียทีว่า นางฮิลลารี คลินตัน แห่งพรรคเดโมแครต จะได้เป็นผู้นำหญิงคนแรก หรือจะเป็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีจอมบ้าระห่ำผู้อื้อฉาวแห่งพรรครีพับลิกัน
การ “ดีเบต” โต้วาทีประชันวิสัยทัศน์รอบที่ 3 รอบสุดท้าย ระหว่างคลินตันกับทรัมป์จบลงเมื่อ 19 ต.ค. ซึ่งเท่าที่ผ่านมา โพลส่วนใหญ่ชี้ว่าคลินตันมีคะแนนนิยมนำมาตลอด บางช่วงห่างถึง 10% แม้บางช่วงมีสูสี และหลังการดีเบตรอบ 3 คลินตันยังทิ้งห่างทรัมป์ 47% ต่อ 43%
ในโค้งหลังๆ ดูเหมือนทรัมป์รู้ตัวว่าโอกาสแพ้สูงมาก ยิ่งหลังมีการเผยแพร่คลิปเก่าที่เขาพูดจาดูหมิ่นผู้หญิงและคุยโม้เรื่องการลวนลามผู้หญิงเพราะตนเป็นคนดัง จากนั้นก็มีผู้หญิงที่อ้างว่าเคยถูกทรัมป์ล่วงละเมิดทางเพศดาหน้าออกมาแฉอีกนับ 10 คน ภาพลักษณ์และคะแนนนิยมยิ่งตกต่ำ รวมทั้งใน “แบทเทิลกราวด์ สเตทส์” หรือรัฐที่ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคใดและมีการแข่งขันสูง 13 รัฐ ซึ่งจะเป็นตัว “ชี้ขาด” ผลการเลือกตั้ง
จริงๆแล้วทรัมป์ออกอาการ “รำไม่ดีโทษปี่โทษกลอง” หรือ “ขี้แพ้ ชวนตี” มาพักใหญ่แล้ว โดยกล่าวหาว่าจะมีการทุจริตหรือโกงการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางเพื่อให้คลินตันชนะ อีกทั้งฟาดงวงฟาดงาใส่ “แบทเทิลกราวด์ สเตทส์” ด้วยว่าลำเอียงมีอคติ ทำให้ตนเสียหาย ถึงขั้นแกนนำพรรครีพับลิกันเองจำนวนมากเลิกสนับสนุน
...
ในเวทีดีเบตรอบ 3 แม้จะปะทะกันเผ็ดร้อนหลายประเด็น แต่ “ไฮไลต์” ก็คือกรณีที่ทรัมป์ยืนยันว่าจะมีการโกงเลือกตั้งแน่ และไม่ยอมรับปากว่าจะยอมรับผลการเลือกตั้งหรือไม่ถ้าตนแพ้ ทั้งยังฉะสื่อฯ ไม่เลิก
จึงน่าติดตามอย่างยิ่งว่าถ้าทรัมป์แพ้และไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งจริงๆ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย 240 ปีของสหรัฐฯ จะเกิดอะไรขึ้น?
ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า ข้อกล่าวหาว่าจะมีการโกงการเลือกตั้งของทรัมป์ “ไร้สาระ” เพราะระบบเลือกตั้งของสหรัฐฯ มีการกระจายอำนาจสูงมาก แต่ละรัฐมีกฎเกณฑ์ของตัวเอง มีเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นดูแลตรวจสอบรัดกุม ทุกรัฐมีสื่อฯ และผู้สังเกตการณ์จับตาการทำงานของเจ้าหน้าที่ตามคูหาเลือกตั้งใกล้ชิด
ส่วน “เอกสารรับรองผู้มีสิทธิ์ออกเสียง” และ “เครื่องลงคะแนน” ก็มีความแตกต่างหลาก หลายมาก ดังนั้น การจะประสานงานโกงการเลือกตั้งอย่างกว้างขวางเป็นระบบจึงแทบเป็นไปไม่ได้
การวิจัยยังพบว่า การโกงคะแนนเสียงผู้เลือกตั้ง (Voter Fraud) แม้จะเคยมีบ้างแต่จิ๊บจ๊อยมาก เช่นในปี 2557 ผลการวิจัยของ ศ.จัสติน เลวิตต์ แห่งมหาวิทยาลัยกฎหมายโลโยลาระบุว่า ในบัตรลงคะแนน 1,000 ล้านใบในการเลือกตั้งทั้งหมดของสหรัฐฯ ช่วงปี 2543-2557 พบว่ามีผู้ปลอมตัวสวมสิทธิ์คนอื่นไปลงคะแนนแค่ 31 ราย!
และผลการวิจัยขององค์กร “นิวส์ 21” ในปี 2555 กรณีที่มีข้อร้องเรียนว่ามีการโกงการเลือกตั้ง 2,068 กรณีตั้งแต่ปี 2543 ก็พบว่ามีแค่ 10 กรณีที่มีการปลอมตัวสวมสิทธิ์เลือกตั้ง ส่วนที่มีข้อกล่าวหาว่ามีการสวมสิทธิ์ “คนตาย” รวมทั้งที่นครชิคาโก 720 รายในปี 2525 ก็พบว่าเป็นจริงไม่กี่ราย
และกรณีที่มีข้อกล่าวหาว่าพรรคเดโมแครตร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐโกงผลการเลือกตั้งที่รัฐอิลลินอยส์และเท็กซัสในปี 2503 ส่งผลให้จอห์น เอฟ. เคนเนดี ชนะริชาร์ด นิกสัน ในปี 2503 นั้น ก็มีการนับคะแนนใหม่ที่อิลลินอยส์ และไม่พบว่ากระทบต่อผลเลือกตั้งแต่อย่างใด
หลังการดีเบตรอบ 3 ทรัมป์ยังย้ำว่า จะยอมรับ ผลเลือกตั้งถ้าตนชนะและผลการเลือกตั้งใสสะอาด แต่ถ้าแพ้แบบน่ากังขาจะไม่ยอมรับ และอาจยื่นฟ้องศาล ดังกรณีรองประธานาธิบดีอัล กอร์ แห่งพรรคเดโมแครต ยื่นฟ้องคัดค้านผลการเลือกตั้งที่มีปัญหาในรัฐฟลอริดาในปี 2543 ซึ่งส่งผลให้จอร์จ ดับเบิ้ลยู.บุช ผู้ว่าการรัฐฟลอริดาชนะ
แต่ที่น่ากลัวก็คือ ถ้าทรัมป์แพ้ เขาอาจปลุกระดมผู้สนับสนุนให้ลุกฮือประท้วง และอาจมีผู้สนับสนุนที่โกรธแค้นก่อความรุนแรงด้วยตัวเอง ที่เรียกว่าพวก “หมาป่าโดดเดี่ยว” (Lone Wolf)
เรื่องนี้ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ เพราะในช่วงหาเสียง ทรัมป์เคยยุเป็นนัยให้ผู้สนับสนุน “หยุด” คลินตันถึง 2 ครั้ง ซึ่งฝ่ายเดโมแครตชี้ว่าหมายถึง “การลอบสังหาร” รวมทั้งเมื่อเดือน ส.ค.ซึ่งทรัมป์กล่าวว่า ถ้าคลินตันชนะ จะแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาที่สนับสนุนมาตรการควบคุมอาวุธปืนเข้มงวดขึ้น ซึ่งใครคงทำอะไรไม่ได้ แต่กลุ่มเชิดชูสิทธิในการครอบครองอาวุธปืน หรือพวก “Second Amendment” อาจทำอะไรบางอย่างกับเธอก็ได้!
ทรัมป์ยังเชิญนายเดวิด คลาร์ก นายอำเภอหัวรุนแรงแห่งเมืองมิลวอกีไปช่วยหาเสียงที่รัฐวิสคอนซินซึ่งคลาร์กปลุกเร้าให้ผู้สนับสนุนลุกฮือก่อความรุนแรงถ้าทรัมป์แพ้ โดยชี้ว่า “ถึงเวลาคราดไถและเผาอเมริกา” ขณะที่ผู้ไปช่วยหาเสียงอีกคนประกาศว่าถึงเวลา “ปฏิวัติ” แล้ว
...
อย่างไรก็ตาม ถ้าคลินตันชนะขาดลอย และพวกแกนนำพรรครีพับลิกันที่ประกาศสนับสนุนทรัมป์ รวมทั้งนายไมค์ เพนซ์ ผู้สมัครชิงเก้าอี้รองประธานาธิบดีคู่กับทรัมป์ ประกาศยอมรับว่า
การเลือกตั้งโปร่งใสบริสุทธิ์ยุติธรรมแล้ว ทรัมป์อาจจำใจถอย ปัญหาอาจไม่เกิด
แต่ถ้าเป็นไปในทางตรงข้าม เราอาจได้เห็นความวุ่นวายในประเทศต้นแบบประชาธิปไตยที่เก่าแก่ยาวนานถึง 240 ปี...ขายขี้หน้ากันไปทั้งโลกา!
บวร โทศรีแก้ว