สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง แถลงข่าวจับกุมสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ และสินค้าต้องห้ามจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท…

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 10 ตุลาคม 2559 นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี แถลงข่าวจับกุมสินค้าหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรขาเข้า มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท บริเวณศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ตามที่กรมศุลกากรมุ่งเน้นนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปรามสินค้าลักลอบ หลีกเลี่ยงอากร ข้อห้าม ข้อกำกัด เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคม และสิ่งแวดล้อม นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร จึงได้สั่งการให้ นายชัยยุทธ คำคุณ รองอธิบดีกรมศุลกากร เข้มงวดเป็นพิเศษในการสกัดกั้น ป้องกัน และปราบปราม โดยมอบหมายให้ นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง วางแผนร่วมกับ นายวิศณุ วัชราวนิช ผู้อำนวยการส่วนควบคุมทางศุลกากร และนายไตรทิพย์ เหล็นเรือง หัวหน้าฝ่ายสืบสวนและปราบปราม

...


โดยนายกิตติ กล่าวว่า ในเดือนกันยายน 2559 นั้น สามารถดำเนินการจับกุมได้ 24 ราย มูลค่าอากรที่ขาดรวมค่าปรับเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 13 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 100 ล้านบาท ซึ่งสินค้ามีทั้ง สินค้าที่เลียน/ปลอมเครื่องหมายการค้า (ละเมิดลิขสิทธิ์) ประเภทเสื้อผ้า กระเป๋า น้ำหอม เครื่องสำอาง และ หัวเทียน

นอกจากนั้น ยังมีสินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการอาหารและยา ก่อนการนำเข้า เช่น ครีมทาผิว ยาทาเล็บ ลิปสติก มาสคาร่า และสินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ต้องได้รับอนุญาตจาก เจ้าพนักงานสรรพสามิตก่อนการนำเข้า เช่น แอลกอฮอล์ผสมสะระแหน่

นายกิตติ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น ยังมีสินค้าต้องห้ามนำเข้าตามพระราชบัญญัติปรามการทำให้แพร่หลายและการค้าวัตถุอันลามก พ.ศ. 2471 สินค้าต้องห้ามนำเข้า ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557, สินค้าต้องควบคุมตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ต้องได้รับอนุญาตจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อนการนำเข้า เช่น ยาจุดกันยุง, ของควบคุมการนำเข้า ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติ ไพ่ พ.ศ. 2486, สินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติ เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551 เช่น เครื่องนับก้าว PEDOMETER, สินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติ กักพืช พ.ศ. 2507 เช่น สินค้าส้ม จากประเทศเปรู เป็นสิ่งต้องห้ามที่ยังไม่ผ่านการวิเคราะห์ความเสี่ยงศัตรูพืช, สินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติ อาหาร พ.ศ. 2522 เช่น อาหารเสริมแคปซูล

ทั้งนี้ ยังสามารถจับกุมรถยนต์นั่งเก่าใช้แล้ว เป็นสินค้าควบคุมที่ต้องได้รับอนุญาตให้นำเข้าจากกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยการนำเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 85) พ.ศ. 2534 ประกอบด้วย รถยนต์ยี่ห้อ VOLKSWAGEN รุ่น New Beetle จำนวน 4 คัน ยี่ห้อ TOYOTA จำนวน 1 คัน ยี่ห้อ NISSAN รุ่น Mitsuoka Viewt จำนวน 2 คัน รวมทั้งสิ้น 7 คัน

นายกิตติ กล่าวอีกว่า จากผลการจับกุม ของสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ในรอบปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 มีการจับกุมทั้งสิ้น 176 ราย มูลค่าอากรที่ขาดรวมค่าปรับเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 167 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานในรอบปีงบประมาณ 2559 สามารถจัดเก็บรายได้รวม 160,988.066 ล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 31.36 ของการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากร โดยเป็นรายได้ศุลกากร จำนวน 34,939.870 ล้านบาท (คิดเป็น ร้อยละ 21.70 ของการจัดเก็บรายได้) อากรขาเข้า จำนวน 34,790.638 ล้านบาท, อากรขาออก จำนวน 6.752 ล้านบาท ค่าธรรมเนียม จำนวน 142.480 ล้านบาท

โดยการจับกุม สินค้าขาเข้า มีการจับกุม จำนวน 168 ราย จัดเก็บอากรรวมค่าปรับคิดเป็น 162.787 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีงบประมาณ 2558 จำนวน 32 ราย คิดเป็นค่าอากรรวมค่าปรับเพิ่มขึ้น 98.311 ล้านบาท ความผิดโดยส่วนใหญ่เป็นความผิดในฐานหลีกเลี่ยงนำเข้าสินค้าต้องห้าม ต้องจำกัด รองลงมาคือ ความผิดฐานสำแดงพิกัดอัตราศุลกากรไม่ถูกต้อง เป็นเหตุให้ค่าภาษีอากรที่ต้องชำระขาด ส่วนสินค้าขาออก มีการจับกุม จำนวน 8 ราย คิดเป็นเงินค่าอากรรวมค่าปรับ จำนวน 3.830 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่าปีงบประมาณ 2558 จำนวน 5 ราย คิดเป็นค่าอากรรวมค่าปรับเพิ่มขึ้น 2.784 ล้านบาท

สำหรับของกลาง ของตกค้าง สามารถจำหน่ายของกลางและของค้างได้ จำนวน 198 คดี มีมูลค่าร่วม 97.124 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2558 จำนวน 109 ราย คิดเป็นมูลค่า 55.955 ล้านบาท นอกจากนั้น ผลจากการใช้เครื่องเอกซเรย์ สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดจำนวน 25 ราย คิดเป็นค่าอากรรวมค่าปรับ 1.867 ล้านบาท