เป็นข่าวฮือฮาในโลกโซเชียลและขยายผลเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อกระแสหลักมากว่า 1 สัปดาห์ เรื่องทริปเดินทางไปปฏิบัติภารกิจต่างประเทศ ร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ที่ฮอนโนลูลู รัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
ที่ใช้บริการเช่าเหมาลำเครื่องบิน โบอิ้ง 747-400 ของบริษัทการบินไทย ระหว่าง 29 ก.ย. ถึง 2 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมีคณะผู้ร่วมเดินทางประมาณ 40 คน ใช้งบ ประมาณในกรอบวงเงิน 20.9 ล้านบาท เป็นเหตุให้โดนกระแสโจมตีเรื่องการใช้งบฯฟุ่มเฟือย ติดหรูหรา โดยหยิบยกเรื่องเมนูอาหารไข่ปลาคาเวียร์ขึ้นมาให้เห็นภาพ
จนกระทั่งเลขาธิการสมาคมพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่เป็นองค์กรตรวจสอบภาคประชาชน ยื่นหนังสือร้องเรียนให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบการใช้งบประมาณ และบุคคลที่ร่วมเดินทางไปกับคณะว่ามีผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจเดินทางไปด้วยหรือไม่ เพราะอาจเข้าข่ายผิดระเบียบราชการ และประมวลจริยธรรม
โดยเบื้องต้น พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ยืนยันคณะเดินทางที่ไป 38 คนและกลับมา 41 คน โดยที่เพิ่มขึ้นมาเป็นส่วนล่วงหน้า ล้วนอยู่ในภารกิจไปปฏิบัติราชการที่ต้องสร้างความเข้าใจกับทางสหรัฐฯ ทั้งเรื่องค้ามนุษย์ มาตรฐานการบินพลเรือน และประชามติที่เป็นผลประโยชน์ของประเทศ ชาติทั้งสิ้น
ขณะที่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาลย้ำว่า การเดินทางไปปฏิบัติราชการต่างประเทศของรองนายกฯ ยึดหลักเกณฑ์ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพัสดุ ส่วนค่าอาหารที่มีข่าวใช้งบฯ 6 แสนบาท เป็นราคากลางสูงสุด แต่จะคิดตามความเป็นจริงที่อาจไม่ได้กินของแพงที่สุด และจะเปิดเผยค่าใช้จ่ายสุทธิต่อไป
และล่าสุด นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. แถลงผลตรวจสอบยืนยันคณะที่ไปกับ พล.อ.ประวิตรเป็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคงและสื่อของทหาร ส่วนราคาเช่าเหมาลำและค่าอาหารเป็นไปตามมาตรฐานสายการบิน ถือว่าปกติไม่มีการทุจริต ส่วนเรื่องความเหมาะสมจะให้คณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาต่อไป
...
การตรวจสอบในมุมกฎหมาย แม้ไม่มีอะไรผิดเพราะใช้จ่ายตามระเบียบราชการ แต่ที่ต้องคำนึงถึงทั้งกรณีนี้และกรณีอื่น ในอนาคต ครม. และบิ๊กข้าราชการ ต้องสังวรเรื่องการใช้งบฯจากภาษีของประชาชน นอกจากต้องอยู่ในกรอบกฎหมายแล้ว ยังต้องเน้นถึงการประหยัดและความคุ้มค่า โดยยึดหลักจริยธรรมอย่างเคร่งครัด.