ฟ้องคดีอาญาทุจริต ประเดิมเปิดทำงาน ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลประทับรับฟ้องและไต่สวนมูลฟ้องต่อไป  

ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง วันที่ 3 ต.ค.59 ซึ่งได้ใช้อาคารศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เป็นที่ทำการชั่วคราวและเปิดทำการวันนี้เป็นวันแรก ได้มีพนักงานอัยการกับราษฎร ต่างยื่นฟ้องประเดิมเป็นคดีแรก ในส่วนของอัยการ ได้มีอัยการจากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามฝ่ายทุจริต 1 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางวิจิตต์ หรือ ปทิตตา ล่ามกิจจา อายุ 48 ปี ตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการ 3 กระทรวงการต่างประเทศ ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เป็นจำเลย ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดซื้อจัดการรักษาทรัพย์ได้เบียดบังทรัพย์สินเป็นของตนเองโดยทุจริต (เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์)

ศาลประทับรับฟ้องไว้ประเดิมเป็นคดีดำที่ 1/2559โจทก์ฟ้อง ว่า จำเลยเป็นข้าราชการของรัฐ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลังและงานบริหารงานทั่วไป หลายประเทศ เช่น สถานเอกอัครราชทูตไทย สาขา กรุงบอนน์ เยอรมัน โดยต้องจัดเก็บรายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน เข้าบัญชีธนาคารต่างๆ และลงบันทึกจัดเก็บจึงเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายอาญาและกฎหมาย ป.ป.ช. โดยเมื่อวันที่ 1 - 31 ม.ค.40 จำเลยได้เบียดบังค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ทางสถานเอกอัครราชทูตไทย กรุงธาการวม 6 ครั้ง เป็นจำนวนเงิน 944,750 กาตาร์ คืนแล้ว 621,300 กาตาร์ คงค้างอีก 323,450 กาตาร์ คิดเป็นเงินไทย 245,822 บาท และได้ยักยอกเงินเมื่อครั้งจำเลยปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย สาขากรุงบอนน์ รวม 53 ครั้ง คิดเป็นเงินไทย 484,805 บาท เป็นของตัวเองโดยทุจริต

ต่อมาวันที่ 29 ม.ค.44 นายชูชัย เกษมศานติ์ สังกัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  ได้ไต่สวนแล้วจำเลยให้การปฏิเสธ คดีนี้อัยการสูงสุดมอบหมายให้สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริตรับผิดชอบ และเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานไทยกระทำผิดนอกราชอาณาจักร ต้องรับโทษในราชอาณาจักร ขอให้ลงโทษตามกฎหมาย ศาลได้ประทับฟ้องแล้วนัดไต่สวนคดีต่อไป ส่วนจำเลยได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวไปในที่สุด

...

ในส่วนของราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดี อาญาคดีทุจริตฯ เป็นคดีแรกเช่นกัน โดยได้มี นางวีระมล มหาตมวดี อายุ 54 ปี อดีตข้าราชการระดับ 9 ขององค์การเภสัชฯ เป็นโจทก์ฟ้อง นางสาวพิศมร กลิ่นสุวรรณ รองผู้อำนวยการ และเป็นกรรมการสรรหาผู้บริหารระดับสูงขององค์การเภสัช รวม 8 คน ซึ่งจำเลยที่ 2-7 เป็นกรรมการองค์การเภสัช ฯ และจำเลยที่ 8 คือ นายแพทย์สุวัช เซียศิริวัฒนา เป็นอดีตผู้อำนวยการองค์การเภสัช เป็นจำเลยฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติละเลยละเว้นการทำงานโดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ศาลรับคดีไว้ไต่สวนเป็นคดีที่ อท. 2/2559 โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ได้สมัครเข้ารับการสรรหาในตำแหน่งนักบริหาร 10 หรือ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ และได้ผ่านการคัดเลือกกับทดลองงานมาแล้วจนครบกำหนดและครบคุณสมบัติ พวกจำเลยมีหน้าที่สรุปและทำเรื่องเสนอเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนกับเลื่อนประชุม กับเลื่อนการพิจารณาการแต่งตั้งโจทก์ จนกระทั่งมีการประชุมครั้งต่อๆ มา ประมาณเดือน ก.ค. 56 ถึง ก.ย. 56 พวกจำเลยก็ไม่หยิบยกเรื่องของโจทก์มาพิจารณา ซ้ำยังทำเรื่องเสนอชื่อบุคคลอื่นๆ เข้ารับการสรรหาอีก โดยไม่เสนอชื่อโจทก์ตามระเบียบ เป็นเวลานานถึง 6 เดือนเศษ จากนั้น ได้มีเหตุการณ์ ปลอมปนยา แล้วจำเลยที่ 8 ได้เสนอชื่อบุคคล (ขอสงวนชื่อ) เป็นนักบริหาร 10 ซ้ำพวกจำเลยได้ยกเลิกกระบวนการสรรหาตำแหน่งที่ค้างอยู่ทุกตำแหน่ง การกระทำต่างๆ ของจำเลย ทำให้โจทก์เสียหายและเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลที่ได้รับการสรรหา ซึ่งก่อนหน้านี้โจทก์ได้ฟ้ององค์การเภสัชกรรม ต่อศาลแรงงานกลาง ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาไปแล้วว่า การกระทำของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงได้ให้เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งผู้บริหาร 10 ไปแล้ว และให้ใช้ค่าสินไหมฯ ทดแทน แก่โจทก์ 800,000 บาท ดั้งนั้น คดีนี้จำเลยจึงมีเจตนาทุจริต เพื่อให้เกิดการเสียหายต่อโจทก์ ศาลรับฟ้องเพื่อไต่สวนมูลฟ้องต่อไป.