รบไม่เลิก-ประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด แห่งซีเรีย ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเอพีที่ทำเนียบประธานาธิบดีในกรุงดามัสกัส เมื่อ 21ก.ย. กล่าวโทษสหรัฐอเมริกาว่าทำให้ข้อตกลงหยุดยิงล่มสลาย (เอพี)

ห้วงเพลานี้ “อะเลปโป” เมืองใหญ่ที่สุดของซีเรีย กลายเป็นสมรภูมินรกนองเลือดที่สุดตั้งแต่สงครามกลางเมืองปะทุขึ้นเมื่อต้นปี 2554 ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 300,000 คน

ศึกชิงอะเลปโปรอบใหม่ปะทุหนักหลังข้อตกลงหยุดยิงล่าสุดซึ่ง “สหรัฐอเมริกา” และ “รัสเซีย” จัดทำขึ้นล่มไม่เป็นท่า ไม่ถึง 1 สัปดาห์หลังมีผลบังคับเมื่อ 12 ก.ย. และกำหนดให้หยุดยิงทั่วประเทศ 2 สัปดาห์ เพื่อเปิดทางให้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปให้พลเรือนที่ติดค้างอยู่ในเขตสู้รบ โดยเฉพาะที่อะเลปโปกว่า 300,000คน

ข้อตกลงหยุดยิงยังมีเป้าหมายแยกกบฏสายกลางออกจากกลุ่มผู้ก่อการร้าย คือกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส) กลุ่มจาบัต ฟาตาห์ อัล-ชาม หรือชื่อเดิมว่า “แนวร่วมอัล-นุสรา” อดีตสาขาของเครือข่าย “อัล เคดา” เพื่อให้การกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายสะดวกขึ้น

หลังข้อตกลงหยุดยิงล่ม ทั้งฝ่ายสหรัฐฯและพันธมิตร ซึ่งหนุน หลังกบฏหลายกลุ่ม และฝ่ายรัฐบาลซีเรียกับรัสเซีย ซึ่งเข้าไปช่วยค้ำจุนอำนาจประธานาธิบดีบาชาร์ อัล-อัสซาด ตั้งแต่เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว โดยมี “อิหร่าน” กับกลุ่ม “ฮิซบุลเลาะฮ์” จากเลบานอนสนับสนุน ก็เปิดฉากรุกภาคพื้นดินและโจมตีทางอากาศถล่มฝ่ายตรงข้ามอย่างหนักเพื่อชิงรุกยึดพื้นที่จนเมืองนี้ยิ่งย่อยยับ มีผู้บาดเจ็บล้มตายอีกมากมาย

...

เมืองอะเลปโป ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ถูกแบ่งแยกเป็นส่วนๆ ตั้งแต่กลางปี 2555 โดยฝ่ายกบฏยึดครองด้านตะวันออก ซึ่งกบฏกลุ่มหลักๆ คือกองทัพซีเรียเสรี, กลุ่มอนุรักษนิยมสุดโต่ง อาห์ราร์ อัล-ชาร์ม, กองพลน้อยนูร์ เอล-ดิน เซงกี กองพลน้อยทอว์ฮิด และกลุ่มจาบัต ฟาตาห์ อัล-ชามหรืออัล-นุสรา เดิม

ส่วนฝ่ายรัฐบาลยึดครองพื้นที่ด้านตะวันตก รวมทั้งสนามบินนานาชาติและฐานทัพอากาศไนแรบ ด้านตอนเหนือติดพรมแดนตุรกีถูกยึดครองโดยกลุ่มกบฏชาวเคิร์ด “วายพีจี” ขณะที่กลุ่มไอเอสเคยยึดครองหลายพื้นที่ในอะเลปโป แต่ถูกฝ่ายกบฏโจมตีขับไล่ถอยร่นตั้งแต่ต้นปี 2557

เมื่อข้อตกลงหยุดยิงล่ม ทั้งสองฝ่ายต่างชี้นิ้วกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าเป็นต้นเหตุ แต่นักวิเคราะห์ชี้ตั้งแต่แรกแล้วว่าข้อตกลงนี้ไปไม่รอดแน่ เพราะต่างฝ่ายไม่จริงใจ ใช้การเมืองการทูตเตะถ่วงเวลาเพื่อรวบรวมกำลังพลใหม่ขยี้ฝ่ายตรงข้าม หวังยึดเมืองนี้ให้ได้ เพราะอะเลปโปมีความสำคัญยิ่งทั้งเชิงยุทธศาสตร์และสัญลักษณ์

ฝ่ายกบฏเห็นว่า อะเลปโปคือ “เมืองหลวง” และเป็นเมืองเดียวที่ยังเป็นฐานที่มั่นหลักของตนอยู่ นอกเหนือจากเมือง “อิดลิบ” ส่วนอัล-อัสซาดเห็นว่า ถ้ายังยึดอะเลปโปไม่ได้ ตนจะมีฐานะเป็นประธานาธิบดีแค่ครึ่งเดียว ขณะที่รัฐบาลยึดเมืองสำคัญส่วนใหญ่ไว้ได้ ทั้งกรุงดามัสกัส เมืองฮามาและเมืองฮอมส์ ทางภาคกลาง

ด้วยเหตุที่อยู่ห่างชายแดนตุรกีแค่ 50 กม. อะเลปโปจึงเป็นเขต “สงครามตัวแทน” ระหว่างซีเรียกับตุรกีมายาวนานด้วย ซึ่งสงครามกลางเมืองครั้งนี้ ตุรกีก็หนุนหลังฝ่ายกบฏให้โค่นล้มอัล-อัสซาด และช่องทางเดียวที่จะลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ไปให้ฝ่ายกบฏที่อะเลปโปก็คือผ่านเขตฉนวนทางภาคเหนือซีเรียติดชายแดนตุรกี

อะเลปโปเคยเป็นศูนย์กลางการค้าและอุตสาหกรรม เคยเป็นชุมทางอารยธรรมเก่าแก่มานับพันปี เคยถูกยึดครองจากอาณาจักรกรีก ไบเซนไทน์ และอิสลามหลายราชวงศ์ และด้วยเหตุที่เป็นเมืองโบราณมีคนอยู่อาศัยมาต่อเนื่องยาวนานที่สุดแห่งหนึ่งของโลก “ยูเนสโก” จึงขึ้นบัญชีให้เขตเมืองเก่าของอะเลปโปเป็น “มรดกโลก” ในปี 2529

แต่น่าเศร้า สงครามกลางเมืองทำให้สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของอะเลปโปถูกทำลายย่อยยับ รวมทั้งหอคอยมัสยิดอูเมยาดสมัยศตวรรษที่ 11 ซึ่งพังถล่มในการสู้รบในปี 2555 ส่วนป้อมปราการสมัยศตวรรษที่ 13 และตลาดเก่าแก่ยุคกลาง ซึ่งมีร้านค้ากว่า 500 ร้านก็เสียหายยับเยิน ขณะที่สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่งยังถูกใช้เป็นฐานที่มั่นของฝ่ายกบฏด้วย

แม้สหรัฐฯและรัสเซียบอกว่า พร้อมรื้อฟื้นการเจรจาสันติภาพซีเรียอีก แต่ศึกชิงอะเลปโปคงยากจะยุติลงง่ายๆ จนกว่าจะรู้ดำรู้แดงโดย เฉพาะฝ่ายรัสเซียและอัล-อัสซาด เดินหน้าโจมตีทางอากาศไม่ยั้ง มุ่งมั่นจะยึดเมืองนี้ให้ได้ เพื่อจะได้มี “อำนาจต่อรอง” ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นในเวทีเจรจารอบต่อไป

ขณะนี้ ความเป็นพันธมิตรระหว่างรัสเซียกับอัล-อัสซาด ยิ่งทวีความเข้มแข็ง เนื่องจากทั้งสองฝ่ายรู้ดีว่าขาดซึ่งกันและกันไม่ได้ เพราะมีผลประโยชน์ยิ่งใหญ่ร่วมกัน นั่นคือถ้าไม่มีรัสเซีย อัล-อัสซาดก็อยู่ไม่ได้ ส่วนรัสเซียก็รู้ดีว่า ถ้าอัล-อัสซาดถูกโค่นล้ม รัสเซียก็จะถูกขับไล่ อิทธิพลที่แฝงฝังอยู่ในตะวันออกกลางจะไม่เหลือหลอ

และ “อะเลปโป” คือหมากสำคัญที่จะแพ้ไม่ได้ แม้ต้องแลกกับความย่อยยับและชีวิตประชาชนผู้บริสุทธิ์มากมายปานใดก็ตาม!

บวร โทศรีแก้ว