กรมชลประทาน เตือน 7 จว.ภาคกลาง ลุ่มน้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก รับมือน้ำเอ่อล้นตลิ่งอีกระลอก เหตุฝนตกหนักและน้ำเหนือไหลหลาก คาดระดับน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจะสูงขึ้นอีกประมาณ 50–70 ซม. ด้าน "ฉัตรชัย" ยันน้ำไม่ท่วม กทม.เหมือนปี 54 แน่...

เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 59 นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จำนวน 1,788 ลบ.ม.ต่อวินาที และแม่น้ำสะแกกรัง 292 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 1,800 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่จากการคาดการณ์สภาวะฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) ในวันที่ 28 ก.ย.–2 ต.ค. 59 ความกดอากาศต่ำจะเคลื่อนตัวขึ้นไปบริเวณภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ทำให้เกิดฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบนใกล้เคียงกับสัปดาห์ที่ผ่านมา

กรมชลประทาน ได้ประเมินสถานการณ์น้ำที่จะเกิดจากปริมาณฝนตกตามที่ทั้ง 2 หน่วยงานได้คาดการณ์ไว้ว่า ที่สถานี C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะสูงสุดประมาณ 2,155 ลบ.ม.ต่อวินาที เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ที่คาดว่าจะมีปริมาณน้ำสูงสุดประมาณ 400 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้มีปริมาณน้ำไหลสู่เขื่อนเจ้าพระยารวมประมาณ 2,555 ลบ.ม.ต่อวินาที ในวันที่ 6 ต.ค. 59 ในระหว่างนี้จึงจำเป็นต้องทยอยเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 2,000 ลบ.ม.ต่อวินาทีเป็นลำดับ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แล้ว ทั้งนี้จะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเจ้าพระยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีกประมาณ 50–70 ซม. และยังคงต้องเฝ้าระวังหากมีฝนตกลงเพิ่มเติม จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่าเกณฑ์ดังกล่าว

...

ในส่วนของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ กรมชลประทาน ได้คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อน ในช่วงวันที่ 27 ก.ย.–11 ต.ค. 59 รวมประมาณ 600 ล้าน ลบ.ม. มีโอกาสที่น้ำจะเต็มเขื่อนป่าสักฯ ได้ในวันที่ 8 ต.ค. 59 หากยังคงการระบายที่ 20.75 ลบ.ม.ต่อวัน จึงจำเป็นต้องปรับแผนการระบายน้ำเพิ่มเป็น 40 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลมารวมกับปริมาณน้ำที่มาจากคลองชัยนาท-ป่าสัก กรมชลประทานจะควบคุมปริมาณน้ำให้ไหลผ่านเขื่อนพระรามหกในเกณฑ์ 600 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำป่าสัก ตั้งแต่ด้านท้ายเขื่อนพระรามหกลงมาไปจนถึงจุดบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1–1.50 เมตร

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และสุพรรณบุรี รวมถึงกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อแจ้งเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก นอกคันกั้นน้ำให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเอ่อล้นตลิ่งและเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไปแล้ว

ขณะที่พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่า พื้นที่ในกรุงเทพมหานคร จะไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 แน่นอน แม้ว่ากรมชลประทาน จะมีคำสั่งปรับเพิ่มการระบายน้ำในเขื่อนเจ้าพระยาเป็น 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำเหนือ เนื่องจากได้เตรียมแผนผันน้ำเข้าแก้มลิงบางระกำ และแก้มลิงต่างๆในพื้นที่ท้ายน้ำไว้แล้ว.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง