องค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยรายงานเมื่อ 27 ก.ย. ระบุชาวโลกมากถึง 92% อาศัยพำนักอยู่ในพื้นที่ระดับคุณภาพอากาศต่ำกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ถือว่าส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ พร้อมเรียกร้องประชาคมโลกหามาตรการจริงจังมากขึ้นแก้ปัญหามลพิษ ซึ่งเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยมากกว่าปีละ 6 ล้านคน มาตรการรวมถึงลดจำนวนรถยนต์และยกระดับการจัดการของเสีย
ทั้งนี้ แม้ปัญหาสภาพอากาศย่ำแย่ที่สุดมักพบในเมืองใหญ่ แต่สถานการณ์ในเขตชนบทก็ถือว่าเลวร้ายกว่าที่หลายคนคิด เนื่องจากชาวบ้านในกลุ่มชาติกำลังพัฒนา ซึ่งอยู่ในกลุ่มรายได้น้อยและปานกลาง ยังใช้การเผาถ่านเป็นเชื้อเพลิงภายในบ้าน ก่อให้เกิดอากาศพิษจากกำมะถันและก๊าซคาร์บอน ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มชาติแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แถบตะวันตกมหาสมุทรแปซิฟิก รวมถึงมาเลเซีย เวียดนามและจีน
รายงานดังกล่าวจัดทำโดยสำรวจเก็บข้อมูลจากพื้นที่ต่างๆ รวมกว่า 3,000 แห่งทั่วโลก พบว่าเกือบ 90% ของการเสียชีวิตจากสาเหตุเกี่ยวข้องมลพิษทางอากาศอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง โดยปริมาตรอากาศพิษที่อยู่ในเกณฑ์ของสหประชาชาติคือ PM 2.5 หรือค่ามลพิษมากกว่า 10 ไมโครกรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร.