"วิษณุ" แจงหลักเกณฑ์กรมบัญชีกลางสั่ง "ยิ่งลักษณ์" จ่ายค่าเจ๊งข้าว 3.5 หมื่นล้านบาท ปัดรวบรัดขั้นตอน คดีความมีอายุ 10 ปี ยังไม่ชัดนายกฯ ลงนามเอง หรือมอบอำนาจ ชี้หากถูกฟ้องล้มละลาย หมดสิทธิลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส.
เมื่อวันที่ 26 ก.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินการหลังจากคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง เรียกค่าเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าว รายงานตัวเลขสรุปเรียกค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าวว่า กระบวนการหลังจากนี้เป็นแบบเดียวกับกรณีขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ของ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ ซึ่งคณะกรรมการฯ จะต้องส่งเรื่องให้ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบ ส่วนยอดเงินเรียกค่าเสียหายจากเดิมของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการรับจำนำข้าว ที่สรุปไว้ 2.8 แสนล้านบาท เหตุใดจึงเหลือเพียง 3.5 หมื่นล้านบาท เรื่องนี้เป็นการพิจารณาของกรมบัญชีกลาง เพราะตอนพิจารณาครั้งแรกมูลค่าความเสียหายจริงที่ประเมินไว้ประมาณ 5 แสนล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนฯ ชุดที่มี นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นว่าควรมีการรับผิดทั้งหมด 4 ฤดูกาล เป็นเงินประมาณ 2.7 แสนล้านบาท แต่เมื่อคณะกรรมการพิจารณาความผิดทางแพ่งได้ให้ความเป็นธรรมว่า ความผิดที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากการทุจริต แต่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องลดลงมาเหลือ 1.7 แสนล้านบาท
"ในจำนวนเงิน 1.7 แสนล้านบาท การพิจารณาว่าใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ กรมบัญชีกลางมีหลักเกณฑ์ที่ใช้ปฏิบัติมา 4-5 ปีแล้วว่า กรณีที่เป็นความรับผิดแบบทำกันหลายคน จะต้องแบ่งสัดส่วนการรับผิด ซึ่งกำหนดไว้ประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับการละเลย ส่วนอีก 80 เปอร์เซ็นต์ก็ไปเฉลี่ยกับผู้ที่มีส่วนทำความผิด ซึ่งในครั้งนี้มีการประเมินกันว่าควรจะเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขจึงออกมาอยู่ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท จาก 1.7 แสนล้านบาท ซึ่งทั้งหมดมีหลักเกณฑ์และสามารถอธิบายได้ตามมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ซึ่งบัญญัติไว้ชัดเจนว่าไม่ให้ลูกหนี้ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งกรณีนี้ ประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องรับผิดเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกระทรวงที่รับผิดชอบ ต้องไปหาบุคคลที่จะมารับผิดร่วมเอง" นายวิษณุ กล่าว
...
เมื่อถามว่า นายกฯ จะต้องลงนามในคำสั่ง หรือมีคำสั่งด้วยตัวเองอย่างไร นายวิษณุ กล่าว ขึ้นอยู่ที่นายกรัฐมนตรี เพราะสามารถมอบอำนาจต่อไปได้ และการดำเนินการกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่องค์กรอิสระเลือกปฏิบัติ แต่เมื่อมีคนร้องก็ต้องสอบสวน ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ในการยึดทรัพย์นั้น ขอยืนยันอีกครั้งว่ารัฐบาลไม่ได้ใช้มาตรานี้ไปยึด แต่เมื่อมูลทรัพย์มีค่าจำนวนมาก กระทรวงที่รับผิดชอบไม่มีความเชี่ยวชาญในการเข้าไปยึด จะต้องให้กรมบังคับคดีไปจัดการ ซึ่งในอดีต ก่อนรัฐบาลชุดนี้ก็เคยมอบหมายให้กรมบังคับคดีไปทำลักษณะเดียวกัน โดยจะยึดทรัพย์ตามคำพิพากษาของศาล อีกทั้ง การยึดทรัพย์โดยกรมบังคับคดีจะใช้อำนาจบางอย่าง อาทิ การจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินใดๆ ก่อนหน้านี้ ถ้าเข้าข่ายลักษณะโอนหนีหนี้ กรมบังคับคดีสามารถเพิกถอนได้ แต่ถ้าเป็นการทำสัญญาซื้อขายโดยสุจริตเป็นปกติถึงเวลาที่ต้องโอนทรัพย์ ก็สามารถทำได้ ไม่ถือว่าเป็นการโอนหนีหนี้
เมื่อถามว่า ถ้าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ จะถูกฟ้องล้มละลายหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปถึงขั้นนั้น เพราะมีข้อเสียมากกว่าข้อดี และอย่าลืมว่าถ้าฟ้องล้มละลายจะไม่สามารถลงสมัคร ส.ส.ได้ และขอยืนยันว่าคดีดังกล่าวไม่มีการลัดขั้นตอน ทุกอย่างเดินไปตามขั้นตอนหรือเพิ่มด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม อายุความในการยึดทรัพย์ผู้กระทำความผิดมีอายุความถึง 10 ปี หลังจากที่ศาลมีคำพิพากษาตัดสินออกมา.