"สามารถ" โพสต์ FB ระบุ รถไฟฟ้าสายสีม่วงอาการหนัก ยังขาดทุนต่อเนื่อง แม้ปรับลดราคาหวังดึงผู้โดยสาร จี้ ม.นเรศวร ชี้แจงหลังทำวิจัยพลาด

เมื่อวันที่ 9 ก.ย.59 นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวในหัวข้อ "รถไฟฟ้าสีม่วงอาการหนัก ผู้โดยสารเมิน-ขาดทุนเพิ่ม" ว่า ก่อนที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงลงมาจาก 14-42 บาท เป็น 14-29 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2559 เป็นต้นมา ผมได้คาดการณ์ว่า จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นราว 10% เท่านั้น จะไม่เพิ่มถึง 30% ตามที่ประธานกรรมการ รฟม.คาดไว้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีผู้โดยสารเพิ่มเพียง 8% หรือ 1,600 คนต่อวันเท่านั้น จากประมาณ 20,000 คนต่อวัน ทำให้ รฟม.ขาดทุนเพิ่มขึ้น คือ เดิมก่อนปรับลดค่าโดยสาร รฟม.มีรายได้จากค่าโดยสารวันละประมาณ 600,000 บาท ในขณะที่ รฟม.ต้องจ่ายค่าจ้างให้บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม เดินรถและบำรุงรักษาวันละประมาณ 3.6 ล้านบาท ในปีแรกที่เปิดให้บริการ ทำให้ รฟม.ขาดทุนวันละ 3 ล้านบาท แฉ ขาดทุนเพิ่มอีกวันละ 3.48 ล้านบาท

นายสามารถ ระบุต่อว่า หลังได้ปรับลดค่าโดยสารลงแล้ว รฟม.มีรายได้ลดลงเหลือ เฉลี่ยวันละประมาณ 520,000 บาท หรือลดลงจากเดิม 13% ทำให้ รฟม.ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 3.08 ล้านบาท หากรวมค่าจ้างที่ รฟม.ต้องจ้างองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ให้บริการขนผู้โดยสารระหว่างสถานีเตาปูนกับสถานีบางซื่อ และต้องจ้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขนผู้โดยสารระหว่างสถานีบางซ่อนกับสถานีบางซื่ออีกวันละ 400,000 บาทด้วย จะทำให้ รฟม.ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 3.48 ล้านบาท ถึงเวลานี้ รฟม.จำเป็นต้องทำทุกทางเพื่อลดยอดขาดทุนลงให้ได้ ซึ่งผมมั่นใจว่า รฟม.จะสามารถทำได้และเห็นใจ รฟม. เพราะไม่ได้เป็นผู้กำหนดเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วงขึ้นมาเอง แต่เส้นทางรถไฟฟ้าในแผนแม่บททั้งหมดเป็นการศึกษาและบูรณาการโดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) บี้ผู้บริหาร สนข.-ม.นเรศวร แจงสังคม คาดการณ์ผิด

...

นายสามารถ ระบุต่อว่า ในกรณีของรถไฟฟ้าสายสีม่วงนั้น เดิมมีการศึกษาความเป็นไปได้พบว่าจะมีผู้โดยสารวันละประมาณ 220,000 คน ในปี พ.ศ.2559 และจะเพิ่มเป็นวันละประมาณ 239,000 คน และ 369,000 คน ในปี พ.ศ.2562 และ พ.ศ.2572 ตามลำดับ ส่งผลให้มีการตัดสินใจก่อสร้างรถไฟฟ้าสายนี้ เพราะมีผู้โดยสารมากพอ โดยก่อนเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายนี้ รฟม.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยนเรศวรทำการศึกษาทบทวนอีกครั้งภายใต้โครงการ “จ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำอัตราค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ” ด้วยค่าจ้าง 4,272,000 บาท ให้เวลาศึกษา 90 วัน เพราะกังวลเรื่องจำนวนผู้โดยสาร และยังไม่มีการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจากสถานีเตาปูนไปสถานีบางซื่อ ผลการศึกษาโดยมหาวิทยาลัยนเรศวรพบว่า จะมีผู้โดยสารวันละประมาณ 73,000 คน ในปี พ.ศ.2559 และจะเพิ่มขึ้นเป็นวันละประมาณ 80,000 คน และ 153,000 คน ในปี พ.ศ.2560 และ พ.ศ.2561 ตามลำดับ เมื่อความเป็นจริงปรากฏว่า มีผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ผู้บริหารของ สนข. และมหาวิทยาลัยนเรศวรจะนิ่งเฉยได้อย่างไร ออกมาชี้แจงด้วย.