ช่วงนี้ผมได้คุยกับคนหลายคนตามงานต่างๆ หรือไม่ก็ส่งข้อความมาคุยกันที่หลังไมค์เกี่ยวกับปัญหาในองค์กรที่มาจากเรื่องของการ “เปลี่ยนแปลง”

จะว่าไปแล้ว เรื่องของการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวขององค์กรเพื่อรับกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันรวมทั้งโลกดิจิทัลที่เข้ามาพลิกตลาดก็เป็นประเด็นใหญ่กันพอสมควรจนเหล่าผู้บริหารมากมายก็ออกมาพูดกันเต็มหน้าสื่อว่าถึงเวลา “เปลี่ยนแปลง” กันแล้ว (ส่วนจะใช้ศัพท์หรูอะไรนั้นก็แล้วแต่จะสรรหามากันน่ะนะ)

แต่ที่น่าตลกคือพอผมไปถามพนักงานของบริษัทเหล่านั้นแล้ว เกือบทั้งหมดก็ให้คำตอบว่า “ไม่เห็นเปลี่ยนแปลงตรงไหน” แถมเผลอๆ ก็แย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาแบบนั้น? บทความวันนี้ผมเลยขอหยิบเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแต่เหล่าผู้บริหารเขาไม่ค่อยพูดกันมาเล่าสู่กันฟังนะครับ

1. พูดไปแล้วก็ไม่เห็นจะทำ

เรื่องที่ผมมักจะได้ยินมาแทบจะทุกที่คือ ทุกๆ ปีบริษัทก็จะมีการประกาศ “แนวทางใหม่” พร้อมกับคำพูดที่ใช้ประจำว่า “เราจะเปลี่ยนแปลงกันแล้ว” (เชื่อผมเหอะ ได้ยินกันทุกบริษัท) แต่ถ้าเราไปถามกันจริงๆ ว่ามีกี่บริษัทที่ได้เปลี่ยนกันจริงๆ ก็จะพบว่าน้อยถึงน้อยมาก ทั้งนี้เพราะพอทำงานกันจริงๆ แล้วกลายเป็นว่านโยบายหรือวิสัยทัศน์ที่ดูดีนั้นไม่ได้ถูกนำมาใช้งานจริง พอเป็นระบบปฏิบัติงานก็ยังทำงานด้วยกฎและนโยบายเดิมๆ วิธีการเดิมๆ ซึ่งก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิมมาตลอด สุดท้ายพนักงานก็ไม่ได้รู้สึกอะไรกับการบอกว่า​จะ “เปลี่ยนแปลง” อีกต่อไป

2. คนไม่ยอมเปลี่ยนเพราะไม่ยอมเสียประโยชน์ของตัวเอง

เวลาที่เราพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงนั้น แน่นอนว่ามันย่อมหมายถึงการทำอะไรที่ไม่เหมือนเดิม และพอเป็นอะไรที่ไม่เหมือนเดิมก็ย่อมหมายความว่าผลประโยชน์หรือความสะดวกสบายต่างๆ ที่เคยมีกับคนก่อนๆ ก็จะต้องไม่เหมือนเดิม นั่นเป็นเหตุให้หลายๆ คนในองค์กรมักจะต่อต้านการเปลี่ยนแปลง พยายามหาเหตุผลมากมายมาบอกว่าที่ทำอยู่นั้นดีอยู่แล้ว จะทำเพิ่มทำไม ซึ่งคนเหล่านี้มักจะโดนคนอื่นๆ บ่นทำนองว่าหัวโบราณ ยึดติด แต่ที่น่าตลกคือคนเหล่านี้มักเป็นผู้บริหาร หัวหน้างานเสียอย่างนั้น

...

3. เราอยากมีการเปลี่ยนแปลง แต่ต้องไม่เกิดขึ้นจากตัวเรา

ผมเชื่อว่าเวลาเดินไปถามใครๆ ในบริษัทนั้น เราก็จะได้ยินคำตอบเหมือนกันหมดแหละว่าเราต้องการการเปลี่ยนแปลง บริษัทต้องทำอะไรที่ไม่เหมือนเดิม เราต้องเริ่มทำอะไรใหม่ๆ แต่พอผมถามต่อว่าแล้วแต่ละคนได้ทำอะไรใหม่ๆ หรือยัง มีน้อยคนมากที่จะตอบว่าตัวเองได้เริ่มทำอะไร ซึ่งมันก็ไม่แปลกอะไรหรอกครับเพราะคนจำนวนมากก็ทำสิ่งที่คล้ายๆ กันคือ การรอคอยการเปลี่ยนแปลงที่คนอื่นสร้างแทนที่จะขอร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงนั้น ผลสุดท้ายคือในบริษัทต่างๆ ก็ไม่ได้ทำอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาหรอกเพราะต่างก็รอกันไปรอกันมา บ้างก็โบ้ยให้อีกฝ่ายรับผิดชอบไปเสียนั่นแหละ

4. เราขี้เกียจและปฏิเสธจะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ

การเปลี่ยนแปลงก็บอกอยู่แล้วว่ามันไม่เหมือนเดิม มันต้องทำอะไรที่ต่างไปจากเดิมซึ่งนั่นทำให้เราต้องเรียนรู้และทำอะไรใหม่ๆ หลายอย่างจำเป็นที่เราต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับเรื่องใหม่ๆ ที่เราไม่ได้ถนัด ต้องออกจาก Comfort Zone กันจริงๆ (นี่ก็เป็นอีกหนึ่งคำพูดที่ผมได้ยินบ่อยมากๆ แต่ไม่เห็นใครจะออกจริงๆ สักที) ซึ่งพอเป็นแบบนั้นแล้วหลายๆ คนก็ถอยหลัง ไม่เอาแล้ว ตัวผมเองได้รับการเชิญไปบรรยายเรื่อง Digital Marketing มาไม่น้อย และสิ่งที่ผมมักเจอคือพนักงานหลายคนมาฟัง “เป็นพิธี” ประหนึ่งเช็กชื่อเข้าเรียนทั้งที่เรื่องที่กำลังคุยกันนั้นเป็นอนาคตที่สำคัญกับการทำงานเลยก็ว่าได้ ซึ่งพอสุดท้ายผมก็ไม่แน่ใจนักว่าพวกเขาจะได้อะไรไปจริงๆ ขนาดไหนกัน

การเปลี่ยนแปลงขององค์กรต่างๆ ในวันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญมากๆ แต่ที่น่าตลกปนเศร้าใจคือมีองค์กรจำนวนน้อยมากที่สามารถทำได้จริง จากประสบการณ์ของผมแล้วนั้น การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องของทุนและเครื่องมืออะไรเป็นสำคัญ หากแต่ “คน” นี่แหละที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง

และความน่ากลัวคือ ถ้าการเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้นแล้ว ทั้งองค์กรและคนในองค์กรเนี่ยแหละ ที่จะต้องพบกับปัญหาใหญ่ในอนาคตอันใกล้นี้แหละนะ

Facebook : Nuttaputch