วันเสาร์สบายๆวันนี้ไปคุยเรื่องเกมล่ายอดฮิต “โปเกมอน โก” อีกสักวันนะครับ วันก่อนผมเขียนไปว่า “โปเกมอน โก ป่วนโลก” วันนี้ก็ยังป่วนโลกไม่เลิก จนหลายเมืองในสหรัฐฯและยุโรปต้องสั่งห้ามเล่นในบางสถานที่ แต่อีกหนึ่งเดือนข้างหน้า คุณศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และซีอีโอ ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ค่ายทรู จะเปิดตัว ซิมโปเกมอน โก เวอร์ชั่นประเทศไทย ให้คนไทยได้เล่นกันแล้ว
ไม่น่าเชื่อว่าเกม โปเกมอน โก จะส่งผลให้ชีวิตคนจำนวนมากเกิดการเปลี่ยนแปลง
ผมเพิ่งอ่านบทความล่าสุดของ คุณณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ลูกชายคนโตของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่กลายเป็นคอลัมนิสต์ไปแล้ว ได้เขียนถึง มุมมองในแง่เศรษฐศาสตร์ ต่อ ปรากฏการณ์โปเกมอน โก ว่า เป็น “โปเกนอมิกส์” หรือ “เศรษฐกิจโปเกมอน” ไปแล้ว ล่าสุดมีผู้เล่นที่เล่นทุกวันเกือบ 25 ล้านคน ใช้เวลาในการเล่นเฉลี่ยกว่า 43 นาทีต่อวัน (ตัวเลขนี้เป็นข้อมูลเมื่อสองสัปดาห์ก่อน วันนี้คงมากกว่านี้เยอะ) ทิ้งห่าง อินสตาแกรม ที่ใช้เวลาเล่นเฉลี่ย 25 นาทีต่อวัน
เกม โปเกมอน โก ได้ก่อให้เกิด เศรษฐกิจโปเกมอน หรือPokemon Economy ซึ่งอยู่ระหว่าง เศรษฐกิจจริง กับ โลกออนไลน์ในโทรศัพท์มือถือของเรา ไปเรียบร้อยแล้ว เศรษฐกิจโปเกมอน ไม่ได้หมายถึง เศรษฐกิจเกม เช่น การจ้างเก็บเลเวล การขายไอเท็ม
แต่ เศรษฐกิจโปเกมอน ขยายเป็นวงกว้างกว่านั้นมาก อธิบายง่ายๆ ก็คือ เกมโปเกมอน โก ได้กลายเป็นสิ่งวิเศษที่สามารถ “บังคับ” ให้คนจำนวนมหาศาลออกจากบ้านได้ และอาจถูกเปลี่ยนสถานะไปเป็น
“ผู้บริโภค” ได้อย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน Traffic นี้นับว่าเป็นของขวัญชิ้นโตสำหรับธุรกิจเล็กใหญ่ที่ต้องการเพิ่มยอดขาย
...
ร้านอาหารที่ตั้งอยู่ใกล้ PokeStop (ส่วนมากเป็นสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์) เริ่มแข่งกันสร้างโปรโมชั่นพิเศษ เพื่อล่าผู้เล่นโปเกมอน ตัวอย่างเช่นร้านพิซซ่าแห่งหนึ่งซื้อ Lure Module เพื่อล่าให้โปเกมอนออกมาสุงสิงแถวร้านของเขา พบว่าจ่ายไปแค่ 10 ดอลลาร์ แต่สามารถเพิ่มยอดขายได้กว่า 75% เป็นการลงทุนทำโปรโมชั่นที่คุ้มค่ามากๆ
เกม โปเกมอน โก ยังแพร่อิทธิพลไปสู่ Sharing Economy ด้วยเช่น คนขับรถอูเบอร์หลายต่อหลายคนได้เปิดบริการใหม่ รับจ้างขับรถช่วยล่าโปเกมอนในเมือง เพื่อดึงดูดลูกค้าที่ไม่อยากเดินร้อนหรือเสี่ยงขับรถเอง คิดชั่วโมงละ 25 เหรียญ
บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง แมคโดนัลด์ญี่ปุ่น ก็ได้เซ็นสัญญากับผู้สร้างโปเกมอน โก ไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อทำให้ร้านแมคโดนัลด์กว่า 3 พันสาขากลายเป็นยิม หรือบริษัทออนไลน์อย่าง Yelp ที่ไม่มีหน้าร้าน ก็แข่งโดยการติดตั้งฟิลเตอร์โปเกมอนใหม่ เพื่อให้ผู้ใช้งานทราบว่ามี PokeStop อยู่ใกล้ร้านอาหารหรือไม่ ซึ่งทฤษฎีเศรษฐศาสตร์พื้นฐานบอกว่า ถ้าเรากำลังเลือกร้านอาหารที่ราคาและความอร่อยพอกัน ร้านหนึ่งมีโปเกมอนให้จับ อีกร้านไม่มี ก็ต้องเลือกร้านที่มีโปเกมอนให้จับ
อ่านแล้วก็เห็นภาพชัดเจน เศรษฐกิจโปเกมอน ที่มีพลังวิเศษ ดึงดูดคนเป็นแสนเป็นล้านคนออกจากบ้าน เพื่อไปไล่จับตัวโปเกมอน ซึ่งจะก่อให้เกิดกำลังซื้อนอกบ้านมหาศาลเช่นเดียวกัน และกลายเป็น ธุรกิจที่ทำกำไรมหาศาลให้กับ ไนแอนติด ผู้สร้างสรรค์เกมโปเกมอนโก ขึ้นมา ต่อไปจะมี ร้านค้ามากมาย รวมทั้ง ห้างสรรพสินค้า ซื้อตัวโปเกมอนไปปล่อยให้ลูกค้าไล่จับในห้างและในร้านเช่นเดียวกับแมคโดนัลด์ ไม่แน่ว่าอาจจะช่วยฟื้นกำลังซื้อที่อ่อนแอของโลกขึ้นมาได้
วันนี้ในเมืองไทยก็มีให้เห็นแล้ว ผู้คนมากมายที่ไปไล่จับโปเกมอน ที่สยามพารากอน
เกมโปเกมอน โก เป็นเกมที่ บังคับให้ผู้ไล่จับต้องเดินหรือเคลื่อนที่ ถ้าขยันเดินก็เป็นการออกกำลังกายไปในตัว ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งยานพาหนะ และเป็นเกมที่เล่นฟรีก็ได้ เป็นความบันเทิงราคาถูกที่ช่วยให้ ผู้คนมีชีวิตชีวาขึ้น มีความสุขยิ้มได้ เมื่อสามารถจับตัวโปเกมอนที่มีอยู่กว่า 150 ตัวได้ ขอเพียงอย่าไปเดินจับตามถนนก็แล้วกัน เพราะไม่ ปลอดภัยแน่นอน.
“ลม เปลี่ยนทิศ”